xs
xsm
sm
md
lg

"AIS 5G" ใช้งานจริง ไม่ใช่แค่ทดสอบ ดันไทยที่ 1 ในอาเซียนให้บริการ 5G บนมือถือ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปรัธนา ลีลพนัง
แม้ว่า เอไอเอส จะไม่ได้เป็นผู้นำในการให้บริการ 3G และ 4G จากที่ในช่วงก่อนหน้านี้มีปัญหาเรื่องของคลื่นความถี่ไม่เพียงพอ จนทำให้ไม่สามารถเปิดให้บริการเป็นรายแรกในประเทศไทยได้ แต่ไม่ใช่ในยุคของ 5G ที่ปักธง ลงโครงสร้างฐาน เตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ปรับเปลี่ยนสถานีฐานที่ให้บริการ 4G เดิมกดสวิตซ์เปิดสัญญาณ 5G ให้บริการในพื้นที่ใจกลางเมืองได้ทันที

หลังชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 2600 MHz ให้แก่กสทช.ในช่วงเช้าวันที่ 21 กุมภาพันธ์ และบ่ายวันเดียวกัน เอไอเอสได้เรียนเชิญให้ประธานกสทช. มาร่วมเป็นประธานเปิดใช้งาน 5G เชิงพาณิชย์ในประเทศไทย

ปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ระบุว่า การเปิดให้บริการ 5G ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ นั้นทำให้ประเทศไทย กลายเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เปิดให้บริการ 5G ผ่านทางโทรศัพท์มือถือทันที

เนื่องจากก่อนหน้านี้ในประเทศฟิลิปปินส์ ก็มีเปิดให้บริการ 5G แล้ว แต่เป็นในรูปแบบของการนำไปให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วสูงไร้สาย เพื่อให้บริการแก่ลูกค้า ซึ่งไม่ใช่การใช้งาน 5G โดยตรง

ประเด็นสำคัญคือในช่วงเวลาที่ เอไอเอส ออกสตาร์ทให้บริการ 5G ก่อนใครนั้น ทำให้ต้องพบกับความท้าทายในการสื่อสาร เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงการใช้งาน 5G ที่ถือว่าใหม่มากๆ สำหรับประเทศไทย และเรียกได้ว่าใหม่มากสำหรับโลกเทคโนโลยีก็ได้เช่นกัน เพราะปัจจุบันยุคของ 5G อยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น การที่เอไอเอส เข้ามาให้บริการ 5G ก็ต้องเรียนรู้ และพัฒนาไปพร้อมกับการให้ความรู้ในแง่เทคโนโลยีให้แก่ผู้ใช้


ไม่เหมือนกับในยุคของ 3G ที่ไทยเรียกได้ว่าให้บริการในช่วงปลายของยุคแล้ว โอเปอเรเตอร์รายอื่นๆ ทั่วโลกมีการศึกษาเทคโนโลยีทำให้สามารถเรียนรู้ และนำมาปรับใช้ให้บริการได้ทันที

ขณะที่ในยุคของ 4G ไทยถือว่าเริ่มให้บริการในช่วงที่เทคโนโลยีกำลังพัฒนาแบบก้าวกระโดด ซึ่งเอไอเอส ก็ได้มีการพัฒนาบริการอย่าง Next G ขึ้นมาล้ำหน้าโอเปอเรเตอร์รายอื่นๆ ในโลกด้วยการเชื่อมต่อ 4G ร่วมกับ WiFi เพื่อให้สามารถทำความเร็วได้ระดับ Gigabit

ถ้ามองย้อนไปดูจะเห็นได้ว่า เอไอเอส มักจะประสบปัญหาในการให้บริการทั้งยุคของ 3G และ 4G ที่มีคลื่นความถี่ไม่เพียงพอกับการให้บริการ จากการหมดสัมปทานคลื่นความถี่ ต่อเนื่องจนการประมูลล่าช้า รวมถึงเหตุการณ์ลูกค้า 2G ซิมดับ

จนมาปลดล็อกได้ในช่วงการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz ที่ทำให้ประสบการณ์ใช้งานของผู้บริโภคกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง แลกมาด้วยต้นทุนในการประมูลคลื่นความถี่ที่สูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก

***5G ที่ต้องเรียนรู้ และให้ความรู้ไปพร้อมกัน

เมื่อดูจากแผนงานที่เอไอเอส เริ่มแสดงให้เห็นออกมา ไม่ว่าจะเป็นการเข้าประมูลคลื่น 5G ไปจนได้คลื่นความถี่มาถือครองมากที่สุดในไทย และถือครองคลื่นความถี่ที่มีแบนด์วิดท์ระดับ 100 MHz เทียบเท่ากับโอเปอเรเตอร์รายใหญ่ในโลกที่ให้บริการ 5G

