xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นมือถือฟื้นตัวไตรมาส 4 โควิด-19 ยื้อ 5G คาดคึกปีหน้า 64

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้นผู้ประกอบการคลื่นมือถือ ภาพรวมไตรมาส 3 หนีไม่พ้นผลการดำเนินงานทรุด เตรียมดีดตัวขึ้นในไตรมาสสุดท้ายจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และต้นทุนที่ลดลง ภาพรวมความได้เปรียบเสียเปรียบมีข้อจำกัด หลังทุกค่ายส่งสัญญาณรุก 5G อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะแรงกดดันจากโควิด-19 ต่อภาคการใช้จ่าย ผลบวกจาก 5G จึงน่าจะเห็นชัดครึ่งปีแรกปี 2564

แม้หลายกลุ่มธุรกิจจะได้รับผลกระทบจากกการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่หลายมุมมองเชื่อว่า กลุ่มผู้ประกอบการคลื่นโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) ยังเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจะได้รับผลกระทบน้อยและมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้น ล่าสุด บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด ประเมินแนวโน้มธุรกิจหุ้นกลุ่ม TELECOM โดยสรุปเหตุผลที่น่าสนใจว่า “ธุรกิจอยู่ที่ทางแยกอีกครั้ง” โดยคาดว่าผลประกอบการของกลุ่ม Telecom จะอ่อนแอต่อในไตรมาส 3/63 จากรายได้ของ Prepaid และ Fixed broadband ที่ ARPU ลดลงถูกกดดัน ในขณะที่ Postpaid เพิ่มขึ้นชะลอตัวลงจากไตรมาส 2/63 และการลดต้นทุนจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะของ TRUE ที่จะลดลงในช่วงไตรมาส 4/63 จะชดเชยส่วนแบ่งรายได้จาก DIF ที่ลดลง และด้านรายการพิเศษ TRUE จะมีกำไรจากการขาย DIF ราว 1 พันล้านบาท ทำให้ปรับประมาณการปีนี้ขึ้น แต่ในปีหน้าจะลดลง

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ADVANC และ TRUE ก็ได้ทยอยประกาศ Package 5G ออกมา (หลังประมูลคลื่น 5G ไปเมื่อต้นปี) โดย ADVANC ตั้งราคาของแพกเกจที่ 699 บาท สูงกว่า ARPU ของกลุ่มรายเดือนอยู่ 34% แต่จะแถมบริการความบันเทิงในแบบ AR/VR 6-12 เดือน และเกมในระบบ Cloud gaming 3 เดือน ขณะที่ TRUE ราคาแพกเกจหลักที่ 599 บาท แต่ให้ดาต้าเพียง 32GB และเน้นไปที่ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬาชั้นนำทั่วโลกเป็นตัวดึงดูดลูกค้า

โดยรวมแม้การมาของบริการ 5G จะใกล้ที่คาดไว้ แต่ด้วยแรงกดดันจากโควิด-19 ต่อภาคการใช้จ่าย ดังนั้น ผลบวกจาก 5G จึงน่าจะเลื่อนไปในครึ่งปีแรกของปี 2564 ขณะที่ DTAC น่าจะเสียลูกค้าไปบางส่วนในช่วง 1 ปีนี้ข้างหน้า อย่างไรก็ตาม จากการที่ TRUE ซึ่งเป็นผู้เล่นหลักที่กำหนดระดับการแข่งขันในตลาด สะท้อนภาพการลงทุนและการแข่งขันใน 5G จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า ทำให้ DTAC มีโอกาสฟื้นตัวเด่นขึ้นในระยะถัดไป

ด้าน บล.เคจีไอ รายงานว่า หุ้นกลุ่ม ICT ซึ่งเป็นตัวแทนหุ้น Defensive ถูกตลาดลดน้ำหนักในไตรมาส 3/63 สาเหตุหลักไม่ได้มาจากผลประกอบการที่อ่อนแอลง แต่มาจากธนาคารกลางอย่าง Fed ส่งสัญญาณเร่งเงินเฟ้อลดความน่าสนใจต่อหุ้น Defensive ที่ให้ปันผลเป็นหลักอย่างกลุ่มสื่อสาร ขณะที่หุ้นในกลุ่มอื่นๆ ที่ถูกกระทบจากโควิด-19 เช่น กลุ่มท่องเที่ยว หรือกลุ่มศูนย์การค้า ราคาหุ้นปรับลดลงแรงจากต้นปีที่ผ่านมา แต่หากมีพัฒนาการของวัคซีนปลดล็อก หุ้นมีโอกาสปรับขึ้นได้แรง ขณะที่กลุ่ม Telecom แม้ได้รับผลกระทบเช่นกันแต่ราคาหุ้นปรับลดจำกัด ทำให้ความน่าสนใจในเชิงเปรียบเทียบต่ำกว่า และหุ้นกลุ่มนี้อยู่ในช่วงการลงทุน 5G ทำให้มีแรงกดดันด้าน CAPEX อีกระยะ

