xs
xsm
sm
md
lg

วิเคราะห์ยุทธศาสตร์ประมูล True 5G เตรียมพร้อม-ตัวเบา!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หากเทียบการประมูล 3G, 4G และ 5G จะพบว่า ขาประจำที่ประมูลไม่เคยแพ้และมีประสบการณ์สูงคือกลุ่มทรู ซึ่งในอดีต ทรูใช้วิธีการ “สู้สุดใจ เพื่อใบอนุญาต” ทำให้ทรูกวาดคลื่นมาตุนไว้เกือบทุกย่านคลื่น จึงมีประสบการณ์สูงในการประมูล แต่ในครั้งนี้ต้องยอมรับว่า ทรูวางแผนมาละเอียด เพราะมาในยุทธศาสตร์ตัวเบา เอาชัยชนะ ในราคาคุ้มค่า สบายตัว

การประมูลยกที่ 1: คลื่น 700 MHz ที่มีใบอนุญาต 3 ใบ ใบละ 5 MHz

งานนี้ทุกคนรู้ดีว่า CAT อยากได้คลื่น 700 MHz ในขณะที่ True, AIS และ DTAC มีคลื่นนี้อยู่แล้ว ทำให้การกดประมูลนั้น ค่อย ๆ ไล่ราคาขึ้นไปจนสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งผลสุดท้าย AIS ได้รับใบอนุญาต 5GHz ไป 1 ใบ และ CAT Telecom ได้รับใบอนุญาต 2 ใบ รวม 10 GHZ มูลค่า 51,460 ล้านบาท ทำให้ AIS และ CAT เปลืองกระสุนไปกับคลื่น 700 MHz ซึ่งเป็นเพียงส่วนขยายคลื่นเดิมที่ไม่ได้เอามาทำ 5G แถม ผลออกมาได้ 700 MHz ที่แพงเป็นสองเท่าของราคาคลื่นย่านนี้ และมีเพียง TRUE ที่ยังไม่เสียกระสุนเงินลงทุน พร้อมเข้าประมูลคลื่น 5G 2600 MHz แบบพร้อมที่สุด

ทำไมทรูเอาคลื่น 2600 MHz แค่ 9 ใบ

คลื่นความถี่ 2600 MHz เป็นคลื่นความถี่หลักที่หลายประเทศนำมาใช้ทำ 5G อย่างที่รู้กันว่า คลื่น 2600 MHz นั้น มีมาประมูลทั้งสิ้น 19 ใบ แต่มีผู้เข้าประมูล 3 ราย คือ True, AIS และ CAT ซึ่งหากจะทำ 5G ได้ต้องมีคลื่น 7 ใบขึ้นไป แต่หาร 3 ไม่ลงตัว เพราะถ้าจะให้ทุกรายได้ไป ต้อง 7 คูณ 3 ราย คือ ต้องมี 21 ใบ แต่ในการประมูลครั้งนี้มีแค่ 19 ใบ ดังนั้น ผู้ชนะจะได้ 10 ใบ และ ผู้ชนะอีกรายได้ 9 ใบ

หากทรูกับเอไอเอสดึงดันกดที่ 10 ใบ จะเสียเงินสู้กันไปรอบละ 3,000 ล้านบาท แต่เมื่อทรูมาด้วยกลยุทธ์ตัวเบา เลือกกดที่ 9 ใบแต่แรก ทำให้การประมูลคลื่น 900 MHz จบเร็ว ผลคือ AIS ได้ใบอนุญาต ไป 10 ใบ และ TrueMove H ได้ 9 ใบ รวมทั้งหมด 19 ใบอนุญาต มูลค่ารวมกว่า 37,434 ล้านบาท โดยทรูเป็นผู้ชนะร่วมกับเอไอเอสไปตั้งแต่การกดประมูลครั้งที่ 2 และจำนวนคลื่นที่ใช้ทำ 5G ก็ใช้เพียง 7 ใบ ก็เพียงพอ แต่ครั้งนี้ ผู้ชนะได้เผื่อคลื่นกันมาอีก 2-3 ใบ ซึ่งมากเกินพอในการทำ 5G ในประเทศไทย

