กสทช.ตั้งคณะทำงานติดตามการใช้งานคลื่น 2600 MHz หลัง เอไอเอส ร่วมกับ บีทีเอส ทดสอบแล้วคลื่นไม่รบกวนกัน พร้อมเดินหน้าทดสอบกับ บีอีเอ็ม ต่อเนื่อง หวังสร้างความมั่นใจในการใช้บริการ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กสทช.ได้ตั้ง "คณะทำงานประสานงานและติดตามการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2500 MHz" โดยมีคณะกรรมการจาก 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย กสทช.,บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส, อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.),บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม ผู้ให้บริการทางพิเศษและระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้า เพื่อติดตามการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2500-2600 MHz ที่เอไอเอสประมูลได้ ว่าในอนาคตระยะยาวสัญญาณจะไม่รบกวนระบบอาณัติสัญญาณของการเดินรถไฟฟ้า ซึ่งก่อนหน้านี้มีการทดสอบแล้วไม่มีปัญหา
นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่าเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่เอไอเอสและรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ศึกษาและทดสอบการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มความอุ่นใจให้แก่คนไทยในการใช้งานระบบ สื่อสารและระบบขนส่งมวลชนที่ดีที่สุด และทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐอย่างกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม และภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง
ที่ผ่านมา เอไอเอส ได้ทำการทดสอบเพื่อเก็บข้อมูลในการป้องกันปัญหาเรื่องคลื่นรบกวนมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ทั้งช่วงก่อนเปิดประมูลและเข้มข้นยิ่งขึ้นหลังจากการประมูลเสร็จเรียบร้อย ในทุกช่วงเวลา และทุกเส้นทางรถไฟฟ้า ซึ่งอยู่ในพื้นที่ขยายเครือข่ายทั้ง 4G / 5G ทั้งนี้ การทดสอบในเบื้องต้นยังไม่พบผลกระทบแต่อย่างใด นอกจากนี้ เอไอเอส ยังได้เริ่มทดสอบและป้องกันผลกระทบจากคลื่นความถี่ ร่วมกับบีอีเอ็ม ผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (สายสีม่วงและสีน้ำเงิน) แล้วเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ผลการทดสอบการใช้งานคลื่น 2500-2600 MHz ของเอไอเอส ซึ่งเป็นคลื่นที่อยู่ใกล้ชิดกับคลื่นวิทยุ 2400-2500 MHz ที่ระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้าบีทีเอสใช้อยู่ ปรากฎว่า ยังไม่พบผลกระทบระบบการเดินรถไฟฟ้าแต่อย่างใดนั้น ทั้ง เอไอเอส และ บีทีเอส จึงได้นำผลการทดสอบดังกล่าว เข้ารายงานต่อกสทช. เพื่อร่วมหารือและตั้งคณะกรรมการร่วมกันในการบูรณาการแนวทางการป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่ต่อระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้าในระยะยาวต่อไป