เก็บหุ้น “แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส” เข้าพอร์ต รับปีหน้าฟื้นความสดใสแม้ปีนี้ตลาดหุ้นครึ่งปีหลังยังน่าห่วง หวั่นโควิด-19 ลุกลามระลอกสอง กดดันผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนทรุด ประเมินดัชนี SET Index ปลายปีที่ 1,383 จุด หากสถานการณ์เลวร้ายมีโอกาสทรุดไประดับ 1,236 จุด ขณะการใช้ชีวิตแบบนิวนอมอล หนุนการใช้เครื่องมือและสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตพุ่ง ส่งผลดีต่อบริษัทผู้ให้บริการเครือข่าย โบรกฯ มอง ADVANC ผู้นำกลุ่มรับผลดีสุด แถมเปิดให้บริการ 5G เป็นรายแรกของไทย รองรับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต ส่งผลดีต่อรายได้ในระยะต่อไป”
จากการที่ผู้จัดการกองทุนได้มีข้อเสนอแนะว่าภาครัฐควรเร่งนโยบายเรื่องที่มีผลบวกต่อภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เสนอให้ภาครัฐใช้นโยบายการคลังโดยเฉพาะการช่วยเหลือด้านกำลังซื้อของภาคประชาชน เช่น การชดเชยรายได้ การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลง หรือการชดเชยอื่นๆ ที่เป็นรูปธรรมให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ อีกทั้งรัฐควรเร่งรัดโครงการลงทุนภาครัฐ มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อกระตุ้นการจ้างงาน
ขณะเดียวกันก็มองว่ามีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในครึ่งหลังปี 2563 ด้วยทำให้ประเมินว่าดัชนี SET Index ปลายปีนี้อยู่ที่ 1,383 จุด และหากว่าในสถานการณ์เลวร้ายมีโอกาสที่ดัชนีจะปรับตัวลดลงไปถึงระดับที่ 1,236 จุด
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ให้มุมมอง ถึงทิศทางการลงทุนในตลาดหุ้นไทยครึ่งหลังปี 2563 ว่าประเด็นที่น่าจับตามองสำหรับนักลงทุน แบ่งเป็น 2 ด้านคือ ปัจจัยบวก อย่างเช่น เรื่องมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE ของประเทศสำคัญทั่วโลก ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงทวีความรุนแรงมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศต่างๆที่มีความขัดแย้งด้านเศรษฐกิจพักรบกันชั่วคราว เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าร่วมกันก่อน เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นลุกลามเป็นห่วงโซ่ที่กระทบไปยังประเทศต่างๆเกี่ยวเนื่องกัน
ประเด็นต่อมา มองว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ FED ที่จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยต่ำไว้ เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ และผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่าง จนกว่าจะมั่นใจว่าสภาวะต่างๆ เป็นไปตามที่กำหนดไว้ โดยมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวรวดเร็วขึ้นจากภาวะถดถอย เพราะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือจนกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัว อีกทั้งที่ประชุมเฟดมีความกังวลอย่างมากว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดการแพร่ระบาดรอบสองของไวรัสโควิด-19 โดยกรรมการธนาคารกลางสหรัฐหลายคน ได้หยั่งเสียงสนับสนุนให้มีการตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไป จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นสู่เป้าหมาย หรือสูงกว่าเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%
แต่กระนั้นก็มีกรรมการเฟดบางคนมองว่าควรจะเชื่อมโยงการแนวทางการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเข้ากับอัตราว่างงานอย่างเฉพาะเจาะจง และมีกรรมการเพียงไม่กี่คนที่ต้องการให้คำมั่นสัญญาว่าจะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายนั้น มีการกำหนดวันสิ้นสุดที่เฉพาะเจาะจง เหมือนกับที่เฟดเคยใช้แนวทางดังกล่าวช่วงปี 2555-2556 อย่างไรก็ตามเฟดมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัวลง 6.5% ในปีนี้ ก่อนที่จะค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวกลับขึ้นมาที่ 5% ปี 2564 ซึ่งทำให้เฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.00-0.25% ไปจนถึงปี 2565 ล่าสุด FED ได้เพิ่มการถือครองพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) พร้อมกับเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 8 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน และซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) วงเงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์
