xs
xsm
sm
md
lg

ถอดบทเรียน 30 ปี AIS จากจุดวิกฤต สู่องค์กรของคนไทยทุกคน (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สมชัย เลิศสุทธิวงค์ กับหนังสือ ‘ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา’
ตลอดช่วงระยะเวลาดำเนินงาน 30 ปี ของบริษัทโทรคมนาคมเบอร์ 1 ในไทย อย่าง AIS หนึ่งในความท้าทายที่เผชิญมาตลอดคือปัญหาทรัพยากรคลื่นความถี่ที่มีอยู่อย่างจำกัด ตั้งแต่ในยุคแรกที่เริ่มให้บริการ จนมาถึงช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบแอนะล็อกเข้าสู่ดิจิทัล ก่อนที่จะมาปลดล็อกปัญหาเรื่องคลื่นความถี่ได้อย่างสมบูรณ์ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ในโอกาสครบรอบ 30 ปี AIS ซีอีโอคนปัจจุบันอย่าง ‘สมชัย เลิศสุทธิวงค์’ ได้ใช้ช่วงเวลาพิเศษนี้ ในการออกหนังสือ ‘ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา’ ภายใต้ 3 แนวคิดสำคัญ คือ ประวัติของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย การนำเสนอแนวคิดในการทำงานเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ และการนำเงินรายได้หลักหักค่าใช้จ่ายไปบริจาคให้โรงพยาบาลบ้านแพ้ว

จาก 16 บทในหนังสือ ที่ถูกเขียนออกมาผ่านปรัชญา 3 คำ มีอยู่บทหนึ่งที่น่าสนใจ ที่ซีอีโอ AIS เล่าถึงช่วงเวลาที่เผชิญกับวิกฤตของบริษัท ที่เปรียบเหมือนวิกฤตชีวิตของ ‘สมชัย’ ด้วยเช่นเดียวกัน คือการพลาดการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ในช่วงปลายปี 2558

แม้ว่าในช่วงเวลานั้นไม่ใช่ช่วงที่ AIS มีคลื่นความถี่ในการถือครองเพื่อให้บริการน้อยที่สุด เหมือนในยุคก่อนประมูลคลื่น 3G ที่ต้องให้บริการลูกค้าทั้ง 2G และ 3G บนคลื่นความถี่ที่มีอย่างจำกัด ทำให้ต้องหันไปพึ่งพาเทคโนโลยีเครือข่ายระดับสูงมาใช้ในการให้บริการ

จนทำให้ AIS กลายเป็นโมเดลสำคัญในการบริหารจัดการคลื่นความถี่ที่มีอยู่น้อยที่สุดในตลาด แต่สามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้มากกว่าคู่แข่ง และเป็นต้นแบบให้โอเปอเรเตอร์ในต่างประเทศนำไปปรับใช้งาน

‘คิดดี มีหวัง และปล่อยวาง’ กลายเป็นปรัชญาสำคัญของ ‘สมชัย’ ในช่วงนี้
เหตุผลสำคัญที่ทำให้การพลาดประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz กลายเป็นช่วงวิกฤตที่สุดของ AIS เนื่องจากว่าในช่วงเวลานั้นยังมีลูกค้าหลายล้านรายที่ยังไม่ได้ย้ายจากระบบ 2G ความถี่ 900 MHz มายังระบบ 3G ความถี่ 2100 MHz ซึ่งลูกค้าในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเน้นใช้งานโทรศัพท์เพื่อพูดคุยกับลูกหลาน หรือใช้ในการสื่อสารเป็นหลัก

‘ในแง่ของความรับผิดชอบ ถ้าเอไอเอส เกิดแพ้ประมูล ปล่อยให้คลื่นหลุดมือ เน็ตเวิร์กให้บริการ 900 MHz ถูกปิด คนเกือบ 10 ล้านคนจะมีปัญหาในการสื่อสารทันที และคลื่น 900 MHz ยังมีสัมพันธ์ทางใจกับ AIS เพราะเกิดมาจากคลื่นนี้ ทำให้นึกไม่ออกเหมือนกัน หากต้องเสียคลื่นนี้ไป’ สมชัย เขียนถึงความรับผิดชอบของ AIS ในช่วงที่แพ้ประมูลคลื่นความถี่

