กลุ่มแบงก์ไตรมาส 3 กำไรรวมวูบ 44.85% หรือเหลือเพียง 29,688 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน เพราะแบงก์แต่ละแห่งช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ขณะบางรายปิดกิจการไม่สามารถชำระหนี้คืนธนาคารได้ ส่งผลให้แบงก์พาเหรดกันสำรอง-เน้นคุมคุณภาพหนี้ หวั่นแนวโน้มตัวเลขเอ็นพีแอลเพิ่ม หลังสิ้นสุดโครงการพักชำระหนี้และดอกเบี้ย แนวโน้ม Q4 คุณภาพหนี้กดดันหนัก คาดธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะเร่งจัดการปัญหาหนี้เสียในเชิงรุกมากขึ้น ด้วยการตัดขายหนี้ด้อยคุณภาพและเร่งปรับโครงสร้างหนี้
แม้ว่าหลายๆ สำนักจะประเมินกันแล้วว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในไตรมาสที่ 2 แต่ในมุมของธนาคารพาณิชย์นั้นอาจไม่ใช่ เพราะในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ได้รับดำเนินการตามมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการช่วยเหลือลูกหนี้ตามโครงการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยที่ทยอยหมดลงหลังจากเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อคุณภาพหนี้ ฐานะการสำรอง จนไปถึงผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ และส่วนหนึ่งได้สะท้อนมาที่ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3
กำไรรวมวูบ 44.85%
ภาพรวมกำไรไตรมาส 3 ปี 2563 ธนาคารพาณิชย์ไทย 10 แห่ง มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 29,688 ล้านบาท ลดลง 44.85% โดยธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 24,507 ล้านบาท ลดลง 22,598 ล้านบาท คิดเป็น 47.97% นำโดยธนาคารไทยพาณิชย์ มีกำไรลดลงในสัดส่วนสูงสุดที่ 68.64% และธนาคารกรุงเทพ -57.44% ธนาคารกรุงไทย -51.89% ธนาคารกสิกรไทย -32.89% และธนาคารกรุงศรีอยุธยา -6.86% ตามลำดับ
ส่วนธนาคารที่เหลืออีก 5 แห่งมีกำไรสุทธิรวม 5,181 ล้านบาท ลดลง 1,545 ล้านบาท คิดเป็น -22.97% นำโดยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย มีกำไรลดลงในสัดส่วนสูงสุดที่ -77% และธนาคารแอลเอชแบงก์ -31.18% ธนาคารทหารไทย -23.3% ธนาคารเกียรตินาคินภัทร -16.34% และธนาคารทิสโก้ -14.22% ตามลำดับ
สำหรับรอบ 9 เดือนปี 2563 ธนาคารพาณิชย์ไทย 10 แห่ง มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 106,836 ล้านบาท ลดลง 33% โดยธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 86,198 ล้านบาท ลดลง 54,607 ล้านบาท คิดเป็น 38.78% นำโดยธนาคารกรุงเทพ มีกำไรลดลงใน สัดส่วนสูงสุดที่ 46.85% และธนาคารกสิกรไทย -45.77% ธนาคารกรุงไทย -39.16% ธนาคารไทยพาณิชย์ -36.30% และธนาคารกรุงศรีอยุธยา -25.30% ตามลำดับ
ส่วนธนาคารที่เหลืออีก 5 แห่งมีกำไรสุทธิรวม 20,638 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1979 ล้านบาท คิดเป็น 10.60% นำโดยธนาคารทหารไทย มีสัดส่วนกำไรเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 58.32% และธนาคารซีไอเอ็มบีไทยเพิ่มขิ้น 46.26% ธนาคารเกียรตินาคินภัทร -6.82% ธนาคารทิสโก้ -18.09% และธนาคารแอลเอชแบงก์ -20.69% ตามลำดับ
แห่กันสำรอง-เน้นคุมคุณภาพหนี้
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า แม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นสัญญาณการเริ่มฟื้นตัว แต่ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงมีความไม่แน่นอนและมีความแตกต่างในแต่ละภาคส่วน ตั้งแต่การเริ่มระบาดของโควิด-19 ธนาคารได้ให้การช่วยเหลือลูกค้าแล้วกว่า 1.1 ล้านราย คิดเป็นยอดสินเชื่อภายใต้โครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน รวมประมาณ 840,000 ล้านบาท โดยในไตรมาส 3 ลูกค้าส่วนใหญ่ของธนาคารสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติภายหลังสิ้นสุดระยะเวลาโครงการ และสำหรับลูกค้าที่ยังได้รับผลกระทบอยู่ ธนาคารยังคงให้การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยให้ลูกค้าผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนนี้
ทั้งนี้ การลดลงของกำไรสุทธิธนาคารเป็นผลจากการตั้งเงินสำรองปกติที่สูงขึ้นในไตรมาสนี้ และการเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายการกำไรพิเศษครั้งเดียวจากการขายหุ้นในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิต
น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ในรอบ 9 เดือนการลดลงของผลการดำเนินงานส่วนใหญ่เกิดจากการที่ธนาคารใช้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องในการพิจารณาสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 17,692 ล้านบาท หรือ 70.24% โดยการคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบจากความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ประกอบกับมาตรการของทางการที่ให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ทำให้ยังคงต้องมีการติดตามดูแลคุณภาพหนี้อย่างใกล้ชิด