สอดคล้องกับ นายฟิลิป โลว์ ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลีย ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 3 ปีที่ระดับ 0.25% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แม้ออสเตรเลียมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับการแพร่ระบาดรอบสองของไวรัสโควิด-19 อาจส่งผลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ
ทั้งนี้ ปัจจัยลบ ที่จะส่งผลต่อมุมมองการลงทุนในตลาดทุนไทยครึ่งหลังปี 2563 คือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ ทั้งอเมริกา ยุโรป เอเชีย รองลงมาคือ ปัจจัยด้านผลประกอบการของ บจ. และสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และเศรษฐกิจภายในประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญ จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจัยทางด้านการเมืองในประเทศนั้นไม่มีผลมากนักต่อทิศทางราคาหุ้นในช่วงครึ่งหลังนี้
อย่างไรก็ ตามหุ้นเด่นที่นักวิเคราะห์ในหลายๆ บริษัทโบรกเกอร์ มีความเห็นสอดคล้องตรงกัน เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุน แม้ว่าบริษัทเหล่านั้นจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีผลประกอบการที่ปรับตัวลดลง แต่ยังคงมีอัตราผลตอบแทนที่เติบโตอย่างสม่ำเสมอ และมีการจ่ายเงินปันผลในระดับที่น่าพอใจอย่างหุ้นกลุ่มสื่อสารที่ในภาวะพฤติกรรมแบบนิว นอมอล และส่วนใหญ่ยังคงคำแนะนำ ซื้อ ADVANC เพราะถือว่าซึ่งมีสัดส่วนรายได้จาก Prepaid มากที่สุดในกลุ่ม
ADVANC เร่งต้นทุน-เพิ่มประสิทธิภาพหนุนกำไรโต
บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ AIS ซึ่งแม้ว่าไตรมาสแรกที่ผ่านมาบริษัท ฯ จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น เพราะต้องปิดให้บริการช็อปในห้างสรรพสินค้าตามมาตรการของรัฐ กระทบรายได้ปีนี้แม้ว่าจะลดลง กอรปกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอตัวลง รวมถึงความต้องการด้านการสื่อสารที่ลดลงตามไปตามภาพรวมเศรษฐกิจ ทำให้กดดันต่อรายได้ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท
สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ADVANC เปิดเผยถึงภาพรวมผลประกอบการของบริษัทว่า ไตรมาสแรกปีนี้มีรายได้รวมอยู่ที่ 42,845 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 6,756.19 ล้านบาท โดยธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่มีรายได้ลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลจากการแข่งขันของอุตสาหกรรมบวกกับเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลทำให้รายได้จากกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวลดลงอย่างมากรวมถึงยังได้รับผลกระทบที่มาจากมาตรการล็อกดาวน์ ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม ส่งผลให้ต้องปิดให้บริการชั่วคราวใน AIS Shop, Serenade Club และ AIS Telewiz ในพื้นที่ตามประกาศของภาครัฐ ขณะที่ผู้ใช้บริการรวม ณ สิ้นไตรมาสแรกทั้งสิ้น 41.1 ล้านราย ซึ่งถือว่ามีฐานลูกค้ามากที่สุดเป็นอันดับ 1 แบ่ง โดยเป็นลูกค้าระบบรายเดือน 9.1 ล้านราย และลูกค้าระบบเติมเงินอีก 32.0 ล้านราย
ขณะเดียวกันธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน หรือ AIS FIBRE ยังคงเติบโตต่อเนื่องโดยมีลูกค้าเพิ่มขึ้น 52,800 ราย ทำให้ในปัจจุบันมีลูกค้า 1.1 ล้านราย เสริมให้รายได้เติบโต 27% เทียบกับปีก่อน อยู่ที่ 1,640 ล้านบาท โดยยังคงแผนการตลาดต่อเนื่องด้วยกลยุทธ์ Fixed-Mobile Convergence ที่ผสานกันระหว่าง 3 บริการหลัก ทั้งอินเทอร์เน็ตมือถือ, อินเทอร์เน็ตบ้าน, คอนเทนต์ผ่าน AIS PLAYBOX และ AIS PLAY เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าที่มีคุณภาพ
