ไม่น่าเชื่อว่า แชร์แม่มณี หรือแชร์นางสาววันทนีย์ ทิพย์ประเวศ จะมีคนหลงตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก วงเงินความเสียหายนับพันล้านบาท เพราะข้อเสนอผลตอบแทนสูงลิบ 93% ต่อเดือน แม้เป็นข้อเสนอที่จูงใจ แต่ไม่ควรมีใครหลงเชื่อเพราะเป็นผลตอบแทนที่เป็นไปไม่ได้
กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สรุปในเบื้องต้น แชร์แม่มณี มีผู้ตกเป็นเหยื่อถึง 3,428 ราย วงเงินความเสียหาย 984.86 ล้านบาท
การต้มตุ๋นชักชวนให้คนร่วมลงทุน โดยใช้ผลตอบแทนสูงเป็นตัวล่อ เป็นพฤติกรรมที่ได้ยินได้ฟังกันบ่อย และไม่เฉพาะคนระดับรากหญ้าที่ขาดความรู้ความเข้าใจในการลงทุนเท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งมิจฉาชีพ แม้แต่นักลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งถือเป็นผู้มีฐานะ มีความรู้ความเข้าใจการลงทุน ยังตกเป็นเหยื่อการหลอกต้มในตลาดหุ้นด้วยเหมือนกัน
เหยื่อแชร์แม่มณี เป็นคนชั้นกลางและผู้มีรายน้อย ส่วนเหยื่อในตลาดหุ้น ไล่ขึ้นไปตั้งแต่คนชั้นกลางยันคนระดับเศรษฐี มีเงินลงทุนระดับสิบล้านบาท จนถึงระดับหมื่นล้านบาท
คนที่ตกเป็นเหยื่อแชร์แม่มณีจำนวน 3,428 คน วงเงินความเสียหาย 984 ล้านบาท อาจถือว่ามาก แต่เทียบไม่ได้กับความเสียหายที่นักลงทุนได้รับจากหุ้นบางตัว
เพราะหุ้นบางตัว อาจสร้างความเสียหายให้นักลงทุนจำนวนหลายหมื่นคน วงเงินความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท
หุ้นบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ซึ่งมีปัญหาฐานะทางการเงิน หุ้นถูกพักการซื้อขาย มีนักลงทุนได้รับความเสียหายกว่า 30,000 ราย วงเงินความเสียหายรวมกันหลายหมื่นล้านบาท
ล่าสุดกรณีหุ้นบริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือPACE ซึ่งมีปัญหาฐานะทางการเงิน และผิดนัดชำระหนี้ธนาคารไทยพาณิชย์กว่า 2,697ล้านบาท มีนักลงทุนเสียหายกว่า 5,500 ราย วงเงินความเสียหายรวมกันนับหมื่นล้านบาท
ประชาชนทั่วไปต้องระวังแก๊งต้มตุ๋น ชักชวนร่วมลงทุนในลักษณะแชร์ลูกโซ่ แต่ประชาชนผู้ลงทุนในตลาดหุ้น ต้องระวังแก๊งมิจฉาชีพ ซึ่งอาจแฝงตัวมาในคราบผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ต้องระวังตัวหุ้นเน่า ซึ่งแต่งตัวตบตาคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ จนสามารถนำหุ้นเข้ามาปล้นเงินจากนักลงทุนในตลาดหุ้นได้
ต้องระวังการลงทุนในตราสารการลงทุนประเภทต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่หุ้นกู้ เพราะลงทุนแล้ว อาจไม่ได้รับดอกเบี้ยตามกำหนด และอาจไม่ได้รับการชำระเงินลงทุนคืน เมื่อหุ้นกู้ครบกำหนดเวลาไถ่ถอน ซึ่งเกิดขึ้นแล้วกับหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียนบางแห่ง
