xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวต่อไปของ ‘AIS’ ชู 5G เป็นจุดเริ่มต้นทศวรรษใหม่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



915,000 ล้านบาท คือจำนวนเงินที่เอไอเอส ส่งมอบให้แก่ภาครัฐตลอดระยะเวลาดำเนินงานกว่า 30 ปี และใช้เงินลงทุนในประเทศไปแล้วกว่า 1.1 ล้านล้านบาท ในการปลุกปั้นเทคโนโลยีสื่อสารตั้งแต่ยุค 1G ต่อเนื่องมายัง 2G 3G 4G และล่าสุดคือ 5G ที่จะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย

จากการลงทุนดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมสื่อสาร ที่ในภาพรวมตลาดขยายตัวมากถึงกว่า 90 ล้านเลขหมาย และเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถ และการแข่งขันให้คนไทย


โดยการส่งมอบรายได้กว่า 9.15 แสนล้านบาท นั้นมาจากหลายช่องทาง ทั้งในแง่ของการแบ่งส่วนแบ่งรายได้ การโอนถ่ายทรัพย์สินให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยตามสัญญาสัมปทาน ภาษี การประมูลคลื่นความถี่ และค่าบริการเลขหมาย

ส่วนในมุมของเงินลงทุนกว่า 1.1 ล้านล้านบาท จะถูกใช้ในการลงทุนโครงข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเฉพาะในปีนี้ที่ใช้เงินลงทุนโครงข่าย 5G ไปกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท เพื่อทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่พร้อมให้บริการ 5G ครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมกับยืนยันว่า เอไอเอส จะเดินหน้าลงทุนต่อเนื่องในอนาคตข้างหน้า โดยเฉพาะการขยายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้ครอบคลุม และเพิ่มประสิทธิภาพในการเป็นช่องทางสื่อสาร และใช้งานแก่คนไทยทุกคน ซึ่งตามปกติแล้วในแต่ละปีจะมีการใช้เงินลงทุนต่อเนื่องไม่ต่ำกว่าปีละ 1-2 หมื่นล้านบาท

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอส เลือกนำเทคโนโลยี 5G มาเป็นจุดเริ่มต้นของทศวรรษใหม่ ที่จะนำ 5G เข้าไปช่วยสนับสนุนธุรกิจในทุกภาคอุตสาหกรรม และยกระดับโครงสร้างพื้นฐานให้ทุกภาคส่วน ที่จะช่วยให้สังคมเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเอไอเอสพร้อมที่จะเดินหน้าตามแผนในการขยายโครงข่ายที่วางไว้ เพื่อรองรับทั้งสมาร์ทดีไวซ์ และอีโคซิสเตมส์ที่กำลังเข้าสู่ตลาด ซึ่งถ้าทุกส่วนสมบูรณ์มากเท่าไหร่ก็พร้อมที่จะขยายโครงข่ายให้รองรับเพิ่มมากเท่านั้น

“การให้บริการ 5G นั้นเฉพาะผู้ให้บริการเครือข่ายเพียงฝั่งเดียวไม่สามารถให้บริการได้ แต่ต้องประกอบไปด้วยอุปกรณ์ที่รองรับการเชื่อมต่อ 5G ที่ไม่ใช่แค่สมาร์ทโฟน แต่รวมถึงสมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ ที่ต้องการความเร็วในการเชื่อมต่อ ความหน่วงต่ำ และความเสถียรในการใช้งาน”

ที่สำคัญคือ การพัฒนาแอปพลิเคชันที่จะเข้าไปเสริมการใช้งานในแต่ละภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากในช่วงนี้ถือเป็นยุคเริ่มต้นของการให้บริการ 5G ทุกๆ อุตสาหกรรมต่างกำลังมองหารูปแบบในการนำ 5G ไปช่วยขยายธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แม้ว่าโดยส่วนตัวแล้ว ‘สมชัย’ เชื่อว่า 5G ในระดับผู้ใช้งานทั่วไปจะไม่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น แต่เมื่อโอกาสมาถึง และในอีกมุมก็คือการลงทุนเพื่อช่วยให้ประเทศไทยได้เปรียบในการแข่งขันกับต่างประเทศ จึงเป็นที่มาของการเร่งลงทุนโครงข่าย 5G ในประเทศไทย สอดคล้องกับช่วงระยะเวลา 30 ปีในการให้บริการ และก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 ของ AIS ไปพร้อมกับเทคโนโลยีนี้

“ส่วนตัวแล้วเชื่อว่าอีกราว 2 ปี 5G ถึงจะกลายเป็นรูปแบบการสื่อสารที่ผู้บริโภคทั่วไปเริ่มเห็นความสำคัญ เพราะกว่าเทคโนโลยี แอปพลิเคชัน และดีไวซ์ จะพร้อมให้บริการแบบเต็มรูปแบบอาจต้องใช้เวลาอีก 2-5 ปีข้างหน้า”

