“ฐากร” เผย 5G เกิดขึ้นจริงแล้วเป็นประเทศแรกในอาเซียน ย้ำต้องปรับตัวรับเทคโนโลยีและธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้น คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ปี 2563 กว่า 178,361 ล้านบาท คิดเป็น 1.03% ของจีดีพี
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ “พลัง 5G ในการปรับโครงสร้างและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” ในงานดินเนอร์ทอล์ค ประจำปี 2563 เนื่องในโอกาสครบรอบ 65 ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยว่า หลายคนอาจจะมองว่าประเทศไทย สิ้นหวัง หมดหวัง หรือยัง สัญญาณเศรษฐกิจดับแล้วหรือไม่ ต้องบอกว่า ยัง เพราะเรายังมีโครงการเดินหน้าขับเคลื่อน 5G ที่เปรียบเสมือนเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ในการเดินหน้าเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้
เนื่องจาก ขณะนี้ ประเทศไทยกลายเป็นประเทศแรกในอาเซียนแล้วที่เปิดให้บริการ 5G ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ มาเลเซีย, สิงคโปร์ โดนพิษ โควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนการประมูล 5G ส่วนเวียดนามก็ยังไม่มีการเปิดเชิงพาณิชย์ แต่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) ไทย อย่าง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ประกาศแล้วว่าเป็นรายแรกในอาเซียนที่เปิดให้บริการ 5G แล้ว และคาดว่าภายในปีนี้โทรศัพท์มือถือจะสามารถใช้ 5G ได้หมดแม้ว่าจะยังมีราคาแพงอยู่ แต่เชื่อว่าไม่นานเมื่อเครื่องเหลือราคาเพียง 3,000 บาท ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึง
“ถ้าเราไม่ปรับตัว จะไม่ทันกับสถานการณ์การแข่งขัน กสทช. เคยบอกแล้วว่าเมื่อมี 3G จะเกิดอะไรขึ้น ใครปรับตัวไม่ได้ ก็ไม่รอด ซึ่งตอนนี้ 5G จะมาแล้ว ยิ่งต้องปรับตัวให้เร็วโดยเฉพาะทีวีดิจิทัล เพราะเป็นสื่อที่สำคัญในการสื่อสารของประเทศ “
นายฐากร กล่าวว่า พ.ค. 2563 ตนเองจะเกษียณการทำงานก่อน ซึ่งตลอดระยะเวลา 8 ปี (2555-2563) กสทช.จัดการประมูลคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคมและกิจการทีวีดิจิทัล มีรายได้จากการประมูลเข้ารัฐรวม 563,834.55 ล้านบาท แบ่งเป็น การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz เพื่อรองรับระบบ 3G มูลค่า 44,538.75 ล้านบาท, การประมูลทีวีดิจิทัล มูลค่า 38,770.38 ล้านบาท, การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เพื่อรองรับระบบ 4G มูลค่า 203,317.12 ล้านบาท คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz มูลค่า 113,206 ล้านบาท คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz มูลค่า 56,444.64 ล้านบาท
และล่าสุดการประมูลคลื่น5G มีรายได้จากการประมูลเข้ารัฐรวม 107,557.66 ล้านบาท แบ่งเป็น คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz มูลค่า 55,062.20 ล้านบาท คลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz มูลค่า 40,054.26 ล้านบาท และคลื่นความถี่ย่าน 26 MHz มูลค่า 12,441.20 ล้านบาท
ทั้งนี้ การขับเคลื่อน 5G จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในปี 2563 มูลค่า 178,361 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.03% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) เกิดมูลค่าการลงทุน 112,215 ล้านบาท และมีมูลค่าเพิ่มจากการใช้งานที่ 3,305 ล้านบาท จากระบบเศรษฐกิจรายภาค เช่น ภาคอุตสาหกรรมการผลิต 31.5% มูลค่า 1,041.04 ล้านบาท ภาคการค้าและการเงิน 16% มูลค่า 529.77 ล้านบาท
ภาคโทรคมนาคม 11.6% มูลค่า 381.71% ภาคบริการสาธารณะ 8.7% มูลค่า 286.53 ล้านบาท ภาคขนส่ง 5.4% มูลค่า 177.14 ล้านบาท ภาคการศึกษา 2.3% มูลค่า 74.36 ล้านบาท ภาคการแพทย์ 1% มูลค่า 32.06 ล้านบาท และอื่นๆ 23.7% มูลค่า 782.93 ล้านบาท ขณะที่ปี 2564 คาดว่า 5G จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 337,529 ล้านบาท และปี 2565 มูลค่า 490,687 ล้านบาท
ทั้งนี้ 5G จะช่วยปรับโครงสร้างของประเทศ อาทิ ภาคการผลิต ในการส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชน, ภาคการเงินการธนาคาร ที่ผู้บริโภคจะทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโมบายแบงกิ้งแทนการเดินทางไปธนาคาร มีมูลค่าธุรกรรมการชำระเงินผ่านโมบายแบงกิ้งเพิ่มขึ้นกว่า 18,582% จากในปี 2553 มีมูลค่า 11,000 ล้านบาท เป็น 2,055,000 ล้านบาท ส่งผลให้ธนาคารปิดสาขาไป 162 สาขา จาก 4,311 สาขาในปี 2561 เป็น 4,149 สาขาในปี 2562 ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทย ปิดสาขามากที่สุดจำนวน 73 สาขา
ขณะที่ ภาคการเมือง จะมีการหาเสียงในสังคมเสมือนจริง อีกทั้งมีระบบการเลือกตั้งเป็นดิจิทัล ส่วนภาคสังคมและคุณภาพชีวิต จะมีการอพยพย้ายถิ่นฐานลดลง อีกทั้งมีระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ ระบบรักษาความปลอดภัยดีขึ้น และสามารถลดระยะเวลารวมถึงความปลอดภัยจากการเดินทาง ขณะที่ ภาคการศึกษา เกิดการเรียนการสอนที่ไร้พรมแดน โดยมีการนำหุ่นยนต์เสมือนมาช่วยอำนวยความสะดวก และภาคสาธารณสุข ที่มีการนำ 5G มาทดแทนการผ่าตัดที่มีการเชื่อมต่อแบบสาย ใช้หุ่นยนต์ในการวินิจฉัยโรค สั่งยา และจัดลำดับในการเข้าพบแพทย์ตามความเสี่ยงของผู้ป่วย
“ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ เพื่อให้ภาคธุรกิจดังกล่าวเดินหน้า เพราะคณะกรรมการชุดนี้จะมีหน้าที่ในการวางนโยบายการขับเคลื่อนเพื่อให้ 5G เกิดในทุกภาคส่วน"