xs
xsm
sm
md
lg

อรุณรุ่ง โทรคมไทย (ตอนที่ 2) 4G : ก้าวสู่ยุคโซเชียลมีเดียครองเมือง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
เมื่อแจ้งเกิด 3G โอเปอเรเตอร์เหมือนเสือติดปีก รับลูกกับกสทช.ที่เปิดประมูลคลื่นทั้ง 1800 MHz 900 MHz ดันไทยก้าวสู่ 4G ชั่วพริบตา เกิดความต้องการใช้งานสื่อสารข้อมูลหรือดาต้า เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคคนไทยเข้าถึงได้อย่างแพร่หลาย ทำให้แอปพลิเคชัน OTT ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูป เกิดการใช้งานต่อเนื่อง แทบไม่ลืมหูลืมตา ปริมาณดาต้าเติบโตขึ้นหลายเท่าตัว

***เริ่มจาก ใช้ 4G ออฟโหลดการใช้งาน 3G

หลังจากที่ค่ายมือถือในประเทศไทยเริ่มให้บริการ 3G สิ่งที่ตามมาคือการเพิ่มขึ้นของปริมาณการใช้งานดาต้าอย่างก้าวกระโดด ทำให้แบนด์วิดท์ที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการส่งต่อข้อมูลความเร็วสูง ทำให้ทุกค่ายต่างเร่งมองหาวิธีการที่จะปรับเปลี่ยนการให้บริการ 3G มาเป็น 4G ให้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการนำคลื่น 2100 MHz ที่ประมูลมาสำหรับให้บริการ 3G บางส่วนมาให้บริการ 4G จนถึงการนำคลื่นบนสัญญาสัมปทานเดิมที่ถือครองอยู่มาให้บริการ 4G

เป้าหมายหลักในการนำ 4G มาให้บริการในช่วงแรกคือการเข้าไปช่วยให้การใช้งานเครือข่าย 3G ในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่นให้ผ่อนคลายลง ทำให้ได้เห็นการประเดิมเปิดให้บริการ 4G ของทรูมูฟ เอช ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2556 เป็นรายแรกในประเทศไทย บนคลื่น 2100 MHz

ตามมาด้วย ดีแทค ที่เริ่มเปิดให้บริการ 4G ในเดือนพฤษภาคม 2557 ด้วยการแบ่งคลื่น 2100 MHz จำนวน 2x5 MHz มาให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ ก่อนได้รับอนุญาตให้เปิดบริการ 4G บนคลื่นสัมปทาน 1800 MHz ช่วงแรก 15 MHz และขยายมาเป็น 20 MHz (Super 4G) ในภายหลัง ก่อนที่คลื่น 1800 MHz จะสิ้นสุดสัมปทานไปเมื่อกันยายน 2561 ที่ผ่านมา


โดยในระหว่างที่ทั้งทรูมูฟ เอช และดีแทค เริ่มให้บริการ 4G กลายเป็นว่า เอไอเอส กลับติดปัญหาในเรื่องของคลื่นความถี่ ที่ไม่เพียงพอกับการนำมาให้บริการ 4G ทำให้จนถึงปลายปี 2558 เอไอเอส เร่งขยายโครงข่าย 3G 2100 MHz ได้ครอบคลุมพื้นที่อยู่อาศัยมากกว่า 98% ของประชากร ไปพร้อมกับเพิ่มจุดให้บริการ AIS WiFi และ AIS Super WiFi มาช่วยออฟโหลดการใช้งานแทน 4G ไปก่อน

ช่วงนี้ ถือเป็นช่วงที่ยากลำบากที่สุดของ เอไอเอส ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมก็ว่าได้ เพราะคลื่นความถี่ 900 MHz ที่ได้รับสัมปทานมาจะหมดลงในเดือนกันยายน 2558 ไม่นับรวมกับ 1800 MHz บนสัญญาสัมปทานของ DPC ที่หมดไปก่อนหน้านี้ตั้งแต่ กันยายน 2556 จึงเหลือเฉพาะคลื่น 2100 MHz ให้บริการ 3G แก่ลูกค้ากว่า 38 ล้านเลขหมาย