ทรู ได้ 5G เหมือนเสือติดปีก

หากดูประสบการณ์ในการทำตลาด ลูกค้าใช้งานดาต้าและเน็ตความเร็วสูง โดยเฉพาะ 4G ทางทรูจะมีประสบการณ์และยุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ ซึ่งเอไอเอสมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในภาพรวม แต่เป็นลูกค้า 2G, 3G และกลุ่มที่ยังไม่ใช้ Smartphone ในขณะที่ทรูบุกเบิกสมาร์ทโฟนมาพร้อม Apple ทำให้หมวดลูกค้า 4G นั้น ทรูเป็นเจ้าตลาด เมื่อกลุ่มทรูคว้าใบอนุญาตคลื่น 5G พร้อมเดินหน้า 5G รายแรกทันที กับระบบที่เตรียมพร้อมไว้แล้วตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แค่กดสวิทช์ คนไทยก็พร้อมใช้ 5G ในขณะที่เอไอเอสถูก CAT ลากไปประมูลคลื่น 700 MHz ได้ไป 5 MHz ราคาสูงสุดในประวัติการณ์แบบต้นทุนสูง ซึ่งทรูและดีแทค ที่เคยประมูลคลื่น 700 MHz ได้มา 10 MHz ในราคาเพียงครึ่งเดียว ทำให้ครั้งนี้กลุ่มทรูตัวเบา ได้ 5G ไปติดปีก ในราคาคุ้มค่า แบบผู้ถือหุ้นสบายใจ

คลื่น 26 GHz วิกฤตศรัทธาดีแทค

สำหรับย่านสุดท้ายที่นำออกมาประมูล ต้องถือว่าเป็นย่านที่ยังใช้อะไรไม่ได้ใน 2-3 ปีนี้ เท่ากับว่าประมูลไปก็เอาไปใส่ตู้ไว้ ทำให้ทุกโอปอเรเตอร์เข้ามากดประมูลดูใจดีแทค ว่าสัญญาว่าจะไม่หยุดลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานประเทศไทยหรือไม่ เพราะซีอีโอดีแทคนำทีมมาเอง พร้อมลั่นสู้ตาย ทำเอาผิดคาด เมื่อผลออกมาจบรอบแรก นกกระจอกยังไม่ทันกินน้ำ เคาะประมูลจำนวน 27 ใบ ใบละ 100 MHz ดีแทคได้คลื่น 26 MHz ไปเพียง 2 ใบ ในขณะที่ TOT ยังได้มากกว่าที่ 4 ใบอนุญาต คำถามคือ ดีแทคจะสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคอย่างไร ในเมื่อตัดสินใจไม่ไปต่อ!!

ผู้ชนะที่แท้จริงคือคนไทย

อย่างไรก็ตาม หลังจากการประมูลครั้งนี้ก็ทำให้รู้ว่า เงินลงทุนจากภาคเอกชนนับแสนล้านบาทจะได้นำมาพัฒนาประเทศ ขอบคุณโอปอเรเตอร์ทุกรายที่มีความจริงใจ นำเงินมาลงทุนในประเทศไทย เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร และประเทศจะพร้อมก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอาเซียน ด้วยโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสารที่พร้อมที่สุด ในขณะที่ กสทช.ประเมินว่า หลังจากที่การประมูลเสร็จ จะมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2563 ประมาณ 177,039 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1.02% ของ GDP ในปี 2563

สำหรับในปี 2564 คาดว่าจะมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจขั้นต่ำประมาณ 332,619 ล้านบาท และในปี 2565 จะมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประมาณ 476,062 ล้านบาท งานนี้ประเทศไทยจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นผู้นำในภูมิภาคได้อย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น