xs
xsm
sm
md
lg

PICO สังเวยคดีปั่นหุ้น / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คดีความผิดเกี่ยวกับการปั่นหุ้นและการใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้น (อินไซเดอร์เทรดดิ้ง) ถูกส่งฟ้องศาลแพ่งไปแล้วหลายคดี แต่เพิ่งมี คดีปั่นหุ้น บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ PICO เป็นคดีแรกที่ศาลตัดสินให้มีความผิด และต้องชำระค่าปรับ

ก่อนหน้านี้ ศาลแพ่งเพิ่งตัดสินยกฟ้อง นายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ซึ่งถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) ฟ้องในความผิดการใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้น

ความผิดการปั่นหุ้นและอินไซเดอร์เทรดดิ้ง อยู่ในข่ายความผิดทางอาญา ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่  ก.ล.ต. เลือกที่จะดำเนินคดีในทางแพ่ง โดยลงโทษด้วยการปรับตามมูลฐานความผิด

ถ้าสร้างความเสียหายมาก และได้รับผลประโยชน์จากการกระทำความผิดจำนวนมาก จะถูกปรับเป็นเงินจำนวนมาก โดย ก.ล.ต. เคยสั่งปรับสูงสุดเป็นเงินจำนวน 1,727 ล้านบาท ในคดีปั่นหุ้น บริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA

แต่ผู้ร่วมขบวนการปั่นหุ้นไม่ยินยอมชำระค่าปรับ จึงต้องส่งฟ้องศาลแพ่ง และเรียกชำระค่าปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2,303 ล้านบาท คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา

ส่วนคดีปั่นหุ้น บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ซึ่งนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ยินยอมจ่ายค่าปรับจำนวน 499.45 ล้านบาท คดีจึงสิ้นสุด

การที่ ก.ล.ต. ใช้บทลงโทษทางแพ่ง โดยสั่งปรับ เนื่องจากการดำเนินคดีอาญามีความยุ่งยากซับซ้อน และมักไม่ถูกส่งเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล แต่จะสิ้นสุดที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หรืออัยการ โดยการสั่งไม่ฟ้อง

หลายสิบคดีที่ ก.ล.ต.รวบรวมหลักฐานความผิด ร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อให้ดำเนินคดีทางอาญา แต่บทสรุปคือ การสั่งไม่ฟ้อง จน ก.ล.ต.ต้องหันมาดำเนินคดีทางแพ่งแทน โดยเมื่อสั่งลงโทษปรับแล้ว ผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมชำระค่าปรับ จะส่งเรื่องให้อัยการพิจารณาทำสำนวนส่งฟ้อง

และถ้าอัยการสั่งไม่ฟ้อง ก.ล.ต.สามารถฟ้องเองได้ แตกต่างจากการร้องทุกข์กล่าวโทษทางอาญาต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ

เพราะถ้า กรมสอบสวนคดีพิเศษสั่งไม่ฟ้อง ถือว่าคดีสิ้นสุด

ก.ล.ต.ส่งคดีความผิดการปั่นหุ้นและคดีอินไซเดอร์เทรดดิ้งให้อัยการยื่นฟ้องแล้วหลายคดี แต่เพิ่งมี คดีปั่นหุ้น PICO เป็นคดีแรกที่ศาลตัดสินตามที่ ก.ล.ต.ยื่นฟ้อง โดยสั่งให้นายสุรินทร์ บรรยงพงศ์เลิศ ผู้ถือหุ้นใหญ่ PICO ชำระค่าปรับ จำนวน 18.43 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้อง

แม้ศาลแพ่งจะมีคำตัดสินแล้ว แต่คดียังไม่สิ้นสุดง่ายๆ เพราะนายสุรินทร์ ไม่ชำระค่าปรับ จน ก.ล.ต. ต้องยื่นคำร้องต่อศาล ขอยึดหรืออายัดทรัพย์นายสุรินทร์ เพียงแต่คดีอยู่ระหว่างรออุทธรณ์เท่านั้น

พฤติกรรมการปั่นหุ้นและการใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้น เอาเปรียบนักลงทุนทั่วไป ปัจจุบันแม้จะน้อยลง แต่ยังคงมีอยู่ โดย ก.ล.ต. ประกาศลงโทษเป็นระยะๆ ล่าสุด สั่งลงโทษปรับกลุ่มบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ของนายพิชญ์ โพธารามิก ซึ่งครบเครื่องทั้งเรื่องปั่นหุ้นและอินไซเดอร์ และถูกปรับเฉพาะกรณีปั่นหุ้นเป็นเงินรวม 160 ล้านบาท

กระบวนการยุติธรรมเริ่มขับเคลื่อนแล้ว สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะความผิดร้ายแรงคดีปั่นหุ้นและอินไซเดอร์เทรดดิ้ง แม้จะเป็นบทลงโทษในทางแพ่ง แต่ยังดีกว่าปล่อยให้อาชญากรในตลาดหุ้นลอยนวล

นอกเหนือจากคดีปั่นหุ้น PICO แล้ว ยังมีอีกหลายคดีที่รอการตัดสินตามมา ทั้งทางแพ่งและอาญา

คดีมีมากเท่าไหร่ ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ตลาดหุ้นยังเต็มไปด้วยพฤติกรรมโกง ไม่แพ้แชร์ลูกโซ่ที่ปราบไม่หมดเสียที






กำลังโหลดความคิดเห็น