ทำให้ราคาหุ้น Telecom ตอนนี้อยู่ในระดับที่น่าสนใจ ซื้อ ขาย บน EV/EBITDA ที่ -1.0 SD เทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 6 ปี ขณะที่แรงกดดันด้าน CAPEX จะลดลงตั้งแต่ปี 2564 ดังนั้น แม้ระยะสั้นตลาดให้น้ำหนักกับหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงไตรมาสสุดท้ายและไตรมมาสแรกปีหน้า แต่ภาพรวมเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่าภาวะปกติ ทำให้สุดท้ายตลาดมีโอกาสสูงที่จะกลับมาให้น้ำหนักกับหุ้น Defensive ในระยะถัดไป

TRUE ยังแกร่งแม้ตัดขาย DIF

เริ่มที่ บมจ.ทูร คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ล่าสุด บล.หยวนต้า แนะนำ "TRADING" ราคาเป้าหมาย 3.70 บาท/หุ้น โดยให้เหตุผลว่า ตลาดกังวัลกับฐานะทางการเงินที่ตึงตัวขึ้นของ TRUE หลัง Net debt to equity อยู่ที่ระดับ 2.2x เทียบกับระดับ ณ สิ้นปี 2562 ที่ 1.3x อย่างไรก็ดี TRUE ยังมีทางเลือกในการบริหารจัดการ นั่นคือ EBITDA ของ TRUE ไม่รวมผลกระทบของ TFRS16 ในไตรมาส 2/63 อยู่ที่ราว 9 พันล้านบาท หรือราว 3.6 หมื่นล้านบาทต่อปี ขณะที่ส่วนต่างระหว่าง EBITDA กับ Net Operating Cashflow ซึ่งเป็นปัจจัยที่ตลาดกังวล ลดช่วงห่างลงจาก working capital ที่ดีขึ้นเป็นลำดับ

ขณะเดียวกัน ภาระเงินสดจ่ายที่สูงในปี 2563 ของ TRUE เป็นภาวะชั่วคราว จาก Vendor Financing 4G ที่ครบกำหนดจ่าย และหลังจากปี 2563 ภาระจ่ายจะทยอยลดลง นอกจากนี้ TRUE ตั้งงบลงทุนลดลง 4-6 หมื่นล้านบาทในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า หรือ 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี เทียบกับช่วง 4 ปีหลังสุดที่ TRUE ลงทุนทั้งคลื่นและโครงข่ายระดับ 3-5 หมื่นล้านบาทต่อปี ถือว่าลดภาระต่อ Free cash flow

ทำให้ในระยะสั้นคาด TRUE ยังบริหารจัดการกระแสเงินสดโดยเน้นไปที่การออกหุ้นกู้เป็นหลัก (TRUE ไม่มี debt covenant โดยตรงกับสถาบันการเงินเพราะใช้ Credit ร่วมกับ CP Group) และยังมีทางเลือกในการลดสัดส่วนเงินลงทุนใน DIF (บริษัทฯ ติดข้อจำกัดต้องถือ ครองอีกเพียง 800 กว่าล้านหน่วย)

จึงคาดว่าผลประกอบการไตรมาส 3/63 บริษัทจะมีกำไรสุทธิ 648 ล้านบาท แต่หากตัดกำไรจากการขายหุ้น DIF 1.4 พันล้านบาท ผลประกอบการปกติขาดทุนปกติที่ 752 ล้านบาท ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขาดทุน 847 ล้านบาท แต่อ่อนแอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 543 ล้านบาท โดยผลประกอบการที่ดีขึ้นได้รับแรงหนุนจากรายได้ในธุรกิจมือถือที่ฟื้นตัว ขณะที่ผลประกอบการที่แย่ลงจากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา นั่นเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ

โดยรวม คาดว่า TRUE จะมี Service revenue ex. IC ธุรกิจมือถืออยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.7% โดยมีส่วนแบ่งการตลาดเติบโตได้ดีกว่ากลุ่ม ขณะเดียวกันคาดว่า Broadband revenue จะเพิ่มขึ้น 1.2% เพาะได้รับแรงหนุนจาก Work from home เริ่มลดลง แต่รายได้ PayTV จะลดลง 13% จากธุรกิจสื่อยังไม่ฟื้นจากโควิด-19 อีกทั้งต้นทุนค่าเช่าพื้นที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับต้นทุน English Premier League หลังกลับมาเปิดให้บริการ แต่ได้การอุดหนุนค่าเครื่องที่ลดลงและ SG&A ที่คุมได้ทรงตัวมาช่วยชดเชย ทำให้ EBITDA จะเพิ่มขึ้น 1.8% ดีขึ้นตามรายได้มือถือ แต่คาดดอกเบี้ยจ่ายยังเพิ่มขึ้นตามมูลหนี้

ดังนั้น จากผลประกอบการ 9 เดือนปี 2563 ที่ขาดทุนมากกว่าคาด ทำให้ถูกปรับลดประมาณการปี 2563-2564 ของ TRUE เป็นขาดทุน 2.8 พันล้านบาท และขาดทุน 749 ล้านบาทตามลำดับ หลักๆ มาจากการปรับลดสมมติฐานการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ทำได้ช้ากว่าคาด จึงส่งผลให้ราคาเหมาะสมของ TRUE ปรับลดเป็น 3.70 บาทต่อหุ้น คงคำแนะนำ “TRADING” ราคาหุ้นปัจจุบัน มี Downside จำกัด ซื้อ ขาย บน P/BV ที่ 1.1x แต่เนื่องจากหุ้นสื่อสารตัวอื่นให้ผลตอบแทนเงินปันผลราว 4-5% ต่อปี และมีผลประกอบการที่ดีกว่าทำให้ TRUE แม้ราคาอยู่ใน zone ถูก แต่ขาดความน่าสนใจในเชิงเปรียบเทียบ

ไม่เร่งรุก 5G เปิดโอกาส DTAC ตีตื้น

สำหรับ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC)  นั้น บล.เคจีไอ รายงานว่า ปัจจุบัน ซื้อ ขาย ถูกกว่าหุ้นในกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ และมี Market Cap เพียง 7.8 หมื่นล้านบาท ถูกเกินไปเทียบกับการประมูลคลื่นเปล่าต้นปี 2563 ที่ราคาแสนล้านบาท ทั้งๆ ที่คลื่นดังกล่าวไม่มีลูกค้าและโครงข่าย Telecom ดังนั้น แม้ DTAC จะมีความเสี่ยงสูญเสียลูกค้า High-end จากการเปิดตัว 5G ของคู่แข่งในช่วง 2-3 ไตรมาสต่อจากนี้ แต่ราคาตลาด Price-in ความเสี่ยงมากเกินไป

ทั้งนี้ DTAC ยังมีทางเลือกในการบริหารจัดการเพื่อสู้กับ 5G ที่ยังไม่เต็มศักยภาพของตลาดเพราะขาดแคลนทั้ง Application และมือถือรองรับ ขณะที่ปี 2564 ภาครัฐมีโอกาสสูงที่จะเปิดประมูลคลื่น 3500MHz ซึ่งจะหมดสัมปทานดาวเทียม เป็น Catalyst สำคัญที่ช่วยปลดล็อกศักยภาพในการแข่งขันของ DTAC และลดช่วงห่างของ Valuation gap เทียบกับ PEER

โดยคาดกำไรปกติไตรมาส 3/63 จะทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า หรือคาดกำไรปกติอยู่ที่ 1.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% จาก Service revenue ex. IC ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท พิ่มขึ้น 2.0% ฟื้นตัวตามกำลังซื้อที่ดีขึ้นและการแข่งขันด้านราคาที่ทรงตัว Segment แพงดีขึ้น แต่ระดับล่างแข่งขันรุนแรงขึ้น ขณะที่ธุรกิจมือถือขาดทุนลดลง จากการขึ้นราคาขายค่าเครื่อง และต้นทุนส่วนใหญ่คาดถูกควบคุมอย่างเข้มข้น ทำให้คงประมาณการกำไรปกติปี 2563 ที่ 5.4 พันล้านบาท และราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 2563 ที่ 56.00 บาทต่อหุ้น โดยมี Upside Risk จากกำไร 9M63 คิดเป็น 84% ของกำไรทั้งปี จึงคงคำแนะนำ “ซื้อ” แม้หุ้นเติบโตจำกัด แต่ซื้อขายถูกเกินไป และคาดการณ์ปันผลที่ 5.6%

