xs
xsm
sm
md
lg

เจาะยุทธศาสตร์ 5G AIS ความถี่เต็มแมกซ์ แรงเต็มสปีด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังจบการประมูลคลื่นความถี่ 5G สิ่งที่ตามมาคือความเคลื่อนไหวของผู้ที่เข้าประมูลคลื่นความถี่เปิดเผยถึงแนวทางในการนำคลื่นความถี่ไปใช้งาน บนความเชื่อที่ว่าแต่ละรายต่างมีกลยุทธ์ และแนวทางในการทำตลาดที่แตกต่างกันไป แต่แน่นอนว่าผู้ที่ได้เปรียบในการแข่งขันนี้ คือผู้ที่ถือครองคลื่นความถี่มากที่สุด

ทำให้ปัจจุบัน ‘เอไอเอส’ ซึ่งถือครองคลื่นความถี่ในการให้บริการโทรคมนาคมมากที่สุดในไทย สามารถพูดได้อย่างมั่นใจว่า เป็นเครือข่ายอันดับ 1 ทั้งในแง่ของจำนวนฐานลูกค้า คุณภาพ และการถือครองคลื่นความถี่ ที่ปัจจุบันเฉลี่ยแล้วถือครองมากกว่าผู้ให้บริการรายอื่นในตลาดถึง 40%

ที่สำคัญคือแผนการนำคลื่นความถี่มาใช้งาน ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่การให้บริการ 5G เท่านั้น เพราะในมุมของเอไอเอส การได้คลื่นความถี่ย่านกลางอย่าง 2600 MHz มาด้วยนั้น จะเข้าไปช่วยทำให้ผู้ใช้งานเครือข่าย 4G ให้ได้ประสบการณ์ใช้งานที่ดีขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในจุดที่มีการใช้งานหนาแน่น และจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ผู้บริโภคสัมผัสได้ถึงคุณภาพที่เพิ่มขึ้น ก่อนการเข้าถึงเทคโนโลยี 5G ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (จำกัด) มหาชน หรือ เอไอเอส กล่าวถึงสภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเวลานี้ว่า จะเห็นการที่โอเปอเรเตอร์ต่างออกมาแข่งขันกันในเรื่องคุณภาพของการให้บริการ ตามมาด้วยการแข่งขันทางด้านราคาที่เข้มข้นขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้ก็มีการแข่งขันกันสูงอยู่แล้ว

“ค่าบริการดาต้าของไทยเมื่อเทียบกับราคาที่ต้องจ่ายไปถือว่าระดับราคาค่อนข้างถูกอยู่แล้ว แต่การทำให้ลูกค้าใช้จ่ายในราคาที่เหมาะสมและได้รับคุณภาพในการให้บริการกลายเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่า เพราะถึงลูกค้าจะมีค่าบริการที่ถูกลงแต่ถ้าประสบการณ์ไม่ดี ก็ไม่ตอบโจทย์การใช้งานอยู่ดี”

สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือ แต่ละโอเปอเรเตอร์จะมีจุดยืนในการเข้ามาแข่งขันที่แตกต่างกัน อย่างเอไอเอส ก็จะเปลี่ยนความได้เปรียบในแง่ของการที่มีคลื่นมากกว่าผู้ให้บริการรายอื่น ไปต่อยอดในการพัฒนาบริการให้มีคุณภาพที่ดีกว่าคู่แข่งอย่างต่อเนื่อง และก็พร้อมที่จะเข้าไปแข่งขันสงครามราคา โดยไม่ต้องกังวลว่าลูกค้าที่เข้ามาจะเกินปริมาณแบนด์วิดท์ที่เครือข่ายรองรับได้

***ไม่ใช่แค่มีคลื่น แต่ต้องใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ



ประเด็นถัดมาในเรื่องของการถือครองคลื่นความถี่เพื่อให้บริการ 5G สิ่งที่เอไอเอส มองไม่ใช่ในมุมของการเข้าร่วมประมูลคลื่น เพื่อให้ได้คลื่นมาให้บริการเพียงอย่างเดียว แต่มองลึกไปถึงการที่ได้คลื่นความถี่มาแล้วต้องใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตามแนวทางที่เอไอเอส เคยเดินหน้าประมูลคลื่น 1800 MHz มาเพิ่มเพื่อให้บริการ 4G ให้ได้ประสิทธิภาพสูงที่สุด

ปรัธนา กล่าวว่า ปัจจุบันเอไอเอสมีคลื่นความถี่ 5G ที่ครอบคลุมทั้งคลื่นความถี่ย่านต่ำ 700 MHz จำนวน 30 MHz (2x15 MHz), คลื่นความถี่ย่านกลาง 2600 MHz จำนวน 100 MHz และคลื่นความถี่ย่านสูง 26 GHz จำนวน 1200 MHz รวมคลื่นความถี่ 5G ทั้งหมดอยู่ที่ 1330 MHz เมื่อรวมกับคลื่นความถี่เดิมที่ถือครองอยู่ไม่นับรวมคลื่นความถี่ของพันธมิตรจะอยู่ที่ 1420 MHz

เมื่อรวมคลื่นความถี่ทั้งหมดที่มีทำให้ เอไอเอส มีคลื่นความถี่รวมมากกว่าเครือข่ายอื่นที่ให้บริการในประเทศไทยถึง 40% สามารถรองรับปริมาณการใช้งานได้เพิ่มขึ้น 30 เท่า สามารถทำความเร็วในการให้บริการเพิ่มขึ้นได้ถึง 24 เท่า และความเร็วในการเข้าถึงต่ำกว่า 10 เท่า



วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการที่ได้คลื่นความถี่เพิ่มมาทำให้ปัจจุบัน เอไอเอส เป็นผู้ให้บริการรายเดียวในอุตสาหกรรมที่มีแบนด์วิดท์ในภาพรวมสามารถให้บริการได้ตามมาตรฐานของผู้ให้บริการเครือข่ายระดับโลก

โดยยกมาตรฐานของ 3GPP ที่ระบุว่า ในการนำคลื่น 700 MHz มาใช้งานให้เต็มประสิทธิภาพ จำเป็นต้องใช้คลื่นความถี่เต็ม 30 MHz ทำให้เอไอเอส ตัดสินใจประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz อีก 10 MHz เพิ่มเติมจากเดิมที่ได้รับการจัดสรรมาแล้ว 20 MHz

เช่นเดียวกับบนคลื่นความถี่ 2600 MHz ที่ต้องมีปริมาณแบนด์วิดท์ถึง 100 MHz ถึงจะสามารถให้บริการได้เต็มประสิทธิภาพ รวมถึง 26 GHz ที่ต้องใช้งานเต็มบล็อกที่ 400 MHz จึงสามารถให้บริการโซลูชันแก่อุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างเต็มที่

***จุดเด่นของคลื่นแต่ละย่าน


วสิษฐ์ กล่าวต่อว่า การที่มีคลื่นความถี่ครบคลุมทุกย่าน จะทำให้เอไอเอส สามารถวางแผนในการนำคลื่นความถี่มาใช้บริการได้มีประสิทธิภาพอย่างคลื่น 700 MHz ที่เป็นคลื่นความถี่ต่ำสามารถนำไปให้บริการครอบคลุมในพื้นที่ห่างไกลได้

ขณะที่คลื่นความถี่ย่านกลางอย่าง 2600 MHz จะเข้ามาช่วยเสริมความเร็วในการใช้งานบริเวณพื้นที่ในเมือง และจุดที่มีการใช้งานหนาแน่น ส่วนคลื่น 26 GHz จะถูกนำไปใช้กับภาคอุตสาหกรม ที่ต้องการความเร็ว และความแม่นยำในการใช้งานเป็นหลัก

***ยังไม่กำหนดวันเปิดให้บริการ 5G

อย่างไรก็ตาม ทางเอไอเอส ยังไม่มีการเปิดเผยกำหนดการในการเปิดให้บริการ 5G อย่างเป็นทางการ เพียงแต่ระบุว่าปัจจุบันเครือข่ายหลัก (Core Network) มีความพร้อมอยู่แล้ว เมื่อได้รับใบอนุญาตคลื่นความถี่มาก็สามารถให้บริการได้ทันที โดยเฉพาะในคลื่นความถี่ 2600 MHz ที่จะกลายเป็นคลื่นหลักในการลงทุนเวลานี้

“ต้องรับรู้ให้ตรงกันก่อนว่าการเปิดให้บริการ 5G ในเวลานี้ นั้นแตกต่างกับยุคสมัยที่ประเทศไทยเปิดให้บริการ 4G เพราะในยุคนั้นการเปิดให้บริการ 4G มีลูกค้าที่ใช้งานเครือข่ายและมีดีไวซ์รองรับการใช้งานอยู่แล้ว 30-40% แต่พอเป็น 5G ในปัจจุบันยังไม่มีสมาร์ทโฟนที่รองรับการใช้งาน 5G เข้ามาทำตลาดอย่างเป็นทางการในประเทศไทย”

ทำให้การเร่งเปิดให้บริการ 5G เพื่อให้คอนซูเมอร์ใช้งานยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เนื่องจากสมาร์ทโฟนที่รองรับจะทยอยเข้ามาทำตลาดในช่วงเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องระดับไฮเอนด์ที่มีราคาค่อนข้างสูง ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีที่คาดว่าจะมีสมาร์ทโฟนที่รองรับไม่ต่ำกว่า 30 รุ่น เข้ามาวางจำหน่ายในประเทศไทย

***นำ 2600 MHz เสริมประสบการณ์ 4G


อีกหนึ่งแผนที่ เอไอเอส เตรียมไว้หลังจากได้รับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 5G มาแล้ว คือการนำคลื่น 2600 MHz บางส่วนมาให้บริการ 4G ไปพร้อมๆ กันในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่น หรือมีความต้องการในการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ความเร็วสูงขึ้น

เพราะในการปล่อยสัญญาณคลื่น 2600 MHz 100 MHz ที่มี ตัวระบบสามารถปรับแต่งการใช้งานแต่ตามความต้องการของลูกค้าในแต่ละพื้นที่โดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือลูกค้าที่ใช้งานสมาร์ทโฟน 4G เดิมอยู่จะได้รับประสบการณ์ใช้งาน 4G ที่ดีขึ้น

“เอไอเอส ไม่ได้มองถึงการให้บริการในอนาคตเพียงอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญกับลูกค้าที่ใช้งาน 4G อยู่ในปัจจุบันด้วย เพราะคลื่น 2600 MHz ถือเป็นคลื่นความถี่มาตรฐานในการให้บริการ LTE อยู่แล้ว จึงสามารถนำมาใช้งานคู่กับคลื่น 1800 MHz และ 2100 MHz เดิมได้ทันที”

ด้วยแผนการนี้จะทำให้ลูกค้าเอไอเอส ที่ถือเครื่องที่รองรับการใช้งาน 4G 2600 MHz จำนวน 16 ล้านคน สามารถเข้าถึงความเร็วอินเทอร์เน็ตในการใช้งานได้เพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 4 เท่า


กำลังโหลดความคิดเห็น