***สู่การประมูล 4G ทำสถิติโลก

เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 4G ในประเทศไทยมีการให้บริการครอบคลุมพื้นทั่วประเทศอย่างแท้จริง คือการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ในเดือนพฤศจิกายน 2558 และคลื่น 900 MHz ในเดือนธันวาคม 2558

โดยในการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ทั้ง 2 ใบอนุญาตที่จะได้ถือครองคลื่นความถี่ 18 ปี เป็นการประมูลที่ถือว่ามีการแข่งขันสูง จากผู้เข้าร่วมประมูล 4 ราย ไม่ว่าจะเป็น เอไอเอส ทรูมูฟ เอช ดีแทค และ แจส โมบาย ที่เข้ามาร่วมวงประมูลด้วย ก่อนปิดท้ายการประมูลที่ใช้เวลาไปกว่า 30 ชั่วโมง


ในรอบนั้น เอไอเอส คว้าคลื่น 1800 MHz 1 ใบอนุญาต จำนวน 2x15 MHz ราคา 40,986 ล้านบาท ขณะที่ทรูมูฟ เอช ได้คลื่น 1 ชุดใบอนุญาต เช่นกัน ในราคา 39,792 ล้านบาท ซึ่งการได้คลื่น 1800 MHz มาในครั้งนี้ ถือว่าช่วยต่อลมหายใจให้กับทาง เอไอเอส ที่จะมีคลื่นความถี่มาให้บริการลูกค้า ก่อนประกาศเปิดให้บริการ AIS 4G Advance ในวันที่ 26 มกราคม 2559


ขณะที่การประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz จำนวน 2 ชุดใบอนุญาต จำนวน 2x10 MHz ที่ทรูมูฟ เอช และ แจส โมบาย ประมูลชนะไป แต่กลับเกิดเหตุการณ์ทิ้งใบอนุญาตของทาง แจส โมบาย ที่ดันราคาประมูลขึ้นไปถึง 7.5 หมื่นล้านบาท แต่กลายเป็นว่าไม่ชำระค่าใบอนุญาต ทำใหกสทช. สั่งปรับเงินค่าเสียหายจากการจัดประมูลไป 200.5 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) รวมกับเงินประกันการเข้าประมูลอีก 644 ล้านบาท

ช่วงเวลานั้นหลายๆ ฝ่ายต่างออกมาวิเคราะห์ถึงความเป็นธรรมที่ควรจะมอบให้แก่ผู้เข้าประมูล เนื่องจากการที่ แจส เข้ามาปั่นราคาประมูลคลื่นจนทำสถิติโลกว่าเป็นราคาคลื่นความถี่ที่แพงที่สุดติดอันดับโลก และสูงกว่าราคาประเมินไว้ถึง 3 เท่า

จนกระทั่งกสทช.ได้จัดการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz รอบที่ 2 ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 ซึ่งทาง เอไอเอส ได้พิจารณาแล้วว่า แม้เป็นราคาที่สูงแต่เชื่อว่าการเข้ารับช่วงต่อในครั้งนี้ จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ของอุตสาหกรรมโทรคม ที่เกิดจากการทิ้งใบอนุญาตได้ ทำให้ท้ายที่สุดการประมูลคลื่น 900 MHz ทางทรูมูฟ เอช ได้ไป 1 ใบอนุญาต มูลค่า 76,298 ล้านบาท ส่วนทาง เอไอเอส ก็เข้ารับใบอนุญาตในราคาที่ แจส ประมูลไว้ 75,654 ล้านบาท และนำคลื่น 900 MHz ที่เดิมถือครองอยู่ในระบบสัปมทานมาให้บริการลูกค้า 2G ต่อเนื่อง พร้อมกับขยับมาให้บริการ 4G ในเวลาต่อมา



นอกจากการประมูลครั้งสำคัญ 2 ครั้งนี้แล้ว กสทช. ก็มีการประมูลคลื่น 1800 MHz อีกครั้งในวันที่ 19 สิงหาคม 2561 ซึ่งเป็นช่วงคลื่นความถี่ที่ ดีแทค หมดสัมปทาน และนำมารวมกับคลื่นที่ยังไม่ได้รับการจัดสรร ออกมาประมูล 9 ใบอนุญาต ใบละ 2x5 MHz

