xs
xsm
sm
md
lg

อรุณรุ่ง โทรคมไทย (ตอนที่1) 3G : ทลายขีดจำกัดโทรคมไร้สายไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เช้าสดใสในวันที่ตื่นขึ้นมาพบว่า ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่เปิดบริการ 5G เชิงพาณิชย์บนโทรศัพท์มือถือ แต่กว่าจะถึงวันนี้ ไทยก็มีเส้นทางที่ไม่ได้ราบเรียบ ราบรื่นมาตั้งแต่ต้น ซีรีส์ 3 ตอนจบจะย้อนอดีต บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น กว่าจะเกิด 5G ในไทย โดยเฉพาะการวางหมากทลายกำแพงกั้นเรื่องคลื่นความถี่ ภายใต้การวางเกมแยบยลของ 'ฐากร ตัณฑสิทธิ์' เลขาธิการ กสทช.

*** 3G ทลายขีดจำกัดโทรคมไร้สายไทย

จุดเริ่มต้นความรุ่งเรืองในอุตสาหกรรมโทรคมไทย เกิดขึ้นในวันที่ 16 ตุลาคม 2555 ซึ่งเป็นวันที่ กสทช. เปิดประมูลคลื่น 3G บนย่าน 2100 MHz ทำให้ไทยเริ่มการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัญญาสัมปทานสู่ระบบใบอนุญาต ซึ่งถือเป็นการพลิกโฉมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมประเทศไทยอย่างสมบูรณ์แบบ

เพียงแต่ว่ากว่าจะถึงการประมูลคลื่น 2100 MHz เหล่าโอเปอเรเตอร์ต่างเผชิญปัญหา และข้อติดขัดในเรื่องจำนวนคลื่นในการให้บริการบนคลื่นสัมปทานเดิม ที่ไม่เพียงพอกับการนำมาให้บริการ แม้ว่าจะมีความหวังจากการที่ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เตรียมเปิดที่จะประมูลคลื่น 3G ในวันที่ 16 กันยายน 2553 แต่ก็มีเหตุการณ์ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางเพื่อสั่งระงับการประมูล 3G จนทำให้กลายประมูลครั้งนั้นต้องเลื่อนออกไป

ในระหว่างนั้น โอเปอเรเตอร์ทั้งหลาย จึงต้องงัดทั้งเทคโนโลยี แผนการตลาด ทำทุกรูปแบบเพื่อให้บริการลูกค้าให้ได้บนคลื่น 900 MHz และ 850 MHz ที่ถือครองในเวลานั้น จนทำให้ไทยเกือบเป็นประเทศสุดท้ายในโลกที่ให้บริการ 3G

*** 3G บนสัมปทาน - โรมมิ่ง – สัญญาโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่

สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างที่การประมูลคลื่น 3G ยังไม่เกิดขึ้น แต่ดีไวซ์ และผู้บริโภค พร้อมแล้วที่จะเข้าสู่ยุคของโมบายดาต้า ทำให้ผู้ให้บริการอย่าง เอไอเอส และทรู ต่างงัดกระบวนท่ามาให้บริการแก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการยื่นขอทางกทช. เพื่อให้สามารถให้บริการ 3G บนสัญญาสัมปทานเดิม การโรมมิ่งใช้งาน 3G ระหว่าง เอไอเอส และทีโอที บนคลื่น 900 MHz เพื่อให้ประสบการณ์ใช้งาน 3G แก่ลูกค้า

จนถึงสัญญาธุรกิจโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่ ระหว่าง กสท โทรคมนาคม กับทาง บีเอฟเคที หรือที่รู้จักกันในชื่อ สัญญา BFKT ที่ให้ทางกลุ่มทรู สามารถนำคลื่น 850 MHz ของทาง กสท โทรคมนาคม มาให้บริการ 3G

อย่างไรก็ตาม รูปแบบการให้บริการ 3G ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ไม่ใช่แนวทางที่ดีที่สุดในการให้บริการ 3G เพราะทุกค่ายต่างต้องการลงทุน 3G บนใบอนุญาตถือครองคลื่นความถี่ ที่จะเปิดประมูลในอนาคต ไม่ใช่การลงทุนบนสัญญาสัมปทานที่ใกล้หมดลง

