ตรัง - ผู้คนแห่กันไปสัมผัสวิถีชีวิตชนเผ่ามันนิ หรือซาไก ที่อาศัยอยู่บนเทือกเขาบรรทัด รอยต่อตรัง-สตูล โดยเฉพาะ “กลุ่มท่าเขา” ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้ตัวเมืองที่สุด
วันนี้ (22 พ.ค.) บรรดานักท่องเที่ยว รวมทั้งกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปต่างให้ความสนใจเดินทางไปยังเขาน้ำเต้า ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 5 ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เขตรอยต่อกับจังหวัดสตูล เพื่อชมวิถีชีวิตของชนเผ่าซาไก หรือมันนิ หรือเงาะป่า ที่อาศัยอยู่บริเวณเทือกเขาบรรทัด โดยเฉพาะกลุ่มท่าเขา ซึ่งมีสมาชิกราวๆ 30-40 คน และมีชายโสะ ที่มีอายุประมาณ 100 ปี เป็นหัวหน้า เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้ตัวเมืองที่สุด จึงสะดวกสำหรับการเดินทางไปเยือน รวมทั้งนำข้าวของไปมอบให้ พร้อมกับถ่ายภาพเป็นที่ระลึก เพียงนั่งรถยนต์เข้าไปและเดินเท้าต่อไปอีกประมาณ 20 นาทีเท่านั้น
ทั้งนี้ ซาไก ถือเป็นชนเผ่าดั้งเดิมที่อาศัยอยู่บนเทือกเขาบรรทัด ช่วงรอยต่อระหว่างจังหวัดพัทลุง ตรัง และสตูล มาเป็นเวลายาวนานแล้ว ซึ่งล่าสุด ทางจังหวัดได้มีการสำรวจเพื่อทำบัตรประจำตัวประชาชน และให้ใช้นามสกุล “ศรีปะเหลียน” จึงมีสิทธิ หรือสวัสดิการขั้นพื้นฐาน เช่น การรักษาพยาบาล เบี้ยเลี้ยงคนพิการ อย่างไรก็ตาม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของซาไกในยุคปัจจุบัน ได้เปลี่ยนแปลงไปจากยุคก่อนๆ ค่อนข้างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอิทธิพลด้านความเจริญของคนเมืองที่แผ่กระจายเข้าไปถึง โดยยังคงมีการขุดหาหัวเผือกหัวมัน หรือเก็บพืชผักตามธรรมชาติ รวมทั้งหาของป่า และล่าสัตว์ป่าแค่ในบางโอกาส
นายพรทวี สรรเพ็ชร ชาวบ้านตำบลลิพัง หนึ่งในไกด์ท้องถิ่น กล่าวว่า ขณะนี้มีทั้งผู้คนและหน่วยงานต่างๆ เข้าไปเยี่ยมเยียนชนเผ่าซาไกอย่างต่อเนื่อง โดยหลายคนรู้สึกตื่นเต้นที่ได้สัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา พร้อมกับทำกิจกรรมร่วมกันด้วยความสนุกสนาน ทำให้วิถีชีวิตของชนเผ่าซาไกเริ่มเปลี่ยนหลายอย่าง เช่น จะมีการสร้างบ้าน หรือทับหลังเล็กๆ อยู่อาศัยเป็นการถาวร แทนที่จะอพยพย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ ทุกปี หรือสามารถขี่รถจักรยานยนต์ออกมาซื้ออาหารตามหมู่บ้านข้างนอกเพื่อนำกลับไปปรุงกินเอง ซึ่งเชื่อว่าอีกไม่นานพวกเขาก็คงมีวิถีชีวิตเหมือนกับคนเมืองแล้ว