“จากมาตรการล็อกดาวน์ และกระแสการ Work From Home ได้ส่งผลให้มีความต้องการใช้งานดาต้าและอินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูงเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดส่งผลให้การใช้งานดาต้าไตรมาสแรก เพิ่มขึ้นเป็น 14.7 กิกะไบต์/ผู้ใช้บริการ/เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 จากปีก่อน และร้อยละ 16 จากไตรมาสก่อน ด้านอินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูง เอไอเอส ไฟเบอร์ ก็มีความต้องการติดตั้งใหม่ที่สูงขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคมส่งผลให้ยอดลูกค้าติดตั้งใหม่เดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะได้รับความต้องการที่สูงขึ้นในบริการโทรคมนาคมของเอไอเอส แต่อย่างไรธุรกิจของบริษัท ฯ โดยเฉพาะรายได้จากการให้บริการซึ่งมีฐานลูกค้าครอบคลุมทุกกลุ่มผู้ใช้บริการ ทั้งลูกค้าทั่วไปและลูกค้าองค์กร ย่อมได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจาก โควิด-19 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้ไตรมาสแรกปีนี้ รายได้จากการให้บริการหลักจึงทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่ 33,090 ล้านบาท แต่การบริหารต้นทุนที่ดีขึ้น แต่ยังคงทำกำไร ในตัวเลข EBITDA เพิ่มขึ้น 3.8% จากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 19,576 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรสุทธิ 6,756.19ล้านบาท และอัตรากำไรสุทธิ 16.3%”
ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ความไม่แน่นอน ADVANC จึงได้ปรับตัวและแผนธุรกิจเพื่อคงรายได้จากหน่วยธุรกิจต่างๆ ขณะเดียวกันก็หาแนวทางการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานเพื่อคงกระแสเงินสดและความสามารถทำกำไร เพื่อความพร้อมในการแข่งขัน และความแข็งแกร่งทางการเงิน โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรก่อนภาษีดอกเบี้ยและค่าเสื่อม (Net debt to EBITDA) ที่ 0.7เท่า แสดงถึงระดับหนี้ค่อนข้างต่ำ และมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานไตรมาสแรกสูงกว่า 23,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ADVANC ยังมีแผนการพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้เตรียมงบลงทุนไว้ที่ 3.5-4.5หมื่นล้านบาท ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ในการให้บริการ Digital Life Service Provider ซึ่งครอบคลุมคลื่นความถี่มากสุด และเป็นผู้ที่ถือครองคลื่นความถี่มากที่สุด คือ LOW BAND (700-900 MHz) 50 MHz, MID BAND (1800-2600 MHz) 170 MHz และ HIGH BAND (26 GHz) 1200 MHz และเปิดให้บริการ AIS 5G เป็นรายแรกของประเทศตั้งแต่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 พร้อมขยายเครือข่ายไปครบทั้ง 77 จังหวัดตั้งแต่พฤษภาที่ผ่านมา
หยวนต้าแนะ "ถึงระดับราคาที่ควรเริ่มสะสม"
ศุภชัย วัฒนวิเทศกุล นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ให้มุมมองหุ้น ADVANC ว่า ประเมินกำไรปกติไตรมาส 2 ปีนี้ อ่อนแอทั้งเทียบไตรมาสและเทียบปีก่อนแต่เป็นจุดต่ำสุดของปีนี้ กล่าวคือคาดกำไรปกติที่ 5.8 พันล้านบาท ลดลงกว่า 20% เมื่อเทียบไตรมาสและปีก่อน 0 เพราะผลกระทบของโควิด-19 เต็มไตรมาสและการต้องสนับสนุนภาครัฐ คาด Mobile service revenue ex. IC ที่ 3.2 หมื่นล้านบาท ลดลงเล็กน้อย จากกำลังซื้อในต่างจังหวัดซึ่งเป็นตลาดหลักของ ADVANC อ่อนแอตามภาวะเศรษฐกิจ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่หดตัวแรง ช่องทางจัดจำหน่ายที่ปิดตามมาตรการ Lockdown และการสนับสนุนภาครัฐเพื่อช่วยเหลือประชาชนผ่านแคมเปญโทรฟรี 100 นาทีและ net 10GB คาดรายได้ broadband ทำได้ 1.7 พันล้านบาท จาก Work from Home ส่วนธุรกิจมือถือยอดขายลดลงตามการปิดร้านค้า แต่การแข่งขันด้านราคายังรุนแรงอีกทั้ง ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ใกล้เคียงเดิม ส่วน SG&A คาดที่ 6.4 พันล้านบาท จากกิจกรรมการตลาดที่ลดลงช่วง Lockdown และEBITDA คาดที่ 2.1 หมื่นล้านบาท ลดลง 7.1% จากไตรมาสก่อนเป็นผลกระทบชั่วคราว และการที่ ADVANC จะประกาศงบ 5 ส.ค. 63 คาดปันผลครึ่งปีแรก ที่ 3.05 บาทต่อหุ้น คิดเป็น yield ราว 1.6%
