กสท โทรคมนาคม ลั่น ตั้งใจประมูลคลื่น 700 MHz จริง หวังต่ออายุบริการโทรศัพท์มือถือบนคลื่น 850 MHzที่จะหมดในปี 2568 ต่อไปอีกตลอดอายุใบอนุญาต 15 ปี เร่งเดินหน้าหาพันธมิตรทำตลาด 5G คาดได้ข้อสรุปก่อน พ.ค. นี้ หลัง ครม.อนุมัติไม่เกิน ส.ค. เริ่มลงมือวางโครงข่ายทันที พร้อมเปิดให้บริการ เม.ย. 2564
หากยังจำได้ "พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เคยบอกมาโดยตลอดว่าหากมีการประมูลคลื่น 5G กสท โทรคมนาคม สนใจคลื่น 700 MHz มากที่สุด ขณะที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) เอกชน ในตอนนั้นต่างแสดงทีท่าไม่สนใจคลื่นดังกล่าว เพราะเห็นว่ายังใช้งานไม่ได้ทันทีที่ประมูลเสร็จ จนสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกือบไม่นำคลื่น 700 MHz ร่วมวงประมูลด้วย ทำให้ กสท โทรคมนาคม ต้องส่งหนังสือแจ้งขอให้ 700 MHz เป็น 1 ในคลื่นที่นำมาประมูลด้วย เพราะ กสท โทรคมนาคม สนใจจริงๆ
***เติมเต็มลูกค้า "มายด์" ได้ใช้งานต่อ
เหตุผลสำคัญที่ กสท โทรคมนาคม ต้องการคลื่นนี้ "พ.อ.สรรพชัย" ย้ำว่า เพราะเป็นย่านที่ใกล้เคียงกับคลื่น 850 MHz จำนวน 15 MHz ที่ กสท โทรคมนาคม ให้บริการลูกค้าโทรศัพท์มือถือทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น "มายด์ "ที่มีลูกค้าอยู่กว่า 2 ล้านเลขหมาย การขายส่งให้ผู้ให้บริการอื่น และการหาเอ็มวีเอ็นโอ เป็นต้น เพื่อให้สามารถเดินหน้าได้ เมื่อการใช้งานคลื่น 850 MHzต้องยุติในปี 2568 คลื่น 700 MHz จำนวน 10 MHz ก็จะมารองรับเพื่อให้บริการได้ต่อเนื่องเพราะมีระยะเวลาใบอนุญาต 15 ปี นับจากวันที่เริ่มชำระค่าใบอนุญาตงวดแรก และได้รับใบอนุญาต คือ เดือน เม.ย. 2564 ที่คลื่นพร้อมใช้งาน และไม่มีสัญญาณไมโครโฟนรบกวน
ขณะเดียวกันกสท โทรคมนาคมก็จะอัปเกรดการใช้งาน 5Gให้กับลูกค้าด้วย โดยคาดว่าลูกค้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านรายภายใน 15 ปี กับอีกส่วนหนึ่งคือการให้บริการดิจิทัล เซอร์วิส กับลูกค้าองค์กร เช่น บริการIoTตลอดจนการให้บริการกับสมาร์ท ซิตี้ เป็นต้นเพราะรายได้หลักของ กสท โทรคมนาคม 30% มาจากการให้บริการโทรศัพท์มือถือ จึงกลายเป็นที่มาของการเคาะราคาประมูลไปถึง 36,707.42 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
พ.อ.สรรพชัย เล่าว่า "ในการเคาะประมูลแต่ละรอบ แม้ว่าจะมีช่วงเวลาให้เคาะภายในเวลาที่กำหนด แต่ตนเองและทีมแทบไม่ได้สนใจเวลาเลย รู้แต่ว่าจะต้องเอาคลื่น 10 MHz มาให้ได้ สังเกตได้ว่า เคาะกันไวมาก จนถึงเคาะที่ 20 ทีมก็เริ่มหน้าเสียแล้ว ถ้าเคาะนี้ยังไม่ได้ คงต้องถอดใจ เพราะไม่คุ้มแล้ว แต่สุดท้ายเหมือนยิงประตูได้ตอนใกล้หมดเวลา ทุกคนดีใจกันมาก กระโดดกอดกัน ผมก็บนไว้ แต่ไม่บอก ทีมผมก็บนไว้ ณัฏฐวิทย์ สุฤทธิกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ เขายังอายุน้อยต้องอยู่กับกสท โทรคมนาคมไปอีกนาน เขาก็หน้าเสีย หากไม่ได้คลื่นนี้ทำธุรกิจต่อ เขาก็บนวิ่งรอบสนามบอล 500 รอบ ส่วนผมถามว่าจะหมดวาระในเดือน ก.ย.ปีนี้ จะสู้ไหม ก็ต้องสู้เพราะตอนนี้ยังทำงานอยู่ในตำแหน่งนี้ ก็ต้องสู้ให้ถึงที่สุดเหมือนกัน"
***ลุยแผน 5G พร้อมเปิดใช้งาน เม.ย.ปี 64
คลื่นความถี่ 700 MHz จำนวน 2x10 MHz ในราคาประมูลรวม 36,707.42 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จะเริ่มชำระค่าคลื่นความถี่งวดแรกในปี 2564 จำนวน 3,670.74 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และทยอยจ่ายเป็นรายปีต่อไปอีก 9 ปี (ปี 2565-2573) ระยะเวลาใบอนุญาตเป็นเวลา 15 ปี นับจากวันที่ได้รับใบอนุญาต