ในการประมูลคลื่น 1800 MHz รอบหลังนี้ ทาง เอไอเอส และ ดีแทค เป็น 2 รายที่เข้าร่วมการประมูล และเคาะราคากันไปรายละ 1 ครั้ง ตามเงื่อนไขการประมูล ทำให้ได้คลื่นความถี่ 1800 MHz ไปค่ายละ 1 ใบ จำนวน 2x5 MHz ในราคารายละ 12,511 ล้านบาท

ตามด้วยการประมูลคลื่น 900 MHz อีก 1 ชุด ใบอนุญาต จำนวน 2x5 MHz ในวันที่ 28 ตุลาคม 2561 ซึ่ง ดีแทค เข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียว แลกกับการต่อรองยืดระยะเวลาใช้คลื่นความถี่ 850 MHz ที่หมดสัมปทานออกไปอีก 24 เดือน เพื่อย้ายลูกค้าไปยังคลื่น 900 MHz ที่ประมูลได้มา เพื่อไม่ให้กระทบกับการใช้งาน

***เสริมด้วยคลื่น 4G จากรัฐวิสาหกิจ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงการขยายตัวของการใช้งาน 4G ที่เพิ่มขึ้น ทำให้การประมูลคลื่นเพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้ ทำให้ทั้ง เอไอเอส และดีแทค เริ่มหันมามองถึงการเข้าไปเป็นพันธมิตรกับรัฐวิสาหกิจในการนำคลื่นความถี่มาให้บริการ ในลักษณะเดียวกับที่ทางกลุ่มทรู ทำสัญญาบีเอฟเคที กับทาง กสท โทรคมนาคม

เริ่มกันจาก เอไอเอส ที่เข้าไปเป็นพันธมิตรกับทาง ทีโอที นำคลื่นความถี่ 2100 MHz จำนวน 2x15 MHz มาให้บริการในรูปแบบโรมมิ่ง (AIS-T) ขณะที่ ดีแทค ทำสัญญาร่วมกับทาง ทีโอที นำคลื่นความถี่ 2300 MHz ที่มีขนาดแบนด์วิดท์กว้างถึง 60 MHz มาให้บริการ (dtac-T) ที่ช่วยเพิ่มแต้มต่อให้แก่ดีแทค ในการให้บริการ 4G ความเร็วสูง เนื่องจากปริมาณแบนด์วิดท์ที่กว้างกว่าใคร


การที่ ดีแทค เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับทาง ทีโอที ยังได้เปิดรูปแบบการให้บริการคลื่นความถี่ 4G LTE บนคลื่น 2300 MHz ในรูปแบบของ TDD (Time Division Duplex) ที่ใช้ช่วงคลื่นผืนเดียวกันมาให้บริการ แตกต่างจาก 4G บนคลื่นความถี่ 2100 MHz 1800 MHz 900 MHz ที่ใช้เทคโนโลยี FDD (Frequency Division Duplex) ซึ่งต้องแบ่งช่วงคลื่นความถี่เป็นคลื่นส่ง และคลื่นรับ ทำให้มีข้อจำกัดในเรื่องของความเร็ว

เนื่องจากในอนาคตเทคโนโลยีการนำคลื่นความถี่แบบ TDD มาใช้งาน จะมีความสำคัญมากขึ้นในยุคของ 5G โดยเฉพาะในคลื่นความถี่ย่านกลาง และสูง เพื่อทำให้ความเร็วในการรับ-ส่งสัญญาณ ได้ความเร็วที่ดีที่สุดต่อไป ทำให้ภาพรวมแล้วในยุคของการประมูลคลื่น 4G กสทช. มีการประมูลหลักๆ ด้วยกัน 2 คลื่นคือ 1800 MHz จำนวนทั้งหมด 2x40 MHz ส่วนคลื่น 900 MHz มีการประมูลไป 2x25 MHz เมื่อรวมกับคลื่น 2100 MHz จำนวน 2x45 MHz ที่ประมูลไปในยุคของ 3G ก่อนหน้านี้
ประกอบเข้ากับการทำสัญญาพันธมิตรกับทั้ง ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ทำให้โอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 รายหลัก มีคลื่นความถี่เพียงพอกับการให้บริการทั้ง 2G 3G และ 4G พร้อมไปกับการเติบโตของทั้งผู้ใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ต และปริมาณดาต้าไปในตัว

