กสทช. เล็งทำงานร่วม ธปท. แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ใช้บิลค่าโทรศัพท์มือถือแทนสเตทเมนท์เงินเดือน ชี้ประชาชนมีศักยภาพในการจ่ายเงิน แต่ไม่มีหลักฐานในการกู้เงิน ทำให้หันไปพึ่งกู้หนี้นอกระบบแทน
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในเร็วนี้ๆ กสทช. จะมีการหารือร่วมกับนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงแนวทางการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้มีรายได้น้อย โดยใช้บิลค่าบริการโทรศัพท์มือถือแบบรายเดือนและเติมเงิน แทนรายงานการเดินบัญชี (สเตทเม้นท์) ประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ เพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้เป็นหนี้ในระบบอย่างถูกต้อง อีกทั้ง ช่วยกระตุ้นให้ผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือชำระค่าบริการตรงเวลา
ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวอยู่ภายใต้การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง สำนักงาน กสทช. และ ธปท. ในการสนับสนุนการดำเนินการด้านวิชาการ การศึกษาและวิจัยด้านการกำกับดูแลบริการโทรคมนาคมและบริการทางการเงินที่ใช้เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งหากเห็นชอบในแนวทางร่วมกัน ธปท. จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่ กสทช. จะประสานไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ(โอเปอเรเตอร์) ในการให้ข้อมูลค่าบริการโทรศัพท์มือถือโดยผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการขอสินเชื่อจะต้องยื่นเอกสารเพื่อขอข้อมูลดังกล่าวกับโอเปอเรเตอร์ จากนั้นจึงยื่นคำขอสินเชื่อพร้อมเอกสารประกอบที่ธนาคาร และรอการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อต่อไป
'ยกตัวอย่าง พ่อค้า แม่ค้า ในตลาดยิ่งเจริญ ถามว่าเขามีรายได้นะ แต่เขาไม่มีสเตทเม้นท์ในการขอสินเชื่อ แต่เมื่อดูพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือ เขามีศักยภาพในการจ่าย เมื่อกู้ในระบบไม่ได้ เขาก็หันไปกู้นอกระบบเพราะต้องใช้เงินลงทุน ดังนั้นถ้าการใช้งานมือถือสามารถเป็นเครดิตในการกู้เงินได้ ปัญหากู้เงินนอกระบบก็จะลดลง' นายฐากร กล่าว
สำหรับยอดผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือรวมของโอเปอเรเตอร์ภาคเอกชน 3 ราย อยู่ที่ 93.2 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส จำนวน 42 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็น ลูกค้าระบบเติมเงิน 32.9 ล้านเลขหมาย และลูกค้าระบบรายเดือน 9.1 ล้านเลขหมาย ขณะที่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 30.6 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็น ลูกค้าระบบเติมเงิน 22.3 ล้านเลขหมาย และลูกค้าระบบรายเดือน 8.3 ล้านเลขหมาย และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค จำนวน 20.6 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็น ลูกค้าระบบเติมเงิน 14.2 ล้านเลขหมาย และลูกค้าระบบรายเดือน 6.4 ล้านเลขหมาย
นอกจากนี้ กสทช. คาดการณ์ว่าการขับเคลื่อน 5G จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในปี 2563 มูลค่า 178,361 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.03% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) จากระบบเศรษฐกิจรายภาค เช่น ภาคอุตสาหกรรมการผลิต 31.5% มูลค่า 1,041.04 ล้านบาท ภาคการค้าและการเงิน 16% มูลค่า 529.77 ล้านบาท และภาคโทรคมนาคม 11.6% มูลค่า 381.71 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งการร่วมมือกันกับ ธปท. ครั้งนี้ อาจช่วยกระตุ้นให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1.05-1.07% ได้
นายฐากร กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ได้รับการประสานจาก บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือทรู คอร์ปอเรชั่น ว่าจะเข้าชำระเงินค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz งวดแรกจำนวน 1,912,399,111 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หรือคิดเป็น 10% ของราคาค่าใบอนุญาต 19,123,991,110 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) พร้อมรับใบอนุญาต และวางหนังสือค้ำประกัน (แบงก์การันตี) จากธนาคารเพื่อค้ำประกันการชำระเงินค่าใบอนุญาตในส่วนที่เหลือจำนวน 17,211,591,999 ล้านบาท ภายในสัปดาห์นี้