xs
xsm
sm
md
lg

คดี “บอส” ในตลาดหุ้น

เผยแพร่:   โดย: สุนันท์ ศรีจันทรา



เบื้องหลังนายบอส หรือนายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทมหาเศรษฐี เจ้าของธุรกิจเครื่องดื่มกระทิงแดง รอดพ้นจากการถูกดำเนินคดี เพราะอัยการสั่งไม่ฟ้อง สังคมได้รับคำตอบที่กระจ่างแจ้งไปแล้ว

ผลการสอบสวนข้อเท็จจริงคดีนายบอสขับรถชนตำรวจ สน.ทองหล่อเสียชีวิตเมื่อปี 2555 ได้บทสรุปที่น่าตกใจ โดยนายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชนระบุว่า

มีการหยิบยกพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ มีการร่วมมือระหว่างอัยการ เจ้าหน้าที่รัฐ ทนายความในคดีนี้ โดยทำสำนวนสมยอมไม่สุจริต ร่วมมือกันตามทฤษฎีสมคบคิด จนนำไปสู่คำสั่งไม่ฟ้อง

แต่คดีถูกรื้อฟื้นด้วยพยานหลักฐานใหม่ และแจ้งข้อหาในความผิดเสพโคเคนและขับรถโดยประมาท ทำให้นายบอสตกเป็นผู้ต้องหาอีกครั้ง

คดีนี้ ถ้าไม่ใช่คดีใหญ่ ไม่ใช่ทายาทมหาเศรษฐีตระกูลดังตกเป็นผู้ต้องหา และประชาชนไม่ให้ความสนใจ คดีคงถูก “ตัดตอน” ไปเป็นที่เรียบร้อย โดยผู้กระทำความผิดถูกปล่อยให้ลอยนวล ทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่อาจผดุงความยุติธรรมได้

เพราะเจ้าหน้าที่รัฐสมคบคิดกันช่วยเหลือผู้กระทำความผิด เช่นเดียวกับคดีอื่นๆอีกมากมาย ที่กระบวนการยุติธรรมถูกตัดตอน จากชั้นสอบสวนและตรวจสอบสำนวน หรือในขั้นตอนตำรวจและอัยการ

รวมทั้งคดีความผิดร้ายแรงในตลาดหุ้น ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เช่น การปั่นหุ้น การยักยอกทรัพย์หรือการผ่องถ่ายเงินออกจากบริษัทจดทะเบียน และการใช้ข้อมูลภายในแสวงหาประโยชน์จากการซื้อขายหุ้น ซึ่งสร้างความเสียหายให้ประชาชนผู้ลงทุนนับแสนๆ ราย

แต่คดีมักถูก “ตัดตอน” ในชั้นการสอบสวนของหน่วยงานตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) หรืออัยการ

การเปิดโปงเบื้องหลังอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องนายบอส เป็นการตอกย้ำถึงการวิ่งเต้นล้มคดี เพื่อช่วยเหลือผู้กระทำความผิดให้ไม่ต้องรับโทษ และเป็นเหตุให้อาชญากรในตลาดหุ้น มักหลุดรอดลอยนวล

ตลาดหุ้นมีการก่ออาชญากรรมมาตลอด เช่น การปั่นหุ้น การถ่ายเททรัพย์สินของบริษัทจดทะเบียน การใช้ข้อมูลภายในแสวงหาประโยชน์จากการซื้อขายหุ้น เอาเปรียบนักลงทุนทั่วไป

ตลอด 45 ปีของการก่อตั้งตลาดหุ้น พฤติกรรมความผิดร้ายแรงที่สร้างความเสียหายให้นักลงทุนนับแสนๆ คนไม่เคยหมดไป

แม้ว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะเข้มงวดในการตรวจสอบพฤติกรรม มีการกล่าวโทษดำเนินคดีอาญา แต่ไม่อาจปราบปรามอาชญากรในตลาดหุ้นให้สิ้นซากได้

เพราะคดีส่วนใหญ่ถูกตัดตอน ก่อนเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล เช่นเดียวกับคดีนายบอส อยู่วิทยา ทำให้อาชญากรในตลาดหุ้นไม่เกรงกลัวกฎหมาย เพราะวิ่งเต้นล้มคดีได้

