“พ.อ.สรรพชัย” แจกโบนัส 5 เดือนพนักงาน กสท โทรคมนาคม กว่า 5,000 คน รับสูงสุดเป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี หลังมีรายได้จากการยุติข้อพิพาททำกำไรพุ่ง 38,668 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าขออนุมัติแผนและงบประมาณ 5G รวมค่าคลื่น กว่า 53,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมวางโครงข่ายพร้อมกดปุ่มเปิดให้บริการทันทีที่สัญญาณพร้อมใช้งาน เม.ย. 2564
พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้ปิดงบการเงินปี 2562 เรียบร้อยแล้ว และครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี ที่พนักงานประมาณ 5,000 คน จะได้โบนัสไม่ต่ำกว่า 5 เดือน คาดว่าจะสามารถจ่ายได้ภายในเดือน พ.ค. 2563 ซึ่งในปี 2562 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 87,533 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38% จากปี 2561 ที่มีรายได้อยู่ที่ 63,445 ล้านบาท
ขณะที่มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 48,865 ล้านบาท ลดลง 6.6% จากปี 2561 ที่มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 52,336 ล้านบาท และกำไรสุทธิอยู่ที่ 38,668 ล้านบาท (ก่อน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.ตรวจสอบ) เพิ่มขึ้น 248% จากปี 2561 ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 11,109 ล้านบาท
พ.อ.สรรพชัย กล่าวต่อว่า แม้ว่าคลื่น 700 MHz ที่ประมูลคลื่นมาได้ จำนวน 2x10 MHz ในราคาประมูลรวม 36,707.42 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ยังไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากติดปัญหาสัญญาณไมโครโฟนรบกวนและจะสามารถใช้งานได้ในเดือน เม.ย. 2564 ก็ตาม แต่บริษัทได้เตรียมแผนการลงทุนไว้เรียบร้อยแล้ว
โดยคลื่น 700 MHz จะนำมาเติมเต็มในส่วนของเครือข่าย 4G กับบริการโทรศัพท์มือถือ มายด์ ของ กสท โทรคมนาคม บนคลื่น 850 MHz จำนวน 2x15 MHz ที่ กสท โทรคมนาคมใช้งานจะหมดอายุในปี 2568 บริษัทก็สร้างความมั่นใจกับลูกค้าได้ว่าจะมีคลื่นในการให้บริการต่อไปอีกอย่างแน่นอน
ขณะเดียวกันบริษัทก็จะอัปเกรดการใช้งาน 5G ให้กับลูกค้าด้วย โดยคาดว่าลูกค้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านรายภายใน 15 ปี จากเดิมที่มีลูกค้าอยู่ 2 ล้านราย กับอีกส่วนหนึ่งคือการให้บริการดิจิทัล เซอร์วิส กับลูกค้าองค์กร เช่น บริการ IoT ตลอดจนการให้บริการกับสมาร์ท ซิตี้ เป็นต้น
ทั้งนี้การให้บริการ 5G นั้นที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) มีนโยบายให้ทำงานร่วมกับพันธมิตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับ โอเปอเรเตอร์ รายใหญ่ 1 ใน 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หากได้พันธมิตรจะช่วยลดต้นทุนในการวางโครงข่าย 40 % จากที่ตั้งงบประมาณไว้ที่ 17,000 ล้านบาท ก็จะเหลือเพียง 10,000 ล้านบาท
เมื่อได้ข้อสรุปรายชื่อพันธมิตรแล้วจะนำเสนอขออนุมัติงบประมาณ กว่า 53,000 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินค่าประมูลคลื่น 36,707.42 ล้านบาท และ ค่าลงทุนโครงข่าย 17,000 ล้านบาท เสนอบอร์ด ช่วงเดือน พ.ค.2563 จากนั้นจึงเสนอต่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เพื่อเสนอขออนุมัติงบประมาณจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.2563 เพื่อเริ่มวางโครงข่ายในไตรมาส 3/2563 ใช้เวลาประมาณ 8-10 เดือน เมื่อถึงเวลาที่คลื่นใช้งานได้ในเดือน เม.ย. 2564 บริษัทก็จะพร้อมให้บริการทันที