xs
xsm
sm
md
lg

CENTEL เด่นสุดกลุ่มโรงแรม MINT ดีขึ้น ตัวเลข D/E ลดต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้น 3 โรงแรมดัง หลังผ่านครึ่งปีแรก 2563 ภาพรวมโควิด-19 ฉุดขาดทุน เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง โบรกฯ ชู CENTEL การเงินแกร่งโดดเด่นสุด ธุรกิจอาหารช่วยหนุน ขณะที่ MINT ดูดดีขึ้น D/E เริ่มลดลงต่อเนื่อง ต้องใช้เวลาพักใหญ่จึงจะฟื้นตัวสู่ปกติ ส่วน ERW กลับฟื้นตัวได้ช้า เหตุลูกค้าหลักชาวต่างชาติยังกลับเข้ามาท่องเที่ยวไม่ได้ เพราะน่านฟ้ายังไม่เปิดบินปกติ

หุ้นกลุ่มโรงแรมถือเป็นอีกอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 จนกดดันให้ผลประกอบการในรอบ 2 ไตรมาสแรกของปี 2563 ปรับตัวลดลงอย่างหนัก อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่มีท่าทีสิ้นสุดสำหรับทั่วโลก แต่สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ถือว่าผ่อนคลายลงจากช่วงแรกที่เกิดการแพร่ระบาดเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดการผ่อนคลาย Lock Down ของรัฐบาล หลังจากประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินควบคุมสถานการณ์ในช่วงเวลาหนึ่ง จนทำให้หลายกิจการไม่สามารถประกอบการได้ ซึ่งรวมถึงกลุ่มโรงแรม

อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลาย กลุ่มโรงแรมถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะในภาคการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวด้วยการสนับสนุนให้คนไทยออกมาเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่จะมีสภาพคล่องเข้ามาช่วยหล่อเลี้ยงธุรกิจ

ทั้งนี้ มีการประเมินว่าปัจจัยบวกสำหรับกลุ่มโรงแรมประเทศไทยหลังยกเลิกมาตรการ Lockdown รวมถึงจัดโครงการเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวนั้น คาดว่านักท่องเที่ยวในประเทศจะเป็นกลุ่มแรกที่ขับเคลื่อนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในช่วงที่โควิด-19 ระบาด ดังนั้น หาก ครม.เศรษฐกิจชุดใหม่ ให้ความสำคัญต่อการออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว คาดว่าจะเป็นบวกต่อการลงทุน รวมถึงแนวโน้มผลประกอบการของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะทยอยฟื้นตัวขึ้นในอนาคต

 MINT : การฟื้นตัวเริ่มมีความชัดเจน

 บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ทำบทวิเคราะห์ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ว่า หลังจากครึ่งปีแรก 2563 บริษัทขาดทุนสุทธิ 1.02 หมื่นล้านบาท แต่ ยังคงคำแนะนำ “ถือ” MINT และราคาเป้าหมายปี 2564 ที่ระดับ 22.00 บาทต่อหุ้น โดยมีมุมมองเป็นบวกเล็กน้อยจากโรงแรม NH ในยุโรปเริ่มฟื้นตัวจากนักท่องเที่ยวภายในประเทศโดย occupancy rate เดือน ก.ค. เพิ่มขึ้นเป็น 40% แต่ room rate ลดลง -20% ขณะที่ธุรกิจอาหารในไทยกลับมาเปิดแล้ว 90% เชื่อว่ายอดขายเฉลี่ยต่อสาขาจะกลับมาฟื้นตัวได้ในไตรมาส 3/63 และเห็นกำไรในไตรมาสสุดท้าย

ขณะเดียวกัน พบว่า MINT ยังรัดกุมด้านการเงิน เพราะบริษัทยังตั้งเป้าลดค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง 40% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และหลังจากเพิ่มทุนและออก perpetual bond จะช่วยให้ Net D/E ลดลงเหลือ 1.37 เท่า จากไตรมาส 2/63 ที่ระดับ 1.63 เท่า โดยประมาณการผลการดำเนินงานปีนี้จะขาดทุนสุทธิ 1.8 หมื่นล้านบาท และคาดว่าครึ่งปีหลัง 2563 จะฟื้นตัวขึ้นได้ อีกทั้งคาดว่าหากวัคซีนใช้งานได้จริงจะทำให้นักท่องเที่ยวกลับมาเดินทางได้ และคาดว่ากำไรจะกลับมาที่ระดับปี 2562 ได้ในปี 2567 แต่ยังมีความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2