โดยเฉพาะการนำ Usecase ไปใช้งานในแต่ละภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เห็นภาพของการนำ 5G ไปใช้งานให้ตรงจุดมากที่สุด ที่คาดว่าในช่วงแรกอุตสาหกรรมการผลิตจะเป็นอุตสาหกรรมแรกที่นำ 5G ไปใช้งาน ตามด้วยภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีความหลากหลาย จนทำให้เกิดความสงสัยว่าจริงๆ แล้ว 5G เหมาะกับใครกันแน่ เพราะในช่วงที่ผ่านมา ซีอีโอ เอไอเอส อย่าง "สมชัย เลิศสุทธิวงค์" ย้ำนักย้ำหนาว่า ยังเร็วไปที่จะนำ 5G มาใช้งาน เพราะอาจจะต้องใช้เวลาอีก 2 ปี และกว่าอีโคซิสเตมส์จะสมบูรณ์จริงๆ อาจต้องรอถึง 5 ปีข้างหน้า

เหตุผลนี้ ถูกซัปพอร์ตด้วยรูปแบบการนำ 5G มาใช้งานในปัจจุบันที่ยังค่อนข้างจำกัดอยู่ที่การนำเรื่องของความเร็วในการเชื่อมต่อ ความหน่วง และอัตราการเข้าถึงที่เร็วขึ้นมาใช้งาน ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชัน หรือบริการที่รีดประสิทธิภาพในการใช้งานเหล่านี้ออกมาให้ผู้บริโภคได้ใช้งานกันอย่างเต็มที่

ประกอบกับสมาร์ทโฟนรุ่นที่รองรับการใช้งาน 5G บนคลื่นความถี่ 2600 MHz ที่แม้ว่าจะเป็น 1 ในคลื่นหลักที่ให้บริการรองจาก 3500 MHz จำนวนรุ่นที่รองรับตอนนี้ ยังนับนิ้วได้ครบ ไม่ว่าจะเป็น Huawei Mate 30 Pro 5G ที่รองรับ และใช้งานได้ทันที ตามด้วย Samsung Galaxy S20 Ultra 5G และ OPPO Find X2 5G และจนถึงปลายปีเชื่อว่าจะมีราว 30 รุ่นเท่านั้น

สิ่งที่เอไอเอส เริ่มลงมือหลังประมูลคลื่น 5G คือการออกมาสื่อสารเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการนำคลื่นความถี่มาใช้งานให้ได้ประโยชน์สูงที่สุด โดยเฉพาะการนำไปรองรับลูกค้าทั่วไปที่ยังไม่มีเครื่อง 5G ใช้งาน เพราะคลื่น 2600 MHz สามารถนำมาให้บริการ 4G ในเทคโนโลยีของ TDD-LTE ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นในพื้นที่ที่มีการใช้งาน 5G ก็จะได้เห็นการนำคลื่น 2600 MHz มาให้บริการทั้ง 4G และ 5G ในพื้นที่เดียวกัน

ส่วนในพื้นที่ที่ไม่มีการใช้งาน 5G คลื่น 2600 MHz ทั้งหมดก็จะถูกปรับมาให้บริการ 4G แบบอัตโนมัติจากเทคนิคของ Dynamic Spectrum Sharing เพื่อรองรับการใช้งานของลูกค้า และช่วยทำให้ประสบการ์ใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ตโดยรวมของลูกค้าดีขึ้น


ขณะที่การใช้งาน 5G ที่เกิดประโยชน์จริงๆ สำหรับผู้บริโภคทั่วไป อาจจะได้เห็นกันในรูปแบบของการให้บริการเกม ในลักษณะของเวอร์ชวลเรียลลิตี้ ในการนำ AR/VR มาใช้งาน หรือการให้บริการคอนเทนต์แพลตฟอร์ม ที่สตรีมมิ่งวิดีโอความละเอียด 4K มาให้รับชมกันผ่านอุปกรณ์ต่างๆ

จนถึงการนำ 5G มาให้บริการในลักษณะของไวร์เลสบรอดแบนด์ที่จะช่วยให้ลูกค้าที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงไฟเบอร์ สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วสูงด้วย ซึ่งทางเอไอเอส ก็ระบุว่ากำลังอยู่ในช่วงพัฒนาและจะมีออกมาให้ใช้งานกันแน่นอน