แต่อย่างไรก็ตาม ในงวดไตรมาส 3 ธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ลดลงจำนวน 9,377 ล้านบาท หรือ 46.44% หลักๆ เกิดจากในไตรมาสก่อนได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss) ในระดับที่สูง จากการประเมินและเตรียมความพร้อมตามหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รวมถึงมาตรการของทางการที่ให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า จากการพิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบ ประมาณการภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างรุนแรงและมีความไม่แน่นอน ที่อาจส่งผลต่อคุณภาพสินเชื่อ โดยในไตรมาสที่ 3 ธนาคารได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จำนวน 12,414 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 103.6% เมื่อเทียบกับการตั้งสำรองในไตรมาสเดียวกันของปี 2562 โดยรอบ 9 เดือนธนาคารได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จำนวน 35,649 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 87.7% จากค่าใช้จ่ายสำรองในช่วงเดียวกันของปี 2562
นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า คาดว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง และมาตรการทางการคลังของรัฐบาล รวมถึงมาตรการทางการเงินและสินเชื่อ จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 อย่างไรก็ตาม ความเปราะบางทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับสูงจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นทั่วโลก ซึ่งอาจจะนำไปสู่การหวนกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง รวมทั้งความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลงของภาคธุรกิจในประเทศและภาคครัวเรือน ท่ามกลางการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่อ่อนแอ
ทั้งนี้ กรุงศรีฯ ยังคงให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจผ่านมาตรการด้านสินเชื่อและการปรับโครงสร้างหนี้ ตลอดจนการสนับสนุนด้านสภาพคล่อง นอกจากนี้ ธนาคารจะดำเนินการติดตามและจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างรอบคอบระมัดระวัง เพื่อความแข็งแกร่งของพอร์ตสินเชื่อของธนาคาร และมุ่งเน้นการกำกับดูแลด้วยความเข้มงวด เพื่อให้เชื่อมั่นว่าธนาคารมีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองในระดับสูงและเพียงพอที่จะรองรับกับความท้าทายทางการเงินและเศรษฐกิจ
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) ระบุว่า กำไรสุทธิที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักเนื่องจากการตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นเงินสำรองสำหรับความไม่แน่นอนจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลกระทบของสถานการณ์ โควิด-19 ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง พร้อมกันนั้น ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจที่หดตัวทั่วโลก ธนาคารกรุงเทพ ยังคงยึดมั่นแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ ควบคู่กับการดำรงฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินที่ยั่งยืน และเตรียมพร้อมการรองรับการดำเนินธุรกิจตามบริบทใหม่
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) กล่าวว่า ในไตรมาส 3 ภาพรวมการดำเนินงานยังคงเผชิญแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์โควิด-19 อย่างไรก็ดี การทยอยรับรู้ผลประโยชน์จากการรวมกิจการถือเป็นปัจจัยหนุนในช่วงเวลาที่ท้าทายเช่นนี้ โดยภายหลังการรวมกิจการ ทั้งทีเอ็มบีและธนาคารธนชาตได้ดำเนินการปรับโครงสร้างเงินฝากและสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดผลประโยชน์ด้านงบดุล ซึ่งช่วยให้ธนาคารสามารถบริหารต้นทุนทางการเงินและอัตราผลตอบแทนได้ดีขึ้น
สำหรับสินเชื่อที่อยู่ภายใต้โปรแกรมพักชำระหนี้นั้น ในส่วนของสินเชื่อลูกค้ารายย่อยกลุ่มแรกๆ ได้เริ่มทยอยครบกำหนดไปบ้างแล้ว และส่วนใหญ่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ดังนั้น ในไตรมาส 3 จึงเห็นสัดส่วนสินเชื่อภายใต้โปรแกรมพักชำระหนี้ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 20% ของสินเชื่อรวม เทียบกับ 40% ณ ไตรมาส 2 ขณะที่ลูกค้าธุรกิจรวมถึงเอสเอ็มอีนั้นจะเริ่มครบกำหนดปลายเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งก็จะส่งผลให้สัดส่วนสินเชื่อที่อยู่ภายใต้โปรแกรมพักชำระหนี้ทยอยลดลงเป็นลำดับในไตรมาสถัดไป
อย่างไรก็ดี ธนาคารตระหนักดีว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงต่อไปยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงมีแผนตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อเสริมกันชนในการรองรับความเสี่ยงให้มากยิ่งขึ้นไปอีก โดยในไตรมาส 3 ได้ตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นเป็น 6,863 ล้านบาท เทียบกับ 4,972 ล้านบาทในไตรมาส 2 ขณะที่สัดส่วนหนี้เสียทรงตัวอยู่ในระดับต่ำที่ 2.33% จาก 2.34% พร้อมกันนั้น ธนาคารก็ดำเนินการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบ โดยมีการดูแลลูกค้าทุกกลุ่มอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าปกติหรือลูกค้าที่อยู่ในโปรแกรมพักชำระหนี้ เพื่อทำความเข้าใจถึงสถานการณ์ของลูกค้า ให้ความช่วยเหลือ รวมถึงดำเนินการบริหารความเสี่ยงให้สอดคล้องกัน
นายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้มีความรุนแรง อาจต้องใช้เวลานานกว่าจะกลับมาฟื้นตัวในระดับปกติ ดังนั้น สิ่งที่ทิสโก้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ก็คือการดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังและบริหารจัดการความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพที่สุด โดยคุณภาพสินเชื่อเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังต้องติดตามดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดและให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง โดยสิ่งที่น่ากังวลจากนี้คือ การว่างงานและรายได้ที่ลดลง ที่อาจกระทบต่อกำลังการใช้จ่าย ความสามารถในการชำระหนี้ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคตให้ยากลำบากขึ้น และเพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นล่วงหน้า ในไตรมาสนี้ทิสโก้ จึงยังคงตั้งสำรองหนี้ในระดับสูงเช่นเดิม อย่างไรก็ดี ทิสโก้ยังคงดำรงอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่แข็งแกร่งที่ 22.6% พร้อมกับระดับเงินสำรองที่สูงมาโดยตลอด
หวั่นตัวเลขเอ็นพีแอลเพิ่ม
ขณะที่ ภาพรวมของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารพาณิชย์ก็ยังคงคาดการณ์ในทิศทางขาขึ้น ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ฟื้นตัวเพียงเล็กน้อย รวมถึงสถานการณ์ภายหลังสิ้นสุดโครงการพักชำระหนี้ และดอกเบี้ย แม้ธนาคารแต่ละแห่งจะยังมีการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เป็นรายกรณีตามความเหมาะสม แต่ก็ยังคงมีบางรายที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้และไม่สามารถกลับมาชำระหนี้กับธนาคารได้เช่นกัน ซึ่ง ณ สิ้นสุดไตรมาส 3 ก็ได้เริ่มเห็นการเพิ่มขึ้นของ NPL ของธนาคารพาณิชย์บางแห่ง เช่น ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 ธนาคารกสิกรไทยมี NPL gross อยู่ที่ระดับ 3.95% จากสิ้นปี 2562 อยู่ที่ระดับ 3.65% โดยธนาคารได้มีการติดตามให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งควบคุมดูแลคุณภาพสินเชื่อของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างใกล้ชิด
ธนาคารไทยพาณิชย์ มีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 อยู่ที่ 3.32% เพิ่มขึ้นจาก 3.05% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 จากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อด้อยคุณภาพตามปกติ รวมทั้งธนาคารได้ทำการประเมินคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดอย่างรอบคอบ เพื่อทำการจัดชั้นลูกหนี้เชิงคุณภาพในกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง และมีแนวโน้มสูงที่จะฟื้นตัวไม่ได้ภายใต้โครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน
ขณะที่กรุงไทยมี NPLs Ratio-Gross ที่ 4.21% ลดลงจาก 4.33% โดยธนาคารยังคงให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงเกณฑ์ของ ธปท.ในการผ่อนปรนการจัดชั้นลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการชั่วคราว
คุณภาพหนี้กดดัน Q4 เร่งตัดขาย-ปรับโครงสร้างหนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เมื่อจบไตรมาส 3 ปี 2563 สินเชื่อที่ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์จะมีสัดส่วนประมาณ 28.5% ต่อสินเชื่อรวม ลดลงเล็กน้อยจากสัดส่วนประมาณ 31.0% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 2 ปี 2563 เนื่องจากลูกหนี้บางส่วนกลับมาชำระคืนหนี้ได้ตามปกติหลังมาตรการช่วยเหลือรอบแรกทยอยสิ้นสุดลง
อย่างไรก็ดี การประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้บุคคลและลูกหนี้ธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs หลังจากมาตรการพักหนี้สิ้นสุดลง ยังคงเป็นโจทย์ที่ยากและมีความท้าทายสำหรับธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากลูกหนี้กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังมีสถานะทางการเงินที่เปราะบาง ขณะที่สัญญาณอ่อนแอทางเศรษฐกิจยังลากยาวต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้กลุ่มนี้ได้อีกในอนาคต
รวมทั้งได้ประเมินคุณภาพสินเชื่อในพอร์ตถดถอยลงตามสัญญาณอ่อนแอของเศรษฐกิจไตรมาส 3 จะขยับขึ้นไปที่กรอบประมาณ 3.25-3.35% จากระดับ 3.21% ในไตรมาส 2 เนื่องจากยังอยู่ในช่วงของมาตรการพักชำระหนี้ของภาคธุรกิจ ประกอบกับ คาดว่าธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะเร่งจัดการปัญหาหนี้เสียในเชิงรุกมากขึ้น ทั้งด้วยวิธีการตัดขายหนี้ด้อยคุณภาพ และเร่งปรับโครงสร้างหนี้