แม้ว่าคลื่น 700 MHz ที่ประมูลได้ ยังเป็นคลื่นที่สัญญาณไมโครโฟนใช้งานอยู่และจะสามารถใช้งานด้านโทรคมนาคมในเดือน เม.ย. 2564 ก็ตาม ช่วงเวลานี้ กสท โทรคมนาคม ต้องเร่งหาพันธมิตร แผนธุรกิจ และ งบประมาณ เพื่อเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ผ่านเร็วที่สุด จากนั้นจะวางโครงข่ายรอรับเมื่อถึงเวลาเปิดใช้งานในการ ให้บริการ 5Gนั้นที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) มีนโยบายให้ทำงานร่วมกับพันธมิตร ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับ โอเปอเรเตอร์ รายใหญ่1ใน3ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส,บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หากได้พันธมิตรจะช่วยลดต้นทุนในการวางโครงข่าย 40% จากที่ตั้งงบประมาณไว้ที่ 17,000 ล้านบาท ก็จะเหลือเพียง 10,000 ล้านบาท
เมื่อได้ข้อสรุปรายชื่อพันธมิตรแล้วจะนำเสนอขออนุมัติงบประมาณ กว่า 53,000 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินค่าประมูลคลื่น36,707.42ล้านบาท และ ค่าลงทุนโครงข่าย 17,000 ล้านบาท เสนอบอร์ด ช่วงเดือน พ.ค.2563จากนั้นจึงเสนอต่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เพื่อเสนอขออนุมัติงบประมาณจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.2563เพื่อเริ่มวางโครงข่ายในไตรมาส3/2563ใช้เวลาประมาณ8-10เดือน เมื่อถึงเวลาที่คลื่นใช้งานได้ในเดือน เม.ย. 2564 กสท โทรคมนาคมก็จะพร้อมให้บริการทันที
อีกส่วนหนึ่งคือ เสาโทรคมนาคม ที่ กสท โทรคมนาคม มีอยู่ประมาณ 20,000 ต้น ในปี 2563 บริษัทวางแผนที่จะลงทุนเครือข่าย 4G/5G เพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่องครอบคลุมทุกพื้นที่ และพัฒนาต่อยอดเพื่อให้บริการ 5G ได้ด้วยเทคโนโลยี Dynamic Spectrum Sharing (DSS) กสท โทรคมนาคมสามารถให้บริการ 4G/ 5G บนคลื่น 700 MHz พร้อมกันได้ โดยการทำ Software Upgrade
นอกจากนี้ กสท โทรคมนาคม ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภายในประเทศและต่างประเทศสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในส่วนที่ต้องจัดหาเพิ่มเติมเพื่อลดภาระการลงทุน และสร้างรายได้เพิ่มเติมจากการให้ผู้ให้บริการรายอื่นเช่าใช้โครงสร้างพื้นฐานทั้งในส่วนของเสาโทรคมนาคมและไฟเบอร์ (Passive Infrastructure Sharing) โดยปัจจุบันกสท โทรคมนาคม ได้ลงนามในข้อตกลงไตรภาคีกับผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ALT และ edotco Group Sdn Bhd ซึ่งเป็นบริษัทโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของมาเลเซีย
*** ควบรวมยิ่งสร้างความแข็งแกร่ง
เมื่อถามว่า ท้ายที่สุดแล้ว หาก กสท โทรคมนาคม และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) รวมเป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือ เอ็นที แบรนด์ให้บริการโทรศัพท์มือถือ แบรนด์ไหนจะเป็นตัวทำตลาด "พ.อ.สรรพชัย" ไขข้อสงสัยนี้ว่า ขณะนี้ทั้งสองบริษัท กำลังเดินหน้าดำเนินการหลังบ้านเรื่องการควบรวมกิจการอย่างต่อเนื่อง อนาคตจะใช้แบรนด์ไหน หรือ มีแบรนด์ใหม่หรือไม่ ยังให้คำตอบไม่ได้ ตอนนี้ทั้งสองฝ่ายต้องรวบบริการโทรศัพท์มือถือไว้เป็นหน่วยเดียวกัน ซึ่งอนาคต เอ็นที จะกลายเป็น บริษัทที่มีคลื่นในมือไม่น้อยไปกว่า 3 โอเปอเรเตอร์หลักของประเทศไทย ตั้งแต่คลื่นต่ำ คือ คลื่น 700 MHz, 850 MHz คลื่นกลาง คือ 2100 MHz , 2300 MHz และคลื่นสูง 26 GHz