'ฐากร' เลขาธิการกสทช. ส่งสัญญาณ ถึง บอร์ด กสทช.ชุดใหม่ ไม่ต้องกังวลเรื่องประมูลคลื่น 3500 MHz เพราะยังไม่ถึงเวลาต้องประมูล ชี้สิ่งที่ควรโฟกัสคือการจัดระเบียบและนำสายสื่อสารลงดินทั่วประเทศภายใน 2 ปี เผยเอกชนทวงสัญญาตั้งบอร์ด 5G แห่งชาติ ฝากกระทรวงดีอีเอสเร่งผลักดัน
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ขณะนี้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ พ.ศ. ... หรือ พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่ อยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อพิจารณาเนื้อหาอีกครั้งหนึ่งโดยจะใช้เวลา 30 วัน ในการพิจารณา
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม ในประเด็นสำคัญคือ เพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการกสทช., แก้ไขเพิ่มเติมลักษณะต้องห้ามของกรรมการ กสทช. กรณีเคยถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด, ปรับปรุงอำนาจของคณะกรรมการสรรหาในการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของผู้มีสิทธิ์รับสมัครเข้ารับการสรรหา, ปรับปรุงลักษณะของผู้มีสิทธิ์สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการกสทช., ปรับปรุงกระบวนการสรรหา คัดเลือก และแต่งตั้ง และเพิ่มการกำหนดให้กรรมการสรรหามีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร
ก่อนหน้านี้กฎหมายดังกล่าวได้รับการปรับปรุงแก้ไขเป็นฉบับที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2560 แต่พบว่าเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ทำให้การสรรหาและคัดเลือกบุคคลไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย อีกทั้งมีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติผู้ได้รับการคัดเลือก จึงต้องมีการแก้ไขข้อขัดข้องในการสรรหา และคัดเลือกบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งดังกล่าว
นายฐากร กล่าวว่า สำหรับงานของกรรมการกสทช.ชุดใหม่ เรื่องประมูลคลื่นคงไมใช่เรื่องแรกๆที่ต้องทำแล้ว เพราะคลื่นต่างๆ เพิ่งประมูลเสร็จ ส่วนคลื่น 3500 MHz ก็ยังไม่ต้องรีบประมูลในปีนี้ เพราะปีหน้าถึงจะหมดสัญญาสัมปทาน (ไทยคม) แต่สิ่งที่ต้องเร่งทำคือ การเร่งดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารและการนำสายสื่อสารลงดินทั่วทั้งประเทศ
เนื่องจากเป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับทุกหน่วยงาน อาทิ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กรุงเทพมหานคร ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง และผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งก่อให้เกิดทัศนียภาพอันสวยงามโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการวางสายสื่อสารใหม่ ก็จะทำให้สะดวกขึ้นด้วย
'ถามว่า การทำทั่วประเทศยากไหม สำหรับตนเอง หากตนเองได้ทำ คิดว่าจะใช้เวลาเพียง 2 ปี เท่านั้น เพราะตนเองเป็นคนทำงานเลย ไม่ต้องรอประเมินว่าโครงการนี้ โครงการนั้น ต้องสำเร็จ 80-90% ก่อน ถึงทำ หากตนเองประเมินแล้วว่า แค่ 60% ก็ทำได้ ก็ลงมือเลย เพราะงานทุกอย่างมีปัญหาอยู่แล้ว แต่ตนเองไม่ย่อท้อต่อปัญหา ต้องหาทางแก้ปัญหาไปด้วย ที่สำคัญงานที่ทำต้องไม่เกี่ยวข้อง หรือ ถูกโยงไปในเรื่องของการทุจริต คอร์รัปชั่น ไม่เช่นนั้น ชะงักทุกโครงการ เมื่อมีคนท้วงติง มันทำงานไม่ได้อยู่แล้ว'
นายฐากร กล่าวว่า ส่วนเรื่องการขับเคลื่อน 5G นั้น ตอนนี้เอกชนก็ถามหาความชัดเจนของการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาติแล้ว ต้องฝากไปถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในการเสนอเรื่องดังกล่าวไปยังรัฐบาลด้วย เพราะ กสทช.ต้องการให้เอกชนที่ชนะการประมูลนำคลื่น 5G มาสร้างบริการสาธารณะ เช่น ระบบโรงพยาบาลอัจฉริยะ ให้เกิดขึ้นจริง โดยเอกชนที่ลงทุนสามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักในส่วนของกองทุน USO ของกสทช.ได้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ที่มีเอกชมาจ่ายค่าคลื่น 26 GHz คือ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค จำนวน 2 ใบอนุญาต มูลค่า 974 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หลังกสทช.หักเงิน 15% เข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) แล้ว ก็สามารถนำเงินส่งคลังได้ทันที
ส่วนเงินค่าคลื่น 2600 MHz ที่บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เข้าชำระเงินค่าใบอนุญาตงวดแรกจำนวน 2,093.027 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) นั้น ต้องรอความชัดเจนของการหักเงินค่าเยียวยาคลื่นแก่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ก่อนว่าจะสรุปที่ตัวเลขเท่าไหร่ ถึงจะส่งเงินให้รัฐบาลได้
ขณะที่คลื่น 700 MHz หากผู้ชนะการประมูลจะชำระเงินงวดแรกก่อนก็ได้ แต่หากยังไม่สะดวกเพราะคลื่นยังใช้งานไม่ได้เนื่องจากติดสัญญาณไมโครโฟน กสทช.ก็ให้เวลาให้มาชำระภายใน 15 วันก่อนวันเริ่มต้นการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ซึ่ง กสทช. กำหนดเบื้องต้นให้เริ่มในวันที่ 1 เมษายน 2564 รวมถึงคลื่น 26 GHz ซึ่งหากค่ายไหนยังไม่พร้อมเพราะมีเหตุผลว่ายังใช้งานไม่ได้ กสทช.ก็ให้เวลา 1 ปี นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูล
ส่วนกระแสข่าวที่ระบุว่าตนเองได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งโดยจะมีผลในเดือน พ.ค. 2563 ก่อนที่จะเกษียณอายุในเดือน ก.ย. 63 นั้น นายฐากร ขอไม่กล่าวถึงรายละเอียดดังกล่าว แต่ขอย้ำให้โฟกัสที่การทำงานในปัจจุบันมากกว่า เพราะเรื่องลาออกนั้นเป็นเรื่องของอนาคตที่ยังมาไม่ถึง