การแข่งขันลดความรุนแรง ปรับแนะนำ“ซื้อ”
สำหรับการแข่งขันเริ่มลดลงช่วงวันที่ 28 พ.ค.-14 มิ.ย.63 หลังผู้ประกอบการถอน Unlimited Package ออกจากตลาด Prepaid และรุนแรงขึ้นหลังตลาดกลับมานำเสนอ Unlimited Packageg เมื่อ 15 มิ.ย.63 ในตลาด Prepaid อีกครั้ง แต่ปรับราคาตั้งต้นขึ้น 50 บาท ขณะการปรับขึ้น ARPU ครึ่งปีหลัง การนำเสนอ 5G ของ ADVANC หากรุนแรงเกินไป จะกระตุ้นให้ DTAC ต้องลดราคาเพื่อรักษาฐานลูกค้า High end ยิ่งกดดันการฟื้นตัว แต่หาก ADVANC สามารถเพิ่มราคาอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีโอกาสที่ ADVANC จะเพิ่ม ARPU และจำนวนลูกค้าได้ในระยะต่อไป
ดังนั้น หากกำไรออกมาตามคาด กำไรครึ่งแรกปีนี้จะคิดเป็น 48% ของประมาณการกำไรทั้งปี ขณะผลประกอบการครึ่งหลังจะฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจและการเริ่มได้ผลบวกของการลงทุน 5G คงประมาณการกำไรปกติปี 2563 ที่ 2.7 หมื่นล้านบาท และราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 2563 ที่ 220 บาทต่อหุ้น อิง DCF (WACC 7.8% T.G. 2%) ปรับคำแนะนำขึ้นเป็น “ซื้อ
กวี มานิตสุภวงษ์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด ให้มุมมองว่าไตรมาส 2 ADVANC รับผลกระทบโควิด-19 เต็มๆ แต่แกร่งสุดระยะยาว คาดกำไรสุทธิลดลง 6.9% ทั้งจากโควิด -19 และ ตัดจำหน่ายคลื่น 2600 เต็มไตรมาส หากไม่รวมรายการพิเศษ รายได้ชดเชยจาก กสทช. สุทธิหลังหักภาษีราว 707 ล้านบาท จากการเพิ่มความเร็วเน็ตบ้าน และ เพิ่มเน็ตให้ประชาชนที่ลงทะเบียนรับสิทธิ์ 10 GB คาดกำไรปกติจะอยู่ที่ 5.6 พันล้านบาท ลดลง 21.3% จากไตรมาสก่อน จากรายได้ค่าบริการ (ไม่รวม IC) ที่คาดจะลดลง 16.2% จากผลกระทบโควิด-19 ที่ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ ทั้งเดือน เม.ย. ทำให้ช่องทางการขยายฐานลูกค้าทำได้ยาก และจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไป ทำให้จำนวนซิมนักท่องเที่ยวและค่าเชื่อมต่อโครงข่ายข้ามพรมแดนลดลงอย่างมีนัย ฯ ซึ่งทำให้ทั้งจำนวนสมาชิก และรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายลดลงอีกทั้ง ADVANC มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการขยายโครงข่ายคลื่น 2600 MHz เพื่อรองรับการให้บริการ 5G และ เริ่มตัดจำหน่ายคลื่นดังกล่าวในไตรมาส 2 เต็มไตรมาส แต่ยังชดเชยบางส่วนได้จากค่าใช้จ่ายในการขายและการตลาดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ดี ADVANC ตั้งงบลงทุนปีนี้ที่ 3.5-4 หมื่นล้านบาท เพื่อรุกขยายโครงข่าย 5G ให้เหนือคู่แข่ง ถือมีความพร้อมด้านคลื่นที่ให้บริการ 5G มากสุดโดยมีแผนขยายโครงข่าย 5G อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้โครงข่ายและอุปกรณ์ดังกล่าวรองรับการให้บริการ 4G ได้ด้วย ยังช่วยรองรับ digital lifestyle ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานในชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไป การใช้งานด้านการแพทย์โรงงานอุตสาหกรรม ระบบ logistic หรือด้านธุรกิจ ความแข็งแกร่งของโครงข่าย 5G ที่มีมากสุด สามารถรองรับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคตได้อย่างดีเยี่ยม
ประเมินกำไรทั้งปีลดลง 9% และต่อเนื่องในปีถัดไป ขณะผลกระทบโควิด-19 จะเริ่มผ่อนคลายครึ่งหลังปีนี้ ทำให้ฐานสมาชิกมือถือฟื้นตัวกลับมาเติบโตได้ ขณะที่ต้นปี 64 AIS จะได้รับมอบคลื่น 700 MHz จำนวน 10 MHz ที่ได้รับการจัดสรรทุกค่ายช่วงต้นปี และคาดคลื่นที่ชนะการประมูลที่เหลือจะได้รับมอบคลื่น 700 MHz จำนวน 5 MHz ช่วง เม.ย. 64 และคลื่น 2.6 GHz จำนวน 1200 MHz ในครึ่งหลังปี 64 ทำให้มีภาระค่าตัดจำหน่ายใบอนุญาตเพิ่มขึ้น รวมถึงมีภาระค่าใช้จ่ายในการขยายโครงข่ายคลื่นอย่างต่อเนื่องปีหน้า ส่งผลให้แนวโน้มกำไรสุทธิปี 2563 ลดจากปีก่อนหน้า 9% และลดลงต่อเนื่องอีก 2.3% ในปีถัดไปแนะนำซื้อ ADVANC และลงทุน INTUCH (TP : 70 บาท) ซึ่งประเด็นจาก บ.ย่อย THCOM ร่วมลงทุนกับ CAT ตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อทำธุรกิจดาวเทียม โดย THCOM ถือหุ้น 75% รวมทั้ง INTUCH มี Upside 22.8% สูงสุดในกลุ่ม ICT