xs
xsm
sm
md
lg

หน้าม้าเชียร์หุ้น IVL - SHR / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มีนักลงทุนส่งคอลัมน์จากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่เขียนเกี่ยวกับ หุ้นกู้ด้อยในลักษณะคล้ายทุนของบริษัท อินโดรามา เวนเจอ์ส จำกัด(มหาชน) หรือ IVL และหุ้นบริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR หุ้นในเครือบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน)หรือ S 


ซึ่งกำลังนำหุ้นเสนอขายนักลงทุน ก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มาให้อ่าน เพราะรู้สึกสงสัยว่า สื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั้ง 2 สำนักนี้ น่าจะรับงานมาเชียร์หุ้น

เพราะ IVL อยู่ระหว่าง นำหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน หรือหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ เสนอขายนักลงทุน ในวงเงิน 15,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5% เปิดจองซื้อระหว่างวันที่ 4-7 พฤศจิกายนนี้
 
ส่วน SHR อยู่ระหว่าง นำหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 1,437.45 ล้านหุ้น เสนอขายนักลงทุนทั่วไปในราคาหุ้นละ 5.20 บาท จากราคาพาร์ 5 บาท เปิดจองระหว่างวันที่ 1 วันที่ 4 และ 5 พฤศจิกายนนี้


อ่านคอลัมน์ที่นักลงทุนส่งมาให้มาเห็นชัดว่า ข้อเขียนเกี่ยวกับหุ้นกู้ด้อยสิทธิ IVL และหุ้น SHR พยายามโน้มน้าวให้นักลงทุนจองซื้อหุ้นกู้ ฯ IVL และหุ้นเพิ่มทุน SHR เข้าข่ายเชียร์อย่างโจ๋งครึ่ม

สมมุติฐานการ "รับงาน" หรือ "รับเงิน" มาเชียร์ ในรูปของการลงโฆษณาแฝง จึงไม่น่าจะห่างไกลจากความจริงนัก


สำหรับข้อเขียนเกี่ยวกับหุ้นกู้ ฯ IVL มีความพยายามหยิบยกอดีตของหุ้นกู้ ฯ ชนิดเดียวกัน เพื่อสร้างความมั่นใจว่า หุ้นกู้ที่กำลังเสนอขายชุดใหม่ จะจ่ายดอกเบี้ยตามกำหนด และจะไถ่ถอนหลังจากผ่านพ้น 5 ปีไปแล้ว เช่นเดียวกับหุ้นกู้ ฯ ที่ IVL เสนอขายเมื่อ 5 ปีก่อน ทั้งที่อาจมีการไถ่ถอนก็ได้ เพราะเงื่อนไขกำหนดการไถ่ถอน เมื่อเลิกกิจการ เว้นผู้ออกหรือ IVL จะไถ่ถอนก่อนกำหนด
 

ส่วนข้อเขียนหุ้นจอง SHR มีความพยายามหยิบยกความคาดหมาย การดำเนินงานของบริษัทในอนาคต เพื่อสนับสนุนว่า ราคาหุ้นที่กำหนดเสนอขาย 5.20 บาทนั้น มีความ เหมาะสม น่าสนใจจองซื้อ

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เขียนเชียร์หุ้น SHR เป็นสื่อที่นำเสนอข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้น และมักจะเขียนเชียร์หุ้นใหม่ แต่การเขียนเชียร์หุ้น SHR ถ้าใครได้อ่าน คงกินข้าวไม่ลง หรือถ้ากินข้าวไปแล้ว อาจต้องคายของเก่าออกมา
 

เพราะเชียร์จองหุ้น SHR อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ชนิดที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ SHR ที่กินเงินเดือนประจำ คงต้องอาย ทั้งที่สื่อสำนักนี้ อาจได้ เศษเงินค่าโฆษณาเพียงระดับแสนบาท ในการทำหน้าที่เป็นหน้าม้าเชียร์

และเชียร์จนเซลล์มืออาชีพต้องยกนิ้วให้ เพราะเชียร์โดยไม่มีมีความรู้สึกละอายใจแม้แต่น้อย แถมยังทำตัวเป็นกระบอกเสียง แก้ต่างให้เสียอีก กรณีที่ผลประกอบการบริษัทงวด 6 เดือนแรกขาดทุนกว่า 200 ล้านบาท


