xs
xsm
sm
md
lg

อรุณรุ่ง โทรคมไทย (ตอนจบ) 5G : ไทยประกาศศักดาโลก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภายหลังการประมูลคลื่นความถี่แบบมัลติแบนด์ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากโอเปอเรเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการแย่งชิงคลื่นความถี่ต่ำ 700 MHz การนำคลื่นย่านกลางอย่าง 2600 MHz ไปเสริมศักยภาพเครือข่าย จนถึงคลื่น 26 GHz ที่จะกลายเป็นคลื่นสำคัญในการให้บริการในอนาคต

แม้ว่าก่อนการประมูลหลายคนอาจจะคาดการณ์ว่า กว่า 5G จะเปิดให้บริการในประเทศไทยต้องรออีกไม่ต่ำกว่า 2 ปี แต่จากการประมูล และความพร้อมของโอเปอเรเตอร์รายหลักทั้ง 3 ราย หลังการประมูลที่เข้ามาชำระค่าใบอนุญาต และเริ่มเปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์แล้ว

แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของ 'ฐากร ตัณฑสิทธิ์' เลขาธิการกสทช. หนึ่งในคนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยไม่ล้าหลังในยุคของ 5G หลังจากที่ออกมายืนยันตั้งแต่ปีที่แล้วว่า ไทยจะไม่ตกรถไฟขบวนผู้นำ 5G ในโลกนี้อย่างแน่นอน และถือว่าเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าไทยจะมี 5G ใช้งานในเดือนพฤษภาคม 2563 เสียด้วยซ้ำ

อีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันคือการเตรียมการเพื่อเข้าสู่การประมูลคลื่นความถี่ 5G ที่ปรับรูปแบบการประมูล ให้สอดคล้องกับทิศทางการถือครองคลื่นความถี่เพื่อให้โอเปอเรเตอร์มีคลื่นที่เพียงพอต่อการให้บริการผู้บริโภค และนำไปใช้งานร่วมกับคลื่นเดิมที่ถือครองอยู่ได้ด้วย

โดยหลังจากการประมูลผ่านไป เมื่อเอไอเอส เข้ามาชำระค่าใบอนุญาต และประกาศความพร้อมให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ในประเทศไทย จึงได้ปักหมุดในชื่อของประเทศไทย ขึ้นมาเป็นผู้นำในการให้บริการ 5G ที่ได้รับการการันตีจาก GSMA ว่าเป็นรายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

เหตุการณ์เหล่านี้ ถือเป็นการปูพรมแดงให้ 'ฐากร' ก้าวลงจากตำแหน่งเลขาธิการกสทช.อย่างสง่างาม ฝากผลงานเลี่ยมทองฝังเพชร กว่า 8 ปีที่ผ่านมา ด้วยตัวเลขสร้างเม็ดเงินเข้ารัฐกว่า 5 แสนล้านบาท และที่สำคัญทำให้ EEC มีภาพ 5G อนาคตของชาติที่สวยงาม

***ประมูลคลื่นนำเงินเข้ารัฐ 5 แสนล้าน


ตลอดช่วงระยะเวลาที่ 'ฐากร' รับหน้าที่เลขาธิการกสทช. มีการประมูลคลื่นความถี่ด้วยกัน 3 ยุค เริ่มจากยุคของการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานเข้าสู่ระบบใบอนุญาต พร้อมกับเริ่มให้บริการ 3G ในประเทศไทย ในการประมูลคลื่น 2100 MHz นำเงินเข้ารัฐ 44,538.75 ล้านบาท

ถัดมาในยุคของ 4G ในการประมูลครั้งประวัติศาสตร์บนคลื่น 900 MHz มูลค่า 203,317.12 ล้านบาท รวมกับคลื่นความถี่ 1800 MHz มูลค่า 113,206 ล้านบาท และการจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz มูลค่า 56,444.64 ล้านบาท

ปิดท้ายด้วยการประมูลในยุคของ 5G ที่นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น คือคลื่น 700 MHz มูลค่า 55,062.20 ล้านบาท คลื่น 2600 MHz อีกมูลค่า 40,054.26 ล้านบาท และคลื่น 26 GHz มูลค่า 12,441.20 ล้านบาท

รวมๆกันแล้วตลอดช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมา มีรายได้จากการประมูลเข้ารัฐทั้งฝั่งของโทรคมนาคม 525,063.97 ล้านบาท และในอนาคตมีโอกาสที่จะเกิดการประมูลคลื่นหลักในการให้บริการ 5G คือคลื่น 3500 MHz อีกด้วย