ปัจจุบัน ประชาชนผู้ลงทุนในตลาดหุ้น กำลังตกเป็นกลุ่มเป้าหมายของบริษัทจดทะเบียนทั้งเก่าและบริษัทที่เตรียมเข้าจดทะเบียนใหม่ในการระดมทุน ทั้งการขายหุ้นกู้และการขายหุ้นเพิ่มทุน
เพราะการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ ประตูแทบจะปิดตาย เนื่องจากธนาคารพาณิชย์กำลังดำเนินนโยบายป้องกันตัวเองอย่างสุดเหวี่ยง กลัวปัญหาหนี้เสียจนขึ้นสมอง จึงกำหนดมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่ออย่างเข้มงวด
ตลาดหุ้นจึงเป็นช่องทางเดียวที่พอจะระดมทุนได้ บริษัทจดทะเบียนจึงแห่สูบเงินจากนักลงทุนในตลาดหุ้น ทั้งการออกตราสารหนี้และตราสารทุน
บริษัทจดทะเบียนใหม่นับสิบแห่ง รีบเร่งเสนอขายหุ้นให้นักลงทุน เพื่อช่วงชิงเงินจากกระเป๋านักลงทุน ทำให้การเสนอขายหุ้นใหม่มีลักษณะกระจุกตัวในช่วงนี้
ไตรมาสสุดท้ายปีนี้ มีบริษัทจดทะเบียนระดมทุนนับแสนล้านบาท โดยต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC นำหุ้นเสนอขายนักลงทุนก่อนเข้าตลาดหุ้นจำนวน 8,000 ล้านห้น ราคา 6 บาท ระดมทุน48,000 ล้านบาท
ต้นเดือนพฤศจิกายน บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL เสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนวงเงิน 15,000 ล้านบาท
บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR นำหุ้นเสนอขายนักลงทุนก่อนเข้าตลาดหุ้นจำนวน 1,437.45 ล้านหุ้น ในราคา 5.20 บาท ระดมทุนกว่า7,000 ล้านบาท
กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน ออกหน่วยลงทุนใหม่จำนวน 2,500 ล้านหน่วย ขายในราคาหน่วยละ 9 บาท ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ระดมทุน 22,500 ล้านบาท
และจะมีหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่อีก 3 บริษัท ออกมาระดมทุนช่วงปลายปีนี้อีกเกือบ 30,000 ล้านบาท ยังไม่รวมหุ้นใหม่ที่นำหุ้นเสนอขายระดมทุนระดับหลายร้อยล้านบาท และระดับหลายพันล้านบาทอีกนับสิบบริษัท
การลงทุนในตลาดหุ้น อาจแตกต่างจากการลงทุนแชร์แม่มณี เพราะเป็นการลงทุนที่จับต้องได้ มีกฎหมายรองรับ มีหน่วยงานที่กำหนดกฎเกณฑ์กำกับดูแล แต่ก็มีความเสี่ยง อาจได้รับความเสียหายเหมือนแชร์แม่มณีได้ และไม่มีใครยืนยันได้ว่า บริษัทจดทะเบียนที่แห่ระดมทุนนับแสนล้านบาทในช่วงนี้ จะไม่มีบริษัทใดสร้างความเสียหายให้ผู้ลงทุน
ตลาดหุ้นมีแก๊งมิจฉาชีพอยู่ไม่น้อย มีผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่มีพฤติกรรมโกง มีหุ้นเน่า มีบริษัทที่สร้างภาพลวงตา แต่งงบการเงินให้ดูหลอกลวงนักลงทุน มีการใบ้ข้อมูลภายในและปั่นหุ้น
แชร์ลูกโซ่ เป็นข่าวฉาวโฉ่อยู่บ่อยครั้ง แต่ยังมีคนหลงตกเป็นเหยื่อไม่หยุดหย่อน เช่นเดียวกัน การลงทุนในตลาดหุ้น นักลงทุนต้องเสียหายกับหุ้นเน่าๆ มากว่า 40 ปี
และวันนี้ยังไม่มีใครทำให้ตลาดหุ้นใสสะอาด ปราศจากหุ้นเน่า และปลอดแก๊งมิจฉาชีพได้ นักลงทุนจึงพร้อมตกเป็นเหยื่อ เช่นเดียวกับเหยื่อแชร์แม่มณี