แม้กระทั่ง ดีแทค ที่ในช่วงแรกมองว่ายังให้บริการบนเทคโนโลยี EDGE ต่อเนื่องไปก่อนได้ แต่สุดท้ายแล้วเมื่อมีการล้มการประมูล 3G ในวันที่ 16 กันยายน สุดท้าย ก็ต้องเริ่มเปิดให้บริการ 3G บนสัญญาสัมปทาน กับทาง กสท โทรคมนาคม

*** สู่การประมูลคลื่นครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย

ปัญหาทั้งหมด กลับมาปลดล็อกด้วยเหตุการณ์ประมูลคลื่น 3G 2100 MHz ที่แม้ว่าในเวลานั้นถูกสังคมตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการประมูล ที่ไม่มีการแข่งขัน เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมการประมูล 3 ราย ทำให้สามารถเลือกเคาะประมูลไปค่ายละ 3 ใบอนุญาต รายละ 15 MHz จากที่นำมาเปิดประมูลทั้งหมด 45 MHz กำหนดระยะเวลา 15 ปี

สำหรับผู้ที่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 3G 2100 MHz ในครั้งนั้น ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN)ในเครือบริษัทของ เอไอเอส บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ของกลุ่มทรู และ บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด โดยในระหว่างการเข้าประมูล เอไอเอส เป็นรายเดียวที่มีการเคาะราคาประมูลเพิ่มขึ้นไปเป็น 14,625 ล้านบาท เพื่อให้ได้สิทธิในการเลือกช่วงคลื่นความถี่ที่นำมาให้บริการ โดยเลือกช่วงคลื่น 1950 MHz -1965 MHz และ 2140 MHz – 2155 MHz ซึ่งเป็นช่วงคลื่นที่ติดกับคลื่นความถี่ที่ ทีโอที ถือครองอยู่ และในภายหลังเอไอเอส ได้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับทางทีโอที นำคลื่น 2100 MHz มาโรมมิ่งให้บริการ

ในขณะที่ทรู และ ดีแทค ซึ่งเสนอราคาเท่ากันเป็นเงิน 13,500 ล้านบาท ทางทรู จับสลากได้เลือกคลื่นก่อน ทำให้เลือกช่วงคลื่นความถี่ 1935 MHz – 1950 MHz และ 2125 MHz – 2140 MHz ไปใช้งาน ส่วนทาง ดีแทค ได้ย่านความถี่ 1920 MHz – 1935 MHz และ 2110 MHz – 2125 MHz ไป

ก่อนที่โอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 รายจะนำคลื่นความถี่ 3G มาเปิดให้บริการในช่วงเดือนพฤษภาคม 2556 ประกอบกับการที่เทคโนโลยีมีความพร้อมอยู่มากแล้ว ทำให้การขยายพื้นที่ให้บริการครอบคลุมได้รวดเร็ว และปูทางไปสู่ยุค 4G

หนึ่งในความโชคดีที่การเปิดให้บริการ 3G ในประเทศไทยล่าช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในโลก นั้นทำให้เทคโนโลยีที่นำมาใช้งานไม่ใช่ 3G ในยุคเริ่มต้นอย่าง HSPA ที่ให้ความเร็วเพียง 384 Kbps แต่เป็น 3.9G หรือ HSPA+ ที่ให้ความเร็วในการเชื่อมต่อสูงสุดที่ 42 Mbpsโดยสรุปแล้วในการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 3G ครั้งแรกนี้ กสทช. สามารถทำรายได้เข้ารัฐทั้งสิ้น 41,625 ล้านบาท พร้อมกับเกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมตามมา ทำให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงเทคโนโลยี 3G ที่แท้จริง

ขณะเดียวกัน มูลค่าใบอนุญาต 3G กว่า 41,625 ล้านบาท นี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการนำทรัพยากรคลื่นความถี่มาสร้างรายได้หลายแสนล้านบาทให้แก่รัฐในยุคของ 4G และ 5G ในตอนต่อๆ ไป


กำลังโหลดความคิดเห็น