เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศลงโทษกลุ่มผู้นำข้อมูลภายในมาใช้แสวงหาประโยชน์จากการซื้อขายหุ้น (อินไซเดอร์เทรดดิ้ง) ถึง 2 คดี สะท้อนถึงพฤติกรรมการเอารัดเอาเปรียบนักลงทุนทั่วไปที่มีอยู่ชุกชุมในตลาดหุ้น
คดีแรก ก.ล.ต. ดำเนินมาตรการลงโทษในทางแพ่ง สั่งปรับ น.ส.ปัญจมา เธียรวิวรรธน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ นายอรรถวิท เธียรวิวรรธน์ พี่ชาย และนางทิพวรรณ สุธาทิพย์กุล ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็ค คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUBB เป็นเงินรวม 4.59 ล้านบาท
ความผิดเกิดขึ้นกลางปี 2560 โดยบุคคลทั้งสาม ใช้ข้อมูลภายในผลประกอบการบริษัทไตรมาสแรกปี 2560 ซึ่งมีกำไร 109 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาสก่อนหน้าขาดทุน 30.45 ล้านบาท มาซื้อหุ้น TRUBB และขายหุ้นทำกำไร หลังจากที่มีการประกาศผลประกอบการไตรมาสแรก
ส่วนอีกคดี ก.ล.ต.ดำเนินมาตรการลงโทษในทางแพ่ง สั่งปรับนางเพ็ญจันทร์ ยงวงศ์ไพบูลย์ กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชีย เมทัล จำกัด (มหาชน) หรือ AMC และนายพิชิต ฉัตรสกุลวงศ์ หรือเฮียคิม ผู้ค้าเหล็ก เพื่อนสามีที่ยอมให้นางเพ็ญจันทร์ ใช้บัญชีซื้อขายหุ้นเพื่อปกปิดตนเอง โดยปรับเป็นเงินรวม 2.76 ล้านบาท
ความผิดเกิดขึ้นช่วงกลางปี 2560 โดยนางเพ็ญจันทร์ รู้ว่า ผลประกอบการของ AMC ไตรมาสที่ 2 จะขาดทุน 90.40 ล้านบาท จึงสั่งขายหุ้นที่อยู่ในบัญชีนายพิชิต ออกจำนวน 1 ล้านหุ้น ก่อนที่งบการเงินไตรมาสที่ 2 จะประกาศ
ก่อนหน้านั้น ก.ล.ต.ได้สั่งปรับ นายพิชญ์ โพธารามิก ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ในความผิดการใช้ข้อมูลภายในและสร้างราคาหุ้น รวเป็นเงิน 188 ล้านบาท แต่นายพิชญ์ ไม่ยินยอมชำระค่าปรับ ซึ่ง ก.ล.ต. ต้องส่งเรื่องให้อัยการฟ้องเรียกให้ชำระค่าปรับในทางแพ่ง
คดีการใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้นและคดีปั่นหุ้น ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา แต่ขั้นตอนการดำเนินคดีอาญามีความซับซ้อน และผู้ถูกกล่าวโทษมักหลุดรอดจากความผิด เนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หรืออัยการสั่งไม่ฟ้อง ทำให้ ก.ล.ต. หันมาใช้มาตรการลงโทษในทางแพ่ง โดยการสั่งปรับ ซึ่งมีหลายคดีที่ผู้กระผิดไม่ยินยอมจ่ายค่าปรับ
คดีที่ ก.ล.ต.ยื่นให้อัยการสั่งฟ้อง ศาลได้ตัดสินแล้ว 2 คดี คือ คดีนายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ในความผิดการใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้น สั่งปรับเป็นเงิน 31 ล้านบาท ซึ่งศาลยกฟ้อง
ส่วนอีกคดี ก.ล.ต.ยื่นฟ้อง นายสุรินทร์ บรรยงพงศ์เลิศ ในความผิดดสร้างราคาหุ้น บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ PICO ซึ่งศาลแพ่งตัดสินให้ชำระค่าปรับเป็นเงิน จำนวน 18.43 ล้านบาท พร้อมชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้อง แต่นายสุรินทร์ ไมยอมชำระค่าปรับ จน ก.ล.ต.ต้องฟ้องศาลให้ออกหมายบังคับคดีอีกครั้ง
คดีปั่นหุ้นและอินไซเดอร์เกิดขึ้นถี่ยิบ เป็นการตอกย้ำว่า การรณรงค์ให้ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนตระหนักถึงธรรมาภิบาลยังล้มเหลว โดยผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนยังหาโอกาส “เล่นโกง” แหกกติกา เอาเปรียบนักลงทุนทั่วไปตลอดเวลา แม้บางกรณีจะได้รับผลประโยชน์เพียงเล็กน้อยเป็นเงินไม่กี่ล้านบาทก็ตาม
การนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ทำให้ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท เปลี่ยนฐานะเป็นเศรษฐีโดยปริยาย แต่ความมักได้ ความโลภ ทำให้ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งกระทำความผิดอย่างไร้ยางอาย
และ บทลงโทษที่ใช้อยู่ ไม่อาจระงับหรือหยุดยั้งพฤติกรรมความผิดได้ ซึ่ง ก.ล.ต.ต้องทบทวนมาตรการลงโทษ เพื่อให้ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนเกิดความเกรงกลัว ไม่กล้าปั่นหุ้นหรือใช้อินไซเดอร์ เพราะถ้าตรวจสอบพบจะถูกลงโทษหนัก
การดำเนินคดีปั่นหุ้นและอินไซเดอร์เทรดดิ้งที่เกิดขึ้นถี่ยิบ ส่วนหนึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงการตรวจสอบที่เข้มงวดของตลาดหลักทรัพย์ และ ก.ล.ต. แต่อีกส่วนเป็นการตอกย้ำการกระทำผิดในตลาดหุ้น สร้างความเสียหายให้นักลงทุน
และตอกย้ำว่า ตลาดหุ้นยังเต็มไปด้วยพฤติกรรมโกง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนมองภาพลักษณ์ตลาดหุ้นในแง่ลบ และไม่เข้ามาลงทุน