***ยุคโซเชียลบูม ดาต้าโต 6 เท่า

ข้อมูลปริมาณการใช้งานดาต้าเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนของ เอไอเอส ตั้งแต่สิ้นปี 2558 - 2562 แสดงให้เห็นอัตราการเติบโตของการใช้งานโมบายดาต้าในประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยในช่วงปลายปี 2558 อัตราการใช้งานข้อมูลเฉลี่ยต่อรายจะอยู่ที่ 2.1 GB เท่านั้น และข้อมูลล่าสุดคือในช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 12.7 GB ต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้น 6 เท่าตัว ในช่วง 5 ปี ที่โอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 รายให้บริการ 4G เชิงพาณิชย์


จุดที่น่าสนใจคือค่าบริการเฉลี่ยของผู้ใช้งาน ที่แม้ว่าจะมีการใช้งานดาต้าเพิ่มสูงขึ้น 6 เท่าตัว แต่ในเรื่องของค่าบริการเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนของผู้ให้บริการทั้ง 3 ราย ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นได้ชัดถึงมาตรการควบคุมราคาค่าบริการของหน่วยงานกำกับดูแล ที่แม้ว่าโอเปอเรเตอร์จะประมูลคลื่นความถี่ โดยเฉพาะคลื่น 900 MHz ไปในระดับราคาที่สูงกว่าราคาที่ประเมินไว้ แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคให้ต้องแบกรับค่าคลื่นไปด้วย

ขณะเดียวกัน สภาพการแข่งขันในตลาดเริ่มให้ความสำคัญกับลูกค้ารายเดือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจากโปรโมชันส่วนลดค่าสมาร์ทโฟน ร่วมกับแพกเกจการใช้งานดาต้า และการแย่งชิงลูกค้าย้ายค่ายจากคู่แข่ง ทำให้เกิดสงครามราคาขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
เสริมด้วยข้อมูลสำรวจการใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยจาก We are Social และ Hootsuite ที่แสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมการใช้งานสมาร์ทโฟนในไทยนั้นเติบโตเป็นอย่างมาก โดยจากจำนวนประชากร 69.71 ล้านคน มีการใช้งานโทรศัพท์ 93.39 ล้านเลขหมาย คิดเป็น 134% ของจำนวนประชากร

ส่วนการใช้งานโมบาย อินเทอร์เน็ตในไทยก็เพิ่มสูงขึ้นเป็น 50.18 ล้านราย โดยมีการใช้งานเฉลี่ยในแต่ละวันสูงถึง 4 ชั่วโมง 57 นาที โดยเฉพาะการใช้งานโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook และ YouTube ที่ติด 1 ใน 10 ประเทศที่มีจำนวนผู้ใช้ และเวลาที่รับชมมากที่สุดในโลก

เช่นเดียวกับการขยายตัวของผู้ให้บริการดิจิทัลคอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็นสตรีมมิ่งคอนเทนต์อย่าง Netflix, Viu, WeTV และ LINE TV และการปรับตัวในการให้บริการคอนเทนต์แพลตฟอร์มของโอเปอเรเตอร์อย่าง TrueID และ AIS Play ที่เข้ามาจับกลุ่มลูกค้าใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนกันมากขึ้น

จากที่เห็นกันว่าในยุค 3G ไทยถือเป็นผู้ตามในการนำเทคโนโลยีมาใช้งาน พอมาในยุค 4G ที่แม้ว่าประเทศไทยจะลงทุนช้าไปบ้าง เพราะต้องรอการประมูลคลื่นความถี่มาให้บริการแต่ในภาพรวมก็ทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเติบโตขึ้น ทั้งจำนวนผู้ใช้งาน และปริมาณดาต้า แต่จุดที่ทำให้ประเทศไทยก้าวจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำโทรคม ในอาเซียนได้อยู่ที่ยุคของ 5G


กำลังโหลดความคิดเห็น