ด้าน บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ประเมินว่า ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารจะฟื้นตัวได้อย่างอ่อนๆ ในครึ่งปีหลัง ขณะที่การฟื้นตัวอย่างจริงจังยังต้องใช้เวลา โดยขึ้นอยู่กับว่าการระบาดของโควิด-19 จะยืดเยื้อนานแค่ไหน แต่ในแง่บวก คาดว่า D/E จะกลับลงมาอยู่ที่ 1.45 เท่าในปลายปีนี้ จากความสำเร็จในการออกหุ้นกู้ perpetual bond (1 หมื่นล้านบาท) ที่ผ่านมา และการเพิ่มทุน (1 หมื่นล้านบาท) ในไตรมาส 3/63 อย่างไรก็ตาม อยู่ระหว่างทบทวนคำแนะนำหุ้น MINT เนื่องจากมองว่าประมาณการปี 2563-64 ยังมี downside อีกมากกว่า 30% 

ปัจจุบัน จำนวนโรงแรมในเครือที่กลับมาเปิดดำเนินการแล้วอยู่ที่ 389 แห่งในเดือนกรกฎาคม (73% ของจำนวนโรงแรมที่เปิดบริการก่อนโควิด-19 ระบาด) ในขณะเดียวกัน RevPar ของโรงแรมในพอร์ตมีแนวโน้มติดลบลดลงจาก -89% ในเดือนมิถุนายน 2563 เหลือ -72% ในเดือนกรกฎาคม 2563 และคาดว่าจะทยอยดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เพียงเท่านี้ หากแบ่งผลการทำเดินงานตามทำเลที่ตั้ง การฟื้นตัวของผลประกอบการโรงแรมในยุโรปเร็วกว่าในไทย ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากปัจจัยตามฤดูกาล

ส่วนธุรกิจร้านอาหารยังมีฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยจำนวนร้านอาหารที่กลับมาเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม 2563 เกือบจะถึงระดับก่อนโควิด-19 ระบาดแล้ว ในขณะเดียวกัน SSSG ก็ติดลบลดลงจาก -15.5% ในเดือนมิถุนายนเหลือ -12.9% ในเดือนกรกฎาคม 2563 ทั้งนี้ hub ในประเทศจีนมี SSSG ดีกว่าในประเทศอื่นๆ โดยอยู่ที่ลดลง 8% ในเดือนกรกฎาคม ในขณะที่ hub ในประเทศอื่นๆ ติดลบประมาณ 10% ถึง 20% สำหรับในระยะต่อไปคาดว่า MINT จะยังคงเน้นบริการ delivery และจัดแคมเปญส่งเสริมการขายในทุก hub เพื่อกระตุ้นยอดขาย

ที่ผ่านมา MINT ปรับลดงบลงทุน (CAPEX) ปี 2563 จากเดิมที่ประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท เหลือแค่ 1.4 หมื่นล้านบาท และจะเดินหน้าลงทุนเท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยสัดส่วน D/E ในไตรมาส 2/63 อยู่ที่ 1.63 เท่า สำหรับในระยะต่อไปคาดว่า D/E น่าจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 1.45 เท่าในปลายปีนี้ ทำให้ประเมินว่าผลประกอบการจะฟื้นตัวได้อย่างอ่อนๆ ในครึ่งปีหลังและเชื่อว่าแผนเพิ่มทุนรอบล่าสุดจะเพียงพอให้ MINT ผ่านช่วงปี 2563-64 ไปได้

 CENTEL : ฐานะการเงินแข็งแกร่งสุด

 บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ประเมินแนวโน้มธุรกิจ บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) ซึ่งครึ่งปีแรกขาดทุนสุทธิ 510 ล้านบาท แนะนำ “ถือ” ราคาเป้าหมายปี 2563 ที่ 25.00 บาทต่อหุ้น โดยมีมุมมองเป็นกลางเพราะแผนธุรกิจยังเป็นไปตามที่คาด นั่นคือ ธุรกิจอาหารเห็นการฟื้นตัวดีกว่าคาดโดยเดือน ก.ค. กลับมามีกำไรสุทธิแล้ว ขณะที่ธุรกิจโรงแรมกลับมาเปิดแล้ว 50% โดยเดือน ก.ค. มี occupancy rate ราว 30% และคาดว่าจะทยอยเปิดให้ครบภายในสิ้นปีนี้ และบริษัทยังคงลดค่าใช้จ่าย -30% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายพนักงานและประชาสัมพันธ์โดยยังคงประมาณการผลการดำเนินงานปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 1 พันล้านบาท จากปีก่อนที่กำไร 1.7 พันล้านบาท โดยจะเห็นการฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังซึ่งมาจากทั้งธุรกิจอาหารเป็นหลัก