แม้ว่าการเข้าประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ในปี 2558 นั้น จะไม่ใช่ครั้งแรกที่เข้าประมูลในฐานะซีอีโอ แต่ สมชัย ยอมรับว่าเป็นการประมูลที่หนักใจที่สุด เพราะก่อนหน้านั้น ในการประมูลคลื่น 1800 MHz ที่แข่งขันอย่างดุเดือดกับทางทรูมูฟ เอช จนทำให้มูลค่าคลื่นขึ้นไปอยู่ในระดับ 4 หมื่นล้านบาท

แต่กลับเป็นการประมูลที่สะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันที่สมบูรณ์แบบ เนื่องจากราคาที่สูงขึ้นมานั้นมาจากความต้องการใช้งานที่เกิดขึ้นจริง เพราะในช่วงเวลานั้น AIS ต้องการคลื่น 1800 MHz มาให้บริการ 4G ในขณะที่ทรูมูฟ เอช ต้องการนำมาให้บริการลูกค้าเก่าจากสัญญาสัมปทานคลื่นเดิมที่หมดลง โดยในการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ในครั้งนั้น กลายเป็นว่ากลุ่มทรู และแจส โมบาย เป็นผู้ชนะการประมูลไป ซึ่งภายในห้องประมูลนั้น ทางกลุ่มผู้บริหารของเอไอเอส หลังจากที่ราคาคลื่นพุ่งขึ้นไปในระดับ 5-6 หมื่นล้านบาท ก็เริ่มพูดคุยกันถึงแนวทางสำรองกรณีที่ไม่ชนะการประมูลแล้ว

‘คิดดี มีหวัง และปล่อยวาง’ กลายเป็นปรัชญาสำคัญของ ‘สมชัย’ ในช่วงนี้ ที่นำมาปรับใช้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยมองว่า อะไรที่ไม่ใช่ก็คือไม่ใช่ ต้องปล่อยวาง และก้าวเดินไปข้างหน้า


ในช่วงเวลาหลังพลาดประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz สิ่งที่ AIS เดินหน้าลงมือทำเลยคือการหาวิธีย้ายลูกค้าให้เปลี่ยนจาก 2G มาเป็น 3G ให้เร็วที่สุด ทั้งการแจกเครื่องสมาร์ทโฟนให้แก่ลูกค้า ด้วยทีมงานภายใน และเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ

ภาพที่เกิดขึ้นคือแสดงให้เห็นความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพนักงาน AIS ที่เข้ามาช่วยกันคนละไม้คนละมือ และได้เห็นมิตรภาพของคู่แข่งอย่างดีแทค ที่เตรียมพร้อมเปิดให้บริการโรมมิ่งเครือข่ายในกรณีที่ต้องปิดใช้งานคลื่น 2G ความถี่ 900 MHz

จนท้ายที่สุด AIS ยังเหลือลูกค้าใช้งานในระบบ 2G อีกราว 4 แสนเลขหมาย รวมกับลูกค้าในส่วนของ AWN อีก 7.6 ล้านเลขหมาย ที่ปรับเปลี่ยนไม่ทัน และทางทรูมูฟ เอช ได้มายื่นชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 MHz ทำให้หลังจากคืนวันที่ 15 มีนาคม ลูกค้าจะ ‘ซิมดับ’ ไม่สามารถใช้งานได้

ทางออกสุดท้ายของ AIS ในเวลานั้นคือการยื่นขอศาลปกครองกลาง ให้คุ้มครองชั่วคราวให้ AIS นำคลื่นความถี่ชุดที่ 1 ที่แจส โมบาย ประมูลไปแต่ยังไม่ได้รับการจัดสรรมาให้บริการลูกค้าที่เหลือต่อไปก่อน โดยท้ายที่สุดศาลปกครองก็มีคำสั่งคุ้มครอง ต่อเนื่องมายังเหตุการณ์ที่ แจส ไม่เข้ามาชำระค่าคลื่น 900 MHz ที่ประมูลไปแบบบ้าคลั่ง กสทช. จึงนำคลื่นกลับมาเปิดประมูลอีกครั้ง และทาง AIS ก็เป็นผู้เข้าประมูลรายเดียวที่เข้าไปประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz มาให้บริการ

