เลขาธิการกสทช. เตรียมวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์กับเลขาธิการไอทียู เสนอเป็นเจ้าภาพจัดงานไอทียู เทเลคอม เวิลด์ 2021 จากปัจจัยไทยเป็นประเทศที่ขับเคลื่อน 5G เชิงพาณิชย์รายแรกในอาเซียน ส่วนสถานการณ์โควิด-19 อาจทำให้เศรษฐกิจซบเซา 3-4 เดือน แต่กลับพบยอดใช้งานออนไลน์โตขึ้นสอดคล้องกับการเร่งเปิดใช้งาน 5G เพื่อรองรับปริมาณการใช้งาน
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ จะมีการหารือกับนายฮูลิน ซาว เลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ เพื่อรายงานความคืบหน้าภายหลังการประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2563 ซึ่งถือได้ว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศอันดับต้นๆ ที่จัดการประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G ในรูปแบบบริการเชิงพาณิชย์โดยสมบูรณ์ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาติในทุกภาคส่วน เพื่อสนับสนุนการต่อยอดการใช้งาน 5G ในภาคอุตสาหกรรม โดยจะนำรายชื่อคณะกรรมการเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
“ด้วยศักยภาพดังกล่าวของประเทศไทย จึงจะเสนอให้ไอทียูมีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานไอทียู เทเลคอม เวิลด์ 2021 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนพ.ค. 2564 ซึ่งหากมีมติเห็นชอบจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป”
ขณะเดียวกันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วง 3-4 เดือนนี้จะยังคงซบเซาต่อเนื่อง แต่รายงานของแอปพลิเคชันพฤติมาตรของสำนักงาน กสทช. พบว่า ระหว่างเดือนม.ค.และเดือนก.พ. 2563 ประชาชนมีการใช้งาน 4 แอปพลิเคชัน ได้แก่ เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, ไลน์ และยูทูป เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะทวิตเตอร์ที่มีการใช้งานเพิ่มขึ้น 266.43% ถัดมาคือ ไลน์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 154.26% ขณะที่ การสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ผ่าน 3 แอปพลิเคชัน ได้แก่ ลาซาด้า ช้อปปี้ และแกร็บ เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยช้อปปี้มีการใช้งานเพิ่มขึ้น 478.59% รองลงมาคือ ลาซาด้า ซึ่งเพิ่มขึ้น 121.52%
ดังนั้น ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) จะต้องเร่งเปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศโดยเร็ว เพราะด้วยศักยภาพของ 5G ที่ให้ความเร็วสูงในระดับกิกะบิตต่อวินาที จะช่วยตอบสนองความต้องการใช้งานเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะช่วยให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะนี้ มีการขยายตัวดีขึ้นในบางเซกเตอร์ เพื่อชดเชยบางเซกเตอร์ที่ชะลอตัวลง”
นายฐากร กล่าวต่อว่า การให้บริการ 5G อย่างครอบคลุมทั่วประเทศ โอเปอเรเตอร์จะต้องมีการลงทุนขยายโครงข่ายเป็นจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมามีอุปสรรค คือ ประชาชนเป็นกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพจากการตั้งเสาสัญญาณ อาทิ การนอนไม่หลับ เป็นมะเร็ง ก่อให้เกิดผลต่อสุขภาพอื่นๆ โดยก่อนหน้านี้ สำนักงาน กสทช. ได้มีหนังสือถึงองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อขอความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว ซึ่งได้รับการยืนยันจากผลการศึกษาช่วงระยะเวลา 10 ปี (ปี 2539-2549) ระบุว่า ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถชี้ได้ว่าการส่งสัญญาณในคลื่นความถี่ระหว่าง 0-300 GHz จากสถานีฐานส่งผลกระทบต่อสุขภาพ จึงขอให้โอเปอเรเตอร์สร้างการรับรู้กับประชาชน เพื่อให้เกิดความสบายใจ สามารถขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมเข้าถึงได้ในทุกพื้นที่
นอกจากนี้ ยังได้รับการประสานจาก บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่าจะเข้าชำระเงินค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz งวดแรกจำนวน 1,912,399,111 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หรือคิดเป็น 10% ของราคาค่าใบอนุญาต 19,123,991,110 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) พร้อมรับใบอนุญาต และวางหนังสือค้ำประกัน (แบงก์การันตี) จากธนาคารเพื่อค้ำประกันการชำระเงินค่าใบอนุญาตในส่วนที่เหลือจำนวน 17,211,591,999 ล้านบาท ในวันที่ 16 มี.ค. 2563
ทั้งนี้ การชำระค่าใบอนุญาต คลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz จะแบ่งเป็น 7 งวด ได้แก่ งวดที่ 1 จำนวน 10% และงวดที่ 2-7 จำนวนงวดละ 15% (ปีที่ 5-10) โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ภายใน 1 ปี และครอบคลุม 50% ของประชากรในเมืองอัจริยะ (สมาร์ทซิตี้) ภายใน 4 ปี