ด้าน บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) คาดว่าผลประกอบการของ CENTEL จะฟื้นตัวขึ้นในครึ่งปีหลัง เนื่องจากในเดือนสิงหาคม 2563 โดยยังคงคาดว่า SSSG ของธุรกิจร้านอาหารจะดีขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ ไม่ห่วงประเด็นความเสี่ยงทางการเงิน เนื่องจาก D/E เมื่อสิ้นงวดไตรมาส 2/63 ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ที่ 0.8 เท่า ซึ่งต่ำกว่า debt covenant ที่ 2.0 เท่า อยู่พอสมควร ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนในปัจจุบัน ทำให้ยังคงชอบ CENTEL มากกว่าหุ้นอื่นในกลุ่ม อย่างไรก็ตาม กำลังอยู่ระหว่างทบทวนคำแนะนำ CENTEL เนื่องจากมองว่าประมาณการกำไรยังมี downside เพิ่มอีก 

ที่ผ่านมา CENTEL กลับมาเปิดบริการโรงแรม 8 แห่งที่บริษัทเป็นเจ้าของในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2563 เท่ากับว่า 70% ของโรงแรมทั้งหมดที่บริษัทเป็นเจ้าของได้กลับมาเปิดบริการแล้ว ในขณะที่โรงแรมในมัลดีฟส์ยังคงปิดอยู่และบริษัทอาจจะพิจารณากลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งตั้งแต่ไตรมาส 4/63 เป็นต้นไป ทั้งนี้ occupancy โดยรวมยังคงเร่งตัวขึ้น โดยโรงแรมในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 30% โรงแรมที่พัทยาและหัวหินอยู่ที่ 40% และโรงแรมในจังหวัดอื่นๆ อยู่ที่ 20-26% โดย CENTEL มีแผนจะกลับมาเปิดให้บริการโรงแรมทุกแห่งในประเทศไทยภายในเดือนตุลาคม 2563 ซึ่งจะช่วยหนุนแนวโน้มการฟื้นตัวของธุรกิจ

สำหรับธุรกิจอาหาร SSSG ยังคงฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องเป็น -18% ในเดือนกรกฎาคม เนื่องจากสถานการณ์ โควิด-19 คลี่ายลงไป ทั้งนี้ สัดส่วนยอดขายอาหารแบบ delivery เพิ่มขึ้นเป็น 20% ของยอดขายรวมในช่วงไตรมาส 2/63 ถึงเดือนกรกฎาคม 2563 จากช่วงก่อน โควิด-19 ระบาดที่ 10% ดังนั้น จึงคงคาดว่าแบรนด์ที่มียอดขายผ่านช่องทาง delivery สูงอย่างเช่น KFC และ Mister Donut จะมีผลการดำเนินงานดีกว่าแบรนด์อื่นๆ แต่สิ่งที่สำคัญ ไม่น่าห่วง CENTEL สำหรับประเด็นความเสี่ยงทางการเงิน เนื่องจาก D/E เมื่อสิ้นงวดไตรมาส 2/63 ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ สำหรับระยะต่อไป CENTEL จะยังคงขยายธุรกิจแบบระมัดระวัง โดยปรับลดงบลงทุน (CAPEX) ปีนี้ลงเหลือ 4 พันล้านบาท จากเดิมที่ตั้งไว้ที่ 9 พันล้านบาท

 ERW : ต่างชาติยังไม่มาขยับตัวได้น้อย

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ประเมินแนวโน้มธุรกิจ ERW ซึ่งครึ่งปีแรกขาดทุนสุทธิ 727 ล้านบาท โดยแนะนำ "HOLD" ราคาเป้าหมาย 3.60 บาทต่อหุ้น โดย มีมุมมองเป็นลบ เพราะยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวในระยะสั้น และประเด็นเรื่องเพิ่มทุนยังคงกดดันเพราะ Net D/E ใกล้จะชน Debt covenant แต่ผู้บริหารยืนยันไม่มีการเพิ่มทุน ขณะที่เน้นการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่ม cash flow ให้มากที่สุดจากการอัดโปรโมชันลดแลกแจกแถม ทั้งนี้ คาดว่าในครึ่งปีหลังจะยังเห็นเป็นขาดทุนสุทธิอย่างต่อเนื่องหลังจากที่มีการเปิดโรงแรมครบ 100% แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. ซึ่งมองว่าค่าใช้จ่ายจะกดดันมากขึ้น และยังไม่มีการเปิดน่านฟ้าเพราะ ERW นักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 70% 