***ขยายเพิ่ม 2 เท่าทุกสัปดาห์

การเริ่มให้บริการ 5G ของ AIS ในช่วงแรกจะเริ่มจากพื้นที่ใจกลางเมืองก่อนขยายไปตามหัวเมืองใหญ่ๆ โดยคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะให้บริการในหัวเมืองใหญ่ได้ครบ จากที่ปัจจุบันให้บริการเฉพาะจุดครอบคลุมประมาณ 25 ตารางกิโลเมตรในกรุงเทพฯ และจุดหลักๆ ในเชียงใหม่ ภูเก็ต นครราชสีมา ชลบุรี และนครปฐม

วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส กล่าวเสริมว่า การขยายพื้นที่ให้บริการ 5G จะเพิ่มขึ้น 2 เท่าในทุกๆ สัปดาห์ โดยในบางจุดที่ยังไม่พบการใช้งานเครื่องที่รองรับ 5G ก็จะปรับมาให้บริการ 4G บนคลื่น 2600 MHz แทน

***ใช้งานได้จริง ไม่ใช่แค่ทดสอบ

นอกจากเรื่องของความพร้อมในการให้บริการแล้ว ประโยคที่ เอไอเอส ออกมาย้ำซ้ำๆ คือการให้บริการ 5G ของเอไอเอสไม่ใช่เพียงการทดลองทดสอบด้วยเครื่องและซิมทดสอบ บนเครือข่ายที่ใช้เพื่อทดลองทดสอบเท่านั้น แต่เป็นการใช้งานบนเครื่องที่วางจำหน่ายจริง และซิมของลูกค้าจริง

โดยเปิดให้ทั้งลูกค้าที่มีสมาร์ทโฟน 5G เดิมที่รองรับอยู่แล้วใส่ซิมเอไอเอส เพื่อตรวจสอบสิทธิและกดสมัครใช้งานได้ทันที หรือถ้าเป็นลูกค้าที่สั่งซื้อสมาร์ทโฟน 5G กับทางเอไอเอส ก็จะพร้อมใช้งานได้ในวันที่ 5 มีนาคมนี้ โดยในช่วงแรก จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนจะเปิดให้ใช้งานฟรีไปก่อน


รูปแบบการลงมือทำจริงนี้ ทั้งการเข้าไปจ่ายค่าใบอนุญาต เตรียมความพร้อมให้ลูกค้าใช้งาน จึงเป็นการตอกย้ำในเรื่องของการเป็นผู้นำ 5G ในประเทศไทย ที่ไม่ใช่แค่การนำมาทดลองทดสอบก่อนใคร แต่เปิดให้ผู้บริโภคได้สัมผัส และใช้งานจริง บนเครื่องที่ซื้อมาใช้งาน

***ภาคอุตสาหกรรม ยังเป็นส่วนหลักที่ได้ประโยชน์จาก 5G

ในมุมของคอนซูเมอร์ เราได้เห็นการเชื่อมต่อที่เร็วขึ้นระดับ Gigabit บนสมาร์ทโฟน แต่ประโยชน์จริงๆ ของ 5G ยังคงเหมาะกับการนำไปใช้งานในภาคอุตสาหกรรมมากกว่า โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิต อย่างที่เอไอเอส เข้าไปร่วมทดสอบกับทางเอสซีจี ในการควบคุมรถระยะไกล และสามารถต่อยอดไปใช้กับการควบคุมการเผาปูน ระเบิดหิน ที่มีความเสี่ยงสูงได้

ถัดมาคือภาคของการเกษตรที่เมื่อสามารถรับส่งข้อมูลปริมาณสูงได้ ทำให้สามารถเก็บข้อมูลฟาร์มขนาดใหญ่ นำมาวิเคราะห์ เพื่อต่อยอดการพัฒนาต่อไป เช่นเดียวกับโลจิสติกส์ ที่แม้ว่ายังต้องศึกษากันในเรื่องของรถยนต์ไร้คนขับ การนำไปประยุกต์ใช้กับการขนส่ง แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

รวมๆแล้ว 5G สามารถประยุกต์เข้าไปใช้งานได้กับทุกภาคอุตสาหกรรม เพียงแต่ต้องเข้ามาร่วมมือเป็นพันธมิตรกันในการต่อยอดนำไปใช้ เพื่อให้ตอบโจทย์กับแต่ละส่วนมากที่สุด ดังนั้นเรื่องเหล่านี้อาจจะต้องใช้เวลา แต่ก็ถือเป็นผลดีกับประเทศในระยะยาว ที่สามารถนำเทคโนโลยี 5G มาใช้งานได้ก่อนใคร

5G ของเอไอเอสวันนี้ จึงเป็นการใช้งานจริง ไม่ใช่แค่ 5G ในหนังโฆษณาเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น