xs
xsm
sm
md
lg

แก้ กม.ล้างบางมิจฉาชีพหุ้น / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำลังยกเครื่องมาตรการปราบปรามการกระทำความผิดในตลาดหุ้นครั้งใหญ่ โดย เพิ่มอำนาจ ก.ล.ต.ในการสอบสวนและทำสำนวนส่งฟ้องอัยการได้โดยตรง เพื่อปิดช่องว่างการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่เกิดขึ้นตลอด 28 ปีที่ผ่านมา

ภายใน 6 เดือนแรกปีหน้า ก.ล.ต.จะเสนอปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ในหลายด้าน โดยหนึ่งสิ่งที่จะปรับปรุงคือ การให้อำนาจ ก.ล.ต.ทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวน เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดได้

น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต.ระบุว่า ที่ผ่านมาการดำเนินคดีผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มีความล่าช้า เพราะเมื่อร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้ว คดีจะต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ จึงเสนอแก้กฎหมาย ให้ ก.ล.ต.เป็นพนักงานสอบสวน และทำสำนวนส่งอัยการฟ้องได้เอง นอกเหนือจากการเพิ่มอำนาจเป็นพนักงานสอบสวนแล้ว ก.ล.ต.ยังพิจารณามาตรการลงโทษที่เหมาะสมตามความร้ายแรงของการกระทำความผิดด้วย

การดำเนินคดีความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มีช่องโหว่จริงๆ และช่องโหว่ไม่ได้อยู่ที่เงื่อนเวลาการดำเนินคดีที่ล่าช้า แต่อยู่ที่คดีมักจะถูกตัดตอนในชั้นพนักงานสอบสวน หรือการพิจารณาสำนวน โดยไม่ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล

นับตั้งแต่ พ.ร.บ.หลักทรัพย์มีผลบังคับใช้ในปี 2535 ก.ล.ต.ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำความผิดในตลาดหุ้นคดีร้ายแรงไปแล้วนับร้อยคดี ไม่ว่าจะเป็นคดีปั่นหุ้น การยักยอกทรัพย์ การผ่องถ่ายไซฟ่อนเงินจากบริษัทจดทะเบียน การสร้างข้อมูลอันเป็นเท็จ และการใช้ข้อมูลภายในแสวงหาประโยชน์จากการซื้อขายหุ้น

การกล่าวโทษร้องทุกข์จะต้องผ่านกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หรือกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมเศรษฐกิจ (ปอศ.)

แต่คดีส่วนใหญ่ เมื่อ ส่งจากมือ ก.ล.ต.ไปแล้ว มักเงียบหาย ถูกดอง ถูกเป่า ถูกตัดตอน คดีถูกใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้อง ทำให้ ก.ล.ต.เหนื่อยเปล่า ขณะที่อาชญากรในตลาดหุ้นลอยนวล

แม้ ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์จะเข้มงวดในการตรวจสอบ กำกับดูแล และดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดเพียงใด แต่เมื่อคดีถูกตัดตอน แก๊งมิจฉาชีพในตลาดหุ้นสามารถวิ่งเต้นหน่วยงานอื่นได้ กฎหมายจึงขาดความศักดิ์สิทธิ์ ก.ล.ต.จึงกลายเป็นเสือกระดาษ ไม่สามารถจับอาชญากรในตลาดหุ้นมาลงโทษให้สาสมกับความผิดที่ก่อไว้ได้

ทั้งที่คดีความผิดร้ายแรงในตลาดหุ้น สร้างความเสียหายให้นักลงทุนนับหมื่นนับแสนคน

คดีอาชญากรรมในตลาดหุ้น ตลอดระยะเวลากว่า 45 ปี ไม่เคยลดลง เพราะอาชญากรสามารถวิ่งเต้นล้มคดีได้ จึงไม่เกรงกลัวการกระทำความผิด

ก.ล.ต.พยายามอุดช่องโหว่การตัดตอนคดีในตลาดหุ้นแล้ว โดยหันมาใช้มาตรการลงโทษในทางแพ่ง ด้วยการสั่งปรับแทน แต่มาตรการลงโทษทางแพ่ง เป็นบทลงโทษที่เบา และไม่อาจกำราบแก๊งมิจฉาชีพได้

ถ้า ก.ล.ต.มีอำนาจในการสอบสวน จัดทำสำนวน และส่งอัยการฟ้องได้เอง จะเป็นการปฏิวัติการปราบปรามการกระทำผิดในตลาดหุ้นครั้งสำคัญ เพราะบรรดามิจฉาชีพในตลาดหุ้นจะต้องหัวหด

เพราะถ้ายังก่ออาชญากรรมต่อไป จะถูกกวาดล้างอย่างจริงจัง และจะวิ่งเต้นล้มคดีเหมือนอดีตไม่ได้แล้ว

การดึงอำนาจการสอบสวนและการจัดทำสำนวนคดีความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์มาอยู่ที่ ก.ล.ต. โดยตัดกรมสอบสวนพิเศษและ ปอศ.ออก จะเป็นจุดเริ่มต้นแก้ปัญหาพฤติกรรมผิดในตลาดหุ้นอย่างจริงจังเป็นการสะสางทำความสะอาดตลาดหุ้นครั้งใหญ่ เพื่อสร้างความมั่นใจประชาชนผู้ลงทุนว่า

เมื่อเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นแล้ว จะไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกโกงหรือถูกปล้น และจะลงทุนอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ปลอดจากแก๊งมิจฉาชีพ

การเสนอปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ของ ก.ล.ต.ครั้งนี้ จะเป็นการยกเครื่องมาตรการดูแลปกป้องนักลงทุน เป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ของตลาดหุ้น และเป็นผลงานเชิงสร้างสรรค์ของ ก.ล.ต. ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องสนับสุนอย่างเต็มที่

เพื่อสร้างตลาดหุ้นให้ ใสสะอาด ปราศจากการโกง ปลอดจากแก๊งมิจฉาชีพ ที่ปล้นนักลงทุนมาตลอด 45 ปี






กำลังโหลดความคิดเห็น