ขณะเดียวกัน ราคาหุ้น ERW ทรงตัวเมื่อเทียบกับ SET ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา สวนทางกับ MINT และ CENTEL เพิ่มขึ้นถึง +10% และ +19% ตามลำดับ เพราะความกังวลเรื่องเพิ่มทุน ด้าน Valuation ปรับตัวขึ้นมาเทรดที่ระดับใกล้ค่าเฉลี่ย SD จากต่ำสุดที่ -2SD ขณะที่ยังไม่มีการเปิดประเทศ ทำให้ระยะสั้นราคาหุ้นยังคงมีความเสี่ยง

ส่วนราคาเป้าหมายปี 2564 ที่ 3.60 บาท อิง DCF (WACC 7.6%, terminal growth 2.5%) เทียบเท่า 2x PBV ขณะที่ ERW ได้ประโยชน์มากที่สุดจากโครงการ "เราเที่ยวด้วยกัน" เพราะมีสัดส่วนโรงแรมในประเทศไทย 90% แต่มีความเสี่ยงเรื่อง debt covenant ที่อยู่ที่ 2.5x ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 2.1x และหากยังขาดทุนต่อเนื่องจะทำให้ชนเพดาน ซึ่ง ERW อยู่ระหว่างการขอธนาคารไม่ให้ test อีกรอบในปีหน้า และยังมีความเสี่ยงจากการที่ยังไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทย และหากมีการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยรอบ 2

ด้าน บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ประเมิน ERW ว่า กิจการโรงแรมจะฟื้นตัวได้อย่างอ่อนๆ ในครึ่งปีหลังแต่การฟื้นตัวอย่างเป็นเรื่องเป็นราวจะขึ้นอยู่กับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ดังนั้น ERW จะยังคงมีผลขาดทุนสุทธิยาวไปจนถึงสิ้นปีนี้ ทำให้ยังคงมองว่าสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อถึงปี 2564 อาจส่งผลให้ ERW ต้องพิจารณาเพิ่มทุนเนื่องจากทางเลือกอื่นๆ อย่างเช่นการขายสินทรัพย์อาจจะทำได้ยาก จึงอยู่ระหว่างทบทวนประมาณการกำไรและราคาเป้าหมาย

มีรายงานว่า โรงแรม Hop Inn ของ ERW ทยอยกลับมาเปิดบริการตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม และเปิดครบทั้ง 44 แห่งแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ซึ่งจนถึงขณะนี้ผลการดำเนินงานของโรงแรม Hop Inn ฟื้นตัวได้ไว โดยมี EBITDA อยู่ในแดนบวกตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 และยังรักษาระดับ occupancy ไว้ได้ที่ 60-65% quarter-to-date ในขณะเดียวกัน ERW ได้กลับมาเปิดโรงแรม 3 แห่งในพัทยาและหัวหินตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 และกลับมาเปิดโรงแรมทที่เหลือทั้งหมดในเดือนสิงหาคม 2563 ทั้งนี้ โรงแรมระดับหรูมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่า โดย occupancy ในเดือนสิงหาคมเฉลี่ยอยู่ที่ 10-15% เท่านั้น เพราะผลการดำเนินงานของโรงแรมกลุ่มนี้จะขึ้นอยู่กับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในขณะที่ผลการดำเนินงานของโรงแรมระดับกลางที่ฟื้นตัวไวกว่า โดย occupancy ในเดือนสิงหาคมเฉลี่ยอยู่ที่ 20-25%

สรุปแล้วมองว่า โควิด-19 กิจการโรงแรมจะฟื้นตัวได้อย่างอ่อนๆ ในครึ่งปีหลัง แต่การฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญจะยังคงขึ้นอยู่กับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ดังนั้น จึงคาดว่า ERW จะยังรายงานผลขาดทุนสุทธิ นอกจากนี้ ERW ปรับลด CAPEX ปี 2563 ลงเหลือ 700 ล้านบาท จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 1.4 พันล้านบาท เนื่องจากการบริหารจัดการกระแสเงินสดเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของบริษัทในปีนี้ ดังนั้น ในปีนี้จะมีโรงแรม Hop Inn ใหม่เปิดเพิ่มลดลงจากเดิม 7 แห่ง (478 ห้อง) เหลือแค่ 4 แห่ง (293 ห้อง) ซึ่งเปิดไปแล้ว 1 แห่ง (79 ห้อง) ในไตรมาสแรกปีนี้ 


กำลังโหลดความคิดเห็น