บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ผู้ชนะการประมูลความถี่ย่าน 2600 MHz จำนวน 10 ใบอนุญาตๆ ละ 10 MHz รวม 100 MHz เข้าชำระเงินค่าใบอนุญาตงวดแรกจำนวน 2,093.027 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หรือคิดเป็น 10% ของราคาค่าใบอนุญาต 20,930.027 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) พร้อมวางหนังสือค้ำประกัน (แบงก์การันตี) ในช่วงเช้า พร้อมเข้ารับใบอนุญาตในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ณ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยมี พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการ กสทช. เป็นผู้มอบ
พล.อ.สุกิจ กล่าวว่า การประมูลเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ไม่น่าเชื่อว่าวันที่ 21 ก.พ. เอไอเอสจะมาจ่ายเงินและรับใบอนุญาตและให้บริการ 5G ในประเทศไทยให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ พร้อมกันนี้ ในเวลา 14.00 น. วันเดียวกัน เอไอเอสสร้างปรากฏการณ์ เปิดเครือข่าย 5G ทั่วประเทศ เป็นรายแรกของไทยอย่างเป็นทางการ (Official 1st 5G Network in Thailand) พร้อมแสดงขีดความสามารถเครือข่าย AIS 5G ทั่วประเทศ
โดยโชว์ สปีดเทส, สตรีมมิ่งวิดีโอ 4K และ วิดีโอคอล จากหัวเมืองใหญ่ ทั้ง 5 ภาคทั่วไทย ได้แก่ ภาคเหนือ ณ ประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่, ภาคใต้ ณ อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร จ.ภูเก็ต, ภาคอีสาน ณ ลานย่าโม จ.นครราชสีมา, ภาคตะวันออก ณ แหลมบาลีฮาย พัทยา จ.ชลบุรี และภาคกลาง ณ พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม ตอกย้ำถึงศักยภาพของเอไอเอส ในฐานะผู้นำเครือข่ายดิจิทัล อันดับ 1 ที่พร้อมนำ 5G พลิกโฉมการยกระดับประเทศไทยไปอีกขั้น เพื่อประโยชน์สูงสุดในการผลักดันภาคอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี 5G และเสริมคุณภาพการให้บริการในภาพรวมจาก 4G ปัจจุบันของเอไอเอส รวมทั้ง ยังมีความพร้อมให้บริการ 5G โรมมิ่งในต่างประเทศ เป็นรายแรก อาทิ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในเร็วๆ นี้ด้วย
เอไอเอสได้รับเกียรติจาก กสทช. ให้เป็นรายแรกที่เปิดเครือข่าย AIS 5G ณ สำนักงาน กสทช.
นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก กสทช. ให้ เอไอเอส เป็นรายแรกที่เปิดเครือข่าย 5G ณ สำนักงาน กสทช. อีกด้วย โดยมีไฮไลท์พิเศษ ประธาน กสทช. และ ซีอีโอ เอไอเอส ได้ร่วมเปิดเครือข่าย 5G ณ สำนักงาน กสทช. อย่างเป็นทางการ ด้วยการกดโทร VDO Call จากสำนักงาน กสทช. ไปยังเครือข่าย AIS 5G ที่แหลมบาลีฮาย จ.ชลบุรี หนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นของเอไอเอส และ กสทช. ในการนำเครือข่าย 5G ร่วมพัฒนายกระดับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC อย่างจริงจัง
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส เปิดเผยว่า จากการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 700, 2600 MHz ละ 26 GHz ที่ผ่านมา ทำให้เอไอเอสมีคลื่นความถี่เพื่อให้บริการทั้งระบบ 4G และ 5G รวม 1420 MHz (ไม่รวมความร่วมมือกับพันธมิตร) ซึ่งมากที่สุดในอุตสาหกรรม โดยวางแผนงบลงทุนเบื้องต้น จำนวน 10,000-15,000 ล้านบาท ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ อย่าเป็นกังวลเกี่ยวกับปริมาณคลื่นความถี่ เพราะยังมีการตั้งคำถามว่า ทำไมผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ บางรายไม่เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้ ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่า ทุกโอเปอเรเตอร์มีการวางแผนการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างดี อย่างเอไอเอสก็มีแผนการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนในฐานะที่มีฐานลูกค้ามากที่สุดในอุตสาหกรรม การถือครองคลื่นความถี่ปริมาณมากจะทำให้สามารถดูแลลูกค้าได้ดีที่สุด ซึ่งเชื่อว่า ทุกโอเปอเรเตอร์ล้วนมีแผนการดำเนินธุรกิจที่ไม่ต่างกัน เพราะคงไม่มีรายใดต้องการทำให้ตัวเองเสียเปรียบ หรือเสียประโยชน์จากการประมูลนี้
ขณะที่นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส กล่าวว่า ลูกค้าสามารถสัมผัส 5G ไปพร้อมกับการเปิดตัว Samsung Galaxy S20 Ultra 5G สมาร์ทโฟนเรือธง 5G รุ่นแรกในไทยในวันที่ 6 มี.ค.นี้ ซึ่งเอไอเอสมีความได้เปรียบเรื่องคุณภาพ ที่คุ้มค่าต่อการใช้งาน คลื่นที่เราได้จากการประมูลทำให้เอไอเอสมีความเข้มแข็งขึ้นมาอีกเพื่อนำสิ่งเหล่านั้นมาบริการลูกค้า ความมุ่งมั่นของเราคือการสร้างบริการสำหรับลูกค้าทั่วไปได้เห็นบริการผ่านโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ต่างๆที่จะรองรับในยุค 5G ส่วนภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อุตสาหกรรมการผลิต สาธารณสุข คมนาคม การขนส่ง เป็นต้น ก็จะเป็นอีกมิติหนึ่งที่ใช้งาน 5G เช่น AI เอไอเอสจึงขอเชิญชวนให้ภาคอุตสาหกรรมมาทำงานร่วมกันกับเอไอเอส เพราะเราต้องการพัฒนาร่วมกันกับภาคอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม เอไอเอสจะมีการประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ในเดือนมี.ค. 2563 และจะมีการประกาศแผนการขยายโครงข่ายอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ซึ่งคาดว่า จะเปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ที่รวมถึงการนำเสนอแพกเกจการใช้งานต่างๆ ภายในช่วงครึ่งปีแรก