หลังจากวิกฤตในครั้งนั้น ช่วงเวลาที่ ‘สมชัย’ มีความสุขมากที่สุดในชีวิต คือหลังการประมูลคลื่น 5G เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา เพราะเป็นการแก้ปัญหา และทำลายอุปสรรคที่ AIS มีอยู่ในอดีตให้หมดไป ด้วยการคว้าคลื่นความถี่มาให้บริการอย่างเพียงพอ ในราคาสมเหตุสมผล

ไม่ว่าจะเป็นคลื่น 700 MHz ที่เป็นคลื่นความถี่ต่ำมีความสำคัญในแง่ของการให้บริการที่ครอบคลุม และคลื่นความถี่สูงอย่าง 2600 MHz และ 26 GHz ที่ ‘สมชัย’ มองว่ามีการแข่งขันต่ำกว่าที่คิด รวมๆ แล้วตั้งแต่เปิดประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่มา AIS ใช้เงินไปแล้วกว่า 2 แสนล้านบาท แม้จะเป็นตัวเลขที่สูงมาก แต่ถ้าคิดในแง่ดี เงินทั้งหมดเข้าสู่ประเทศชาติ ให้รัฐบาลสามารถนำไปใช้พัฒนาประเทศ

ช่วงเวลาที่ ‘สมชัย’ มีความสุขมากที่สุดในชีวิต คือหลังการประมูลคลื่น 5G เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา เพราะเป็นการแก้ปัญหา และทำลายอุปสรรคที่ AIS มีอยู่ในอดีตให้หมดไป
ในขณะที่ทาง AIS ก็จะไม่มีข้อจำกัดทางด้านคลื่นความถี่ และสามารถส่งมอบธุรกิจให้คนรุ่นใหม่ เพื่อปูทางสู่การเป็นผู้ให้บริการ ดิจิทัล เซอร์วิส โพรวายเดอร์ได้อย่างเต็มรูปแบบ

***เป้าหมายองค์กรเพื่อคนไทย


ในเวลานี้ บริษัทอย่าง เฟซบุ๊ก กูเกิล เน็ตฟลิกซ์ กลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่คนไอทีไทยรุ่นใหม่อยากสมัครเข้าไปทำงาน แต่ทำไมในไทยถึงไม่มีบริษัทที่เป็นเป้าหมายให้คนไทยมาสมัคร นั่นคือเป้าหมายที่ ‘สมชัย’ วางไว้ว่าภายใน 3 ปี ข้างหน้า จะต้องพัฒนา AIS ให้กลายเป็นองค์กรที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ

ยุคต่อไปของ AIS คือการพัฒนาขึ้นมาเป็นองค์กรของคนไทยทุกคน เป็นศูนย์รวมคนที่เก่งทางด้านไอที โดยในทีมไอทีของ AIS จะต้องกลายเป็น Best IT Telecom Company ให้ได้ เพื่อร่วมกันผลักดันให้เป็นองค์กรสำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีนวัตกรรม

ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ AIS จะต้องเริ่มเดินหน้าใน 3 ส่วนด้วยกัน คือ 1.การปรับโครงสร้างเงินเดือนให้เหมาะสมกับความสามารถ ทั้งพนักงานเดิม และการเปิดตำแหน่งในสายงานใหม่อย่างนักวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงแยกหน่วยธุรกิจออกมาพัฒนานวัตกรรมโดยเฉพาะ 2.สร้างสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ด้วยรูปแบบออฟฟิศสมัยใหม่ ปรับระบบให้เอื้อต่อการเติบโตในสายงาน ด้วยโครงสร้างการทำงานที่ไม่เป็น Silo เพื่อให้โอกาสในการพัฒนา ที่สำคัญคือ ไม่ใช่แค่เงินเดือนดี สถานที่ดี แต่ต้องมี 3.คือเป็นที่ที่ให้โอกาสในการทำสิ่งที่อยากทำ เมื่อทำออกมาแล้วต้องโดน

‘หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ประวัติผม แต่เป็นแนวคิดในการทำงานของผมเพื่อเล่าประวัติของบริษัทโทรคมนาคมไทย ซึ่งหวังว่าการเล่าผ่านชีวิตการทำงานผม จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ เพราะผมเป็นคนที่ทำงานมาตามปกติ จากพนักงานตอกบัตรขึ้นมาเป็น ซีอีโอได้ จะต้องแนวคิด มีวิธีการทำงานอย่างไร’


กำลังโหลดความคิดเห็น