ไม่อยากเชื่อจริง ๆ ว่า เพียงเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง สื่อจะฉีกจริยธรรมจรรยาบรรณ มองข้ามการทำหน้าที่ ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนผู้ลงทุน โดยไม่เหลือความละอาย 

ถ้าหุ้นกู้ IVL เกิดปัญหา หรือหุ้นใหม่ SHR ไม่ดีอย่างที่เชียร์ไว้ ผลดำเนินงานในอนาคตไม่สดใส ราคาหุ้นเมื่อเข้าตลาดทรุดฮวบลง จนนักลงทุนที่ถูกเชียร์ให้จองซื้อได้รับความเสียหาย สื่อทั้งสองสำนักนี้ จะมีสำนึกในความเสียหายของคนอื่นบ้างหรือไม่
 

หุ้น SHR เข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วยเกณฑ์มาร์เก็ตแคป หรือมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม เช่นเดียวกับหุ้น บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ PACE ซึ่งกำลังมีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ โดยผลประกอบการขาดทุนก็เข้าจดทะเบียนได้
 

และตลอด 6 ปีที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ PACE ขาดทุนตลอด สร้างความเสียหายย่อยยับให้นักลงทุน

หุ้นที่เสนอขายนักลงทุน ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ตั้งราคาไว้สูงลิบ 3.50 บาท ปัจจุบันเหลือเพียง 5 สตางค์
 

ไม่มีหลักประกันว่า SHR จะไม่มีชะตากรรมเดียวกับ PACE โดยเฉพาะราคาที่เสนอขาย ถือว่าสูง เมื่อเทียบกับค่า พี/อี เรโช ที่ประมาณ 170 เท่า 

ขณะที่หุ้นในกลุ่มธุรกิจเดียวกันมี ค่าพี/อี เรโช เฉลี่ยประมาณ 30 เท่า
 

มีนักลงทุนเคยสอบถามว่า ได้โควตาหุ้นจอง SHR มา 5,000 หุ้น ควรจองซื้อหรือไม่ ต่อมานักลงทุนรายเดิมแจ้งว่า เจ้าหน้าที่มาร์เก็ตติ้งที่จัดสรรหุ้น SHR แจ้งว่า โควตาหุ้นที่จัดสรรให้ 5,000 หุ้น ถ้าไม่พอ สามารถจองซื้อเพิ่มได้ จึงตอบนักลงทุนไปว่า ไม่ควรจองซื้อหุ้น SHR
 
เพราะการจัดสรรโควตาให้เพิ่มเติม แสดงว่า น่าจะมีหุ้นเหลือจากการจำหน่าย หรือหุ้นขายไม่หมด

หุ้นใหม่ดี ๆ ที่นักลงทุนสนใจ มักจะไม่มีโควตาเหลือถึงนักลงทุนรายย่อย ๆ โควตาหุ้นจองที่มายัดเยียดขายนักลงทุนรายย่อย น่าจะเป็นหุ้นไม่ดี


ปลายปีนี้มีหุ้นนับสิบตัวรอคิวเข้าตลาดหุ้น ซึ่งปกติในภาวะที่ตลาดหุ้นซบเซา บริษัทจดทะเบียนใหม่มักเลื่อนแผนการเข้าตลาดหุ้น เพราะขายหุ้นในยามตลาดซบเซา จะไม่ได้ราคาสูง


แต่การที่มีหุ้นใหม่ต่อคิวเข้าตลาดหุ้น อาจมีความจำเป็นต้องระดมทุนเสริมฐานะทางการเงินของบริษัท การเสนอขายหุ้นจึงมีลักษณะกระจุกตัว ทำให้แต่ละบริษัทต้องช่วงชิงเงินจากกระเป๋านักลงทุน โดยใช้ทุกวิธีการ เพื่อกระตุ้นการจองซื้อ โดยเฉพาะการทุ่มงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ รวมทั้งการโฆษณาแฝงในรูปคอลัมน์หรือข้อเขียนเชียร์ของสื่อ

จะซื้อหุ้นกู้ จะจองหุ้นใหม่ ต้องเลือกเฟ้นเป็นพิเศษ เพราะตอนนี้มีการใช้สื่อเป็นเครื่องมือเชียร์หุ้นกันอย่างเอิกเกริก และเชียร์กันเลยเถิดเกินจริงเสียด้วย






กำลังโหลดความคิดเห็น