นอกเหนือจากการสร้างเม็ดเงินจากการประมูลเข้ารัฐแล้ว 'ฐากร' ยังระบุว่า การขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุน 5G จะช่วยให้ผลักดันให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจในปี 2563 ถึง 1.78 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 1.03% ของจีดีพีประเทศ

***ให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ผ่านโทรศัพท์มือถือประเทศแรกในอาเซียน


สำหรับเหตุการณ์ที่นับเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย คงหนีไม่พ้นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งเอไอเอส เดินทางเข้ามาชำระค่าใบอนุญาตคลื่น 2600 MHz และเปิดตัวการใช้งานเครือข่าย 5G ภายในวันนั้น และทำให้ประเทศไทยเริ่มให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์บนโทรศัพท์มือถืออย่างเป็นทางการ

โดยตามแผนของ เอไอเอส จะค่อยๆ ทยอยขยายโครงข่าย 5G ให้ครอบคลุมจากในบริเวณใจกลางเมือง และหัวเมืองใหญ่ ก่อนเพิ่มพื้นที่ให้บริการออกไปเป็น 2 เท่าในทุกๆ สัปดาห์ ตามกำลังของเหล่าวิศวกรที่เข้าไปติดตั้งสถานีฐานเพิ่ม

หลังจากนั้นทรูมูฟ เอช ได้เข้ามาชำระค่าใบอนุญาตในวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา ก่อนเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในวันที่ 17 มีนาคม ถือว่าเป็นผู้ให้บริการรายที่ 2 ในประเทศไทยที่เปิดให้บริการ 5G ซึ่งจะเน้นการให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน และตามหัวเมืองทั้ง 77 จังหวัดก่อนขยายให้ครอบคลุมมากขึ้นเช่นกัน

ข้อดีที่เกิดขึ้นในยุคที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านก็คือผู้บริโภคที่มีสมาร์ทโฟนรองรับการใช้งาน 5G จะได้รับสิทธิพิเศษใช้งานดาต้าได้ฟรี ในระยะแรก เหมือนในช่วงที่เปลี่ยนผ่านจาก 3G มายัง 4G บรรดาโอเปอเรเตอร์ก็จะให้ลูกค้าที่มีแพ็กเกจดาต้าเดิมที่มีเครื่องรองรับสามารถใช้งานได้ทันที พร้อมกับด้วยมาตรการกำกับดูแลของทางกสทช. ที่ได้มีการกำหนดเรื่องค่าบริการอยู่แล้ว ทำให้การใช้งาน 5G จะไม่เป็นภาระแก่ผู้บริโภคอย่างแน่นอน

***สู่แนวทาง 5G ของแต่ละค่าย

เมื่อการที่แต่ละโอเปอเรเตอร์ เริ่มมีความแตกต่างในการถือครองคลื่นความถี่ ทำให้เริ่มเห็นกลยุทธ์ในการทำตลาดที่ชัดเจนของแต่ละค่ายมากขึ้น ไล่ตั้งแต่ผู้นำตลาดอย่าง เอไอเอส ที่แม้ว่าก่อนหน้านี้ในยุคของ 3G และ 4G จะไม่ใช่รายแรกที่เปิดให้บริการ แต่พอมาในยุคของ 5G แล้ว เอไอเอส ไม่ยอมช้าอีกต่อไป

ดังที่เห็นได้จากแผนการให้บริการ 5G ทั้งในมุมของผู้บริโภค และเดินหน้าเข้าไปร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม เข้าไปทดลองทดสอบนำ 5G ไปใช้ในโรงงาน เพื่อช่วยให้องค์กรธุรกิจสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด

ความได้เปรียบของ เอไอเอส ที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือการที่ถือครองคลื่นความถี่มากถึง 1420 MHz ครอบคลุมทั้งย่านคลื่นความถี่ต่ำ กลาง และสูง ทำให้สามารถให้บริการเครือข่ายได้เต็มประสิทธิภาพทั้งเรื่องของความครอบคลุม และความเร็วได้มากที่สุด


ในขณะที่ทรูมูฟ เอช ถือครองคลื่นความถี่ทั้งหมด 1020 MHz และเป็นโอเปอเรเตอร์ที่ถือครองคลื่นความถี่หลากหลายย่านมากที่สุดถึง 7 ย่านความถี่ โดยเฉพาะย่านคลื่นความถี่ต่ำ ที่สามารถให้บริการได้ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด

ผู้บริหารกลุ่มทรู มองว่า เกมของทรูในเวลานี้คือการถือครองคลื่นความถี่ที่ดีที่สุด ในราคาที่คุ้มค่าที่สุด และทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ซึ่งหลังจากนี้กลุ่มทรูจะเดินหน้าสื่อสารโครงการ 'First 5G Citizen' ผ่านบุคคลต้นแบบ 5 แวดวง ทั้งความปลอดภัย การศึกษา สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความบันเทิง เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงการนำ 5G มาใช้งานได้ง่ายที่สุด


ขณะที่ ดีแทค แม้ว่าจะถือครองคลื่นเพียง 330 MHz แต่ยังเชื่อมั่นว่าคลื่นความถี่ที่มีเพียงพอกับการให้บริการทั้ง 3G 4G และ 5G ในอนาคต เพียงแต่ปัจจุบันจะเน้นการนำคลื่นความถี่ไปเสริมศักยภาพของ 4G เพื่อให้คนไทยทุกคนได้ใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ตที่เร็วขึ้นก่อน

แผนการนำ 5G มาใช้งานของ ดีแทค แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ด้วยกันคือการนำคลื่น 26 GHz มาเปิดให้บริการในรูปแบบของ Fixed Wireless Broadband เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วสูงผ่านเครือข่ายไร้สายแบบประจำที่ ซึ่งจะเริ่มให้บริการภายในไตรมาส 2 ปีนี้

ส่วนการให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ จะเน้นที่ความครอบคลุมก่อนบนคลื่น 700 MHz ซึ่งปัจจุบันดีแทค ยอมรับว่ามีปัญหาในเรื่องความครอบคลุมของสัญญาณ เนื่องจากคลื่นหลักที่ใช้งานเป็นย่านคลื่นความถี่กลาง การได้คลื่นความถี่ต่ำมาจะทำให้ภายในปีนี้สัญญาณของดีแทคจะครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

***ปูทางตั้งแต่ให้โอเปอเรเตอร์ทดลอง ทดสอบ

อย่างที่ทราบกันว่าเทคโนโลยี 5G ถือเป็นการก้าวเข้าสู่การสื่อสารยุคใหม่ที่ทั่วโลกต่างกำลังเร่งศึกษาวิธีการนำไปใช้งานเพื่อให้เกิดประโยชน์ โดยมีแค่ไม่กี่ประเทศที่เริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์ไปแล้วอย่างในจีน เกาหลีใต้ สหรัฐฯ และในยุโรปบางประเทศ

แต่กลายเป็นว่าหลังการประมูลคลื่น 5G โอเปอเรเตอร์ในไทยกลับมีความพร้อมในการเริ่มให้บริการทันที หนึ่งในสาเหตุหลักก็คือแผนที่ 'ฐากร' วางไว้เช่นกัน ด้วยการเปิดให้โอเปอเรเตอร์สามารถยื่นเรื่องเพื่อขอทดลอง ทดสอบใช้งานคลื่น 5G ก่อนล่วงหน้าถึง 1 ปี เพื่อที่จะได้ศึกษา และเตรียมความพร้อมก่อนเข้าร่วมประมูล

ข้อดีจากการเปิดให้ทดลอง ทดสอบ นอกเหนือจากการเตรียมความพร้อมของโอเปอเรเตอร์แล้ว ยังช่วยให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเกิดการตื่นตัว โดยเฉพาะในภาคของการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัย ที่เข้ามาเป็นส่วนช่วยสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดนำ 5G ไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ

อย่างที่เริ่มเห็นกันแล้วคือการนำไปใช้ในโรงงานผลิต เตรียมนำไปใช้กับการควบคุมเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูง หรืออย่างในแง่ของสาธารณสุขที่นำระบบรักษาและให้คำปรึกษาผ่านทางไกลผ่านระบบ Telemedicine มาใช้งาน ในช่วงที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาดอยู่ในเวลานี้

จากความสำเร็จในการประมูล 5G พร้อมทั้งการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ของโอเปอเรเตอร์ ซึ่งถือได้ว่าไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศอันดับต้นๆ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาติในทุกภาคส่วน เพื่อสนับสนุนการต่อยอดการใช้งาน 5G ในภาคอุตสาหกรรม โดยจะนำรายชื่อคณะกรรมการเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ

ด้วยศักยภาพดังกล่าวของประเทศไทย 'ฐากร' จึงได้มีการหารือกับฮูลิน ซาว เลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) เพื่อเสนอให้ ITUมีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานไอทียู เทเลคอม เวิลด์ 2021 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนพ.ค. 2564


กำลังโหลดความคิดเห็น