5G คลุมทั่วประเทศ พร้อมขยายตามการใช้งาน


ด้วยเม็ดเงินลงทุนในปีนี้ที่ใช้ไปกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท ทำให้ปัจจุบัน เอไอเอส สามารถให้บริการ 5G ได้ครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว เพียงแต่ในต่างจังหวัดจะเน้นการให้บริการในจุดสำคัญๆ ที่มีโอกาสนำไปต่อยอดใช้งาน อย่างการให้บริการทางการแพทย์ เป็นต้น โดยปัจจุบัน เอไอเอส มีสถานีฐาน 5G ราว 40,700 แห่ง ให้บริการครอบคลุม 60% ของพื้นที่กรุงเทพฯ และ 16% ของพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC นั้นให้บริการ 5G ครอบคลุมไปแล้วกว่า 90% ของพื้นที่

ขณะเดียวกัน ประเมินว่าในตลาดเวลานี้มีผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนที่รองรับการเชื่อมต่อ 5G อยู่ราว 1.5 แสนราย โดยอยู่ภายในเครือข่ายเอไอเอส ราว 6-7 หมื่นเครื่อง และเชื่อว่าถึงสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 1 แสนเครื่องเป็นอย่างน้อย

ส่วนจำนวนสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G ในท้องตลาดเวลานี้มีไม่ต่ำกว่า 12 รุ่น และตามแผนของแบรนด์ต่างๆ จนถึงสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 30 รุ่น และทยอยเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 40 รุ่นในปี 2564

แน่นอนว่าเมื่อมีการใช้งานเครือข่าย 5G เพิ่มมากขึ้น ปริมาณการใช้งานดาต้าของผู้ใช้งานจะเพิ่มขึ้นอีกราว 2-3 เท่าตัว เพราะเมื่อเครื่องเชื่อมต่อได้เร็วกว่าเดิม ก็จะทำให้มีการใช้งานเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันลูกค้าที่ใช้งาน 5G จะมีการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ราว 15 GB ต่อเดือน

“ในแง่ของการขยายพื้นที่ให้บริการ เอไอเอส มีการดูดีมานด์ของการใช้งานอยู่แล้ว ถ้าพบว่าในพื้นที่ไหนมีอุปกรณ์ที่รองรับการใช้งาน 5G เพิ่มมากขึ้น ก็พร้อมที่จะปรับโครงข่ายให้รองรับ 5G เพิ่มเข้าไป”

ข้อดีอย่างหนึ่งคือเมื่อลูกค้าบางส่วนย้ายไปเชื่อมต่อบนเครือข่าย 5G โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีการใช้งานดาต้าสูง ก็จะช่วยลดภาระของโครงข่าย 3G 4G ได้ ช่วยให้ประสบการณ์ใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ตโดยรวมของลูกค้าดีขึ้น

เพื่อให้สอดคล้องต่อการใช้งานของกลุ่มผู้ใช้ 5G ทางเอไอเอส จึงได้มีการนำเสนอแพกเกจ AIS 5G Max Speed เพิ่มขึ้นมา เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้เร็วที่สุด 1 Gbps ในราคาเริ่มต้นเดือนละ 699 บาท-899 บาท ที่จะได้เน็ต 50-80 GB และถ้าต้องการใช้งานแบบไม่จำกัดจะเริ่มต้นที่ 1,199 บาท

ความพิเศษของแพกเกจ AIS 5G Max Speed คือการเปิดให้ลูกค้าโทร.ในเครือข่ายฟรี 24 ชั่วโมง นั่นหมายถึงสิทธิของผู้ใช้ที่จะโทร.หาเบอร์เอไอเอสกว่า 41 ล้านเลขหมายได้ฟรีๆ พร้อมนำเสนอ 5G Service เพิ่มเติม เพื่อให้ประสบการณ์ใช้งานที่ดีแก่ผู้ใช้

เสริมขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรม

ต่อเนื่องจากภารกิจฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยด้วย AIS 5G และการทดลองทดสอบใช้งาน 5G ในภาคอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่องด้วยการเข้าไปทำงานกับพันธมิตรชั้นนำในแต่ละอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ที่ให้บริการ 5G ครอบคลุมแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นการร่วมสนับสนุน 5G Smart City ในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม 5G Smart Airport บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ยังมีการร่วมทดสอบการใช้ 5G ในการให้คำปรึกษาบริหารจัดการโรงงานข้ามประเทศระหว่างไทยและญี่ปุ่นด้วย

“ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ชาวต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ เอไอเอส จึงได้ทำงานร่วมกับทาง NTT Docomo นำเทคโนโลยี 5G ผสมผสานกับ AR เพื่อนำมาใช้ให้คำปรึกษาระหว่างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม กับในประเทศญี่ปุ่นขึ้นมา”

นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบนำเทคโนโลยี 5G Private Network ร่วมกับผู้ผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรมอย่าง Bosch ภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม Eastern Seaboard และร่วมกับ SNC มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลภาคตะวันออก นำ 5G ไปควบคุมแขนกลและพาหนะ AGV ได้จากระยะไกล จะเห็นได้ว่า การนำ 5G ไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับความต้องการในการใช้งาน ดังนั้น เอไอเอส จึงมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อนำเทคโนโลยี 5G เข้าไปตอบสนองความต้องการในการใช้งานให้มากที่สุด

ปรับภาพธุรกิจค้าปลีก


ถัดมาในส่วนของปัจจัยที่จะทำให้ผู้บริโภคให้ความสนใจกับเทคโนโลยี 5G มากขึ้น คือการนำเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเข้ามาให้ลูกค้าได้ใช้งาน โดยเอไอเอส ได้เข้าไปร่วมกับทางเซ็นทรัลพัฒนา เตรียมนำ AIS 5G Smart Mirror เข้ามาให้บริการเพื่อพลิกโฉมของการเลือกซื้อสินค้าในธุรกิจรีเทล

ความสามารถของ Smart Mirror คือจะใช้เทคโนโลยี AR มาจับภาพ พร้อมกับใช้ AI ช่วยประมวลผลในการนำเสนอสินค้าให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้ออย่างสะดวกสบาย และลดความเสี่ยงจากการสัมผัสไปในตัว ซึ่งในช่วงแรกจะเหมาะกับร้านค้าเสื้อผ้า ที่เปิดให้ผู้บริโภคได้ทดลองสวมใส่เสื้อผ้าผ่านกระจกอัจฉริยะได้ทันที

อีกส่วนที่เป็นการต่อยอดมาจาก AIS 5G Virtual Mall ที่เข้าไปช่วยสนับสนุนร้านค้า SMEs ให้มาเปิดร้านผ่านช่องทางออนไลน์ ล่าสุด ก็เข้าไปจับมือกับทาง One Siam, ทีวีไดเร็ค และทีซีดีอี นำสินค้า และบริการมาเปิดร้านบนศูนย์การค้าในโลกเสมือน เพื่อให้ผู้ประกอบการกว่า 5,000 รายสามารถจำหน่ายสินค้าได้อย่างไร้ข้อจำกัด

แอปสำหรับคอนซูเมอร์ยังท้าทาย


นอกเหนือจากการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมแล้ว สิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคหันมาเลือกใช้งาน 5G หรือเปลี่ยนแพกเกจสมาร์ทโฟนมาเป็น 5G เพื่อใช้งานนั้น คือรูปแบบการให้บริการ หรือแอปพลิเคชันที่จะนำศักยภาพของเครือข่าย 5G มาให้เห็น

ที่ผ่านมา เทคโนโลยีอย่าง AR และ VR กลายเป็น 2 รูปแบบหลักที่จะนำมาใช้งานกับ 5G แต่ด้วยข้อจำกัดในการพัฒนาทำให้ต้องใช้ระยะเวลาอีกช่วงหนึ่งกว่าจะสมบูรณ์แบบ

ขณะเดียวกัน ในต่างประเทศบริการอย่าง Cloud Gaming หรือการเล่นเกมในรูปแบบของการสตรีมมิ่งกำลังได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น เพราะช่วยให้ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องเกม หรือคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง แต่ใช้การสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ตในการเล่นแทน


ในจุดนี้ เอไอเอส ก็มองเห็นถึงโอกาสเช่นเดียวกัน จึงเข้าไปจับมือกับทาง Gameloft นำบริการ AIS 5G Cloud Game เข้ามาเริ่มให้บริการ เพียงแต่ว่าด้วยการที่แพลตฟอร์มนี้ไม่ได้เป็นเแพลตฟอร์มหลักที่นิยมในต่างประเทศ ทำให้เกมที่มีอยู่จำกัด

ทางออกของปัญหานี้ คือ การเข้าไปร่วมกับทางผู้ให้บริการคลาวด์เกมมิ่งรายใหญ่ไม่ว่าจะเป็นไมโครซอฟท์ กูเกิล หรือแม้แต่ทางโซนี่ นำแพลตฟอร์มอย่าง xCloud, Stadia หรือแม้แต่ PlayStation Now มาให้บริการ เชื่อว่าจะดึงความสนใจของผู้บริโภคได้มากกว่า

เพียงแต่ว่าต้องแสดงให้เห็นชัดเจนให้ได้ว่า การนำมาเล่นบน AIS 5G จะช่วยเสริมประสบการณ์ในการเล่นให้ดีกว่าได้อย่างไร ซึ่งจะกลายเป็นประตูที่ขยายการใช้งาน 5G ให้แก่ผู้บริโภคทั่วไปมากขึ้นด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น