การกล่าวโทษร้องทุกข์ดำเนินคดีทางอาญามักจบลงด้วยการเหนื่อยเปล่า เพราะคดีถูกตัดตอน ทำให้ ก.ล.ต.ต้องปรับวิธีการดำเนินคดี และหันมาใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งแทน โดยการสั่งปรับผู้กระทำความผิด ซึ่งถือเป็นบทลงโทษที่เบา แม้จะปรับกันจำนวนหลายร้อยล้านบาทในบางคดีก็ตาม

เพราะการก่ออาชญากรรมในตลาดหุ้นแต่ละคดี สามารถตักตวงเงินได้มหาศาล ไม่ว่าการใช้ข้อมูลภายใน การปั่นหุ้น หรือการไซฟ่อนเงินออกจากบริษัทจดทะเบียน

บริษัทจดทะเบียนนับสิบแห่ง มีผู้ถือหุ้นจำนวนนับหมื่นราย ราคาหุ้นเคยเคลื่อนไหวหลายสิบบาท มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) จำนวนหลายหมื่นล้านบาท แต่ถูกขบวนการไซฟ่อนทรัพย์สินออก จนปัจจุบันบริษัทตกอยู่ในสภาพตายซาก หุ้นเหลือไม่กี่สตางค์ นักลงทุนที่ถือหุ้นเสียหายถึงขั้นหมดตัว

แต่อาชญากรที่ไซฟ่อนทรัพย์สินออกไปกลับลอยนวล แม้ ก.ล.ต.จะกล่าวโทษไม่รู้กี่คดี แต่ถูกดีเอสไอตัดตอนเกลี้ยง

ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ก.ล.ต.ร้องทุกข์กล่าวโทษทางอาญา ความผิดร้ายแรงในตลาดหุ้นเกือบ 20 คดี โดยปี 2563 กล่าวโทษ 1 คดี ปี 2562 กล่าวโทษ 5 คดี ปี 2561 กล่าวโทษ 7 คดี ปี 2560 กล่าวโทษ 5 คดีและปี 2559 กล่าวโทษ 6 คดี

แต่หลังจากคดีถูกส่งไปถึงดีเอสไอหรือ ปอศ. คดีต่างๆ มักเงียบหาย ประชาชนแทบไม่รับรู้ความคืบหน้าการดำเนินคดีแต่อย่างใด

และแม้ผลการสอบสวนของดีเอสไอ จะสรุปออกมาโดยการสั่งไม่ฟ้อง แต่ก็ไม่มีการแถลงข่าวหรือชี้แจงเหตุผลการสั่งไม่ฟ้องให้สาธารณชนรับรู้ ไม่ว่าจะเป็นคดีใหญ่และสร้างความเสียหายให้นักลงทุนร้ายแรงขนาดไหนก็ตาม

เช่นเดียวกับคดีสั่งไม่ฟ้องนายบอส ซึ่งอัยการปิดข่าวเงียบ จนสื่อต่างประเทศนำเสนอ สังคมจึงลุกฮือขึ้นมาตรวจสอบกระบวนการยุติธรรม

คดีนายบอส สังคมมีคำตอบแล้วว่า เพราะเหตุใดอัยการจึงสั่งไม่ฟ้อง แต่คดีในตลาดหุ้น นักลงทุนยังหาคำตอบไม่ได้ว่า

เพราะเหตุใด อาชญากรในตลาดหุ้นจึงลอยนวล

คดีต่างๆ ในตลาดหุ้น ถ้าจะมีการตั้งคณะกรรมการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาบ้าง บางทีอาจจะทำให้นักลงทุนได้รับรู้กันเสียทีว่า

ใครหรือเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยงานใด ปล่อยให้อาชญากรในตลาดหุ้นลอยนวล จนแทบไม่มีคดีเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล ทั้งที่ ก.ล.ต.กล่าวโทษไปแล้วนับร้อยคดี นับแต่การก่อตั้งมา 28 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น