ADVANC เข้าสู่ภาวการณ์ฟื้นตัว

ส่วน บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ด้าน บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส รายงานว่า ราคาหุ้น ADVANC เริ่มขยับขึ้น จากระดับต่ำสุด 169 บาทเมื่อปลายสัปดาห์ก่อนมาเคลื่อนไหวที่ระดับ 176.50 บาท เนื่องจาก Sentiment การบริโภคและท่องเที่ยวในประเทศที่ดีขึ้น หลังรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นออกมาต่อเนื่อง ทั้งนี้ ราคาหุ้นที่อ่อนตัวลงในช่วงก่อนหน้า คาดว่าจะมาจากแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 3/63 จะอ่อนลง

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่ากำไรสุทธิไตรมาส 3/63 จะหดตัวลง 4% จากไตรมาสก่อน เป็น 6.45 พันล้านบาท เนื่องจากกำลังซื้อชะลอลง และรายได้จากกลุ่มนักท่องเที่ยวหดตัว ทำให้รายได้โทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลง 7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่แนวโน้มไตรมาสสุดท้ายปีนี้ คาดว่าจะดีขึ้น โดยรายได้เฉลี่ยต่อเครื่องต่อเดือนมีโอกาสสูงขึ้น หลังจากผู้ให้บริการพยายามขยับราคาในส่วน Unlimited data ของ Prepaid และกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการซื้อบริการเสริมต่างๆ โดยในกลาง ก.ค.63 บริษัทได้ออกบริการใหม่ คือ การเพิ่มคุณภาพ FBB ครัวเรือน เช่น เช่าเราเตอร์เพิ่มอัตรา 100 บาท/เดือน เพิ่มสปีดอินเทอร์เน็ต ซึ่งเหล่านี้จะเห็นผลดีในไตรมาสสุดท้าย

จึง แนะนำซื้อ ให้ราคาพื้นฐาน 208 บาท มี Upside ในมุมมองเชิงกลยุทธ์ เพราะ ADVANC ที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูง มีโครงข่ายที่แข็งแกร่งในต่างจังหวัด มีบริการทั้งด้านโทรศัพท์เคลื่อนที่และ FBB ฐานะการเงินแข็งแกร่ง และจ่ายปันผลสม่ำเสมอ

ขณะที่ บล.บัวหลวง เห็นว่า ADVANC ผ่านจุดต่ำสุดช่วงโควิด-19 ในไตรมาส 2-ไตรมาส 3 ของปีนี้ไปแล้ว โดยในเดือน ก.ค.ฟื้นกลับมาหลังปิดเมือง แม้ว่าในเดือน ส.ค.ความต้องการกลับชะลอตัวลงไปบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการใช้งานจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งในไตรมาส 4/63 และจากการเปิดให้บริการ 5G น่าจะเห็นการทำตลาดเชิงรุกในไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่ง ADVANC ได้เปรียบจากการมีคลื่นความถี่มากที่สุดน่าจะให้บริการ 5G ได้ดีกว่าคู่แข่ง โดยเริ่มต้นจากตลาดโพสต์เพด หรือลูกค้ารายเดือน จากนั้นในระยะกลางถึงระยะยาวน่าจะเริ่มให้บริการกับกลุ่มอุตสาหกรรม

ดังนั้น ทั้งปี 63 คาดว่าผลประกอบการอ่อนแอจากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยประเมินกำไรหลักจะอยู่ที่ราว 2.73 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มี 2.98 หมื่นล้านบาท ส่วนรายได้จากบริการเติบโตต่ำกว่า 0.5% มาที่ 1.8 แสนล้านบาท และคาดว่าในปี 64 กำไรหลักน่าจะฟื้นตัวขึ้นมาเป็น 2.81 หมื่นล้านบาท

ส่วนธุรกิจบรอดแบนด์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาในไตรมาส 2/63 โดยความต้องการเพิ่มขึ้นจากการทำงานที่บ้าน (WFH) ทำให้ครึ่งปีแรกมีผู้ใช้บริการใหม่ 1.5-1.6 แสนรายแล้ว จากเป้าหมายปีนี้ที่ 3-4 แสนราย ซึ่งเป็นการ Bundle กับบริการโทรศัพท์มือถือ และคอนเทนต์

อีกปัจจัยที่ ADVANC น่าสนใจคือ ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมาก น่าจะถึง bottom เชื่อว่าหากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 จบราคาน่าจะฟื้นตัวดีขึ้น และยังมีอัตราการจ่ายเงินปันผล 4% ทั้งนี้ ให้ราคาเหมาะสมที่ 237 บาท ในปี 64












กำลังโหลดความคิดเห็น