xs
xsm
sm
md
lg

PACE ไม่ควรเข้าตลาดหุ้น / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ยังไม่มีใครบอกได้ว่า ชะตากรรมของ บริษัท เพซ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ PACE จะเป็นอย่างไร การเจรจาปรับโครงสร้างหนี้จะสำเร็จหรือไม่ และมีโอกาสที่จะพลิกฟื้นผลประกอบการให้มีกำไร เพื่อเยียวยาผู้ถือหุ้นจำนวนกว่า 5,000 รายได้หรือไม่

PACE เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2556 หลังจากนำหุ้นเพิ่มทุน จำนวน 600 ล้านหุ้น เสนอขายนักลงทุนในราคาหุ้นละ 3.50 บาท ระดมทุนได้ 2,100 ล้านบาท โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาซื้อขาย ราคาหุ้น PACE หลุดต่ำกว่าจองในทันที และลงต่อเนื่อง โดยเคยดีดตัวกลับขึ้นมายืนระดับ 4 บาทในช่วงสั้นๆ ก่อนปรับฐานลงต่อ และลงต่ำสุดเหลือ 2 สตางค์ หลังมีข่าวผิดนัดชำระหนี้ และเพิ่งจะกระเตื้องขึ้นมายืนที่ระดับ 7 สตางค์

ผลประกอบการ PACE ขาดทุนหนักมาตลอด จนยอดขาดทุนสะสมพุ่งขึ้น 10,639 ล้านบาท โดยไม่เคยจ่ายเงินปันผล มีแต่สูบเงินนักลงทุน เพราะเป็นบริษัทที่เพิ่มทุนถี่ยิบ ทั้งเสนอขายบุคคลในวงจำกัด และขายผู้ถือหุ้นเดิม และลดราคาเสนอขายหุ้นเพื่อจูงใจผู้ถือหุ้นจองซื้อทุกครั้ง ซึ่งเดือนธันวาคม 2562 ได้เพิ่มทุน นำหุ้นเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมในราคา 25 สตางค์

แต่ระดมทุนได้ไม่กี่เดือน บริษัทก็ประกาศข่าว ผิดนัดชำระหนี้สถาบันการเงิน ถูกธนาคารไทยพาณิชย์เรียกชำระหนี้ จำนวน 2,697 ล้านบาท ภายในวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างการเจรจาขยายเวลาชำระหนี้

ตลอด 6 ปีที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ PACE ทำให้นักลงทุนได้รับความเสียหายหนัก ประเมินวงเงินความเสียหาย จากราคาหุ้นที่รูดลงมาเหลือ 7 สตางค์ รวมเป็นเงินหลายพันล้านบาท

ความเสียหายที่นักลงทุนในตลาดหุ้นได้รับจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าตลาดหลักทรัพย์ไม่ปล่อยให้ PACE เข้าตลาดหุ้น

PACE เข้าตลาดหุ้นด้วยเกณฑ์มาร์เกตแคป หรือมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด โดยบริษัทที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเกิน 5,000 ล้านบาท สามารถยื่นคำขอเข้าจดทะเบียนได้ โดยไม่ต้องมีผลกำไรติดต่อกัน 3 ปี ซึ่ง PACE ผ่านหลักเกณฑ์ด้านคุณสมบัติมาร์เกตแคป

ปัจจุบัน เกณฑ์มาเกตแคป ขยับขึ้นไป 7,500 ล้านบาท โดยบริษัทที่มีมาร์เกตแคปตั้งแต่ 7,500 ล้านบาท สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนได้ และบริษัทล่าสุดที่ใช้เกณฑ์มาร์เกตแคปคือ บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR ซึ่งเพิ่งนำหุ้น จำนวน 1,437.45 ล้านหุ้น เสนอขายนักลงทุนทั่วไปในราคา 5.20 บาท

นโยบายการเพิ่มสินค้า นโยบายการสร้างความเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ในเชิงปริมาณ จึงมีการนำเกณฑ์มาร์เกตแคปมาใช้ เพื่อเปิดทางให้บริษัทเข้าจดทะเบียนได้ง่ายขึ้น

ผลที่ตามมาคือ อาจมีบริษัทจดทะเบียนที่ไม่ได้คุณภาพหลุดเข้ามาในตลาดหุ้น มีหุ้นเน่าๆ เข้ามาสร้างความเสียหายให้นักลงทุน

ความเสียหายที่ PACE สร้างไว้ ตลาดหลักทรัพย์ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ เพราะเป็นผู้อนุมัติรับเข้าจดทะเบียน

เกณฑ์มาร์เกตแคป ควรจะต้องทบทวนหรือยกเลิก โดยกลับไปใช้เกณฑ์ปกติ บริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะต้องมีกำไรติดต่อกัน 3 ปี เพื่อเป็นหลักประกันผลดำเนินงานของบริษัท

เพราะการผ่อนปรนลดเงื่อนไขการรับหุ้นใหม่เข้าจดทะเบียน ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นแล้ว เฉพาะกรณี PACE

ตลาดหลักทรัพย์ขณะนี้แตกต่างจากอดีต เพราะมีกิจการจำนวนมากต้องการเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้น เพราะเป็นช่องการระดมทุนที่ดี ท่ามกลางสถานการณ์ที่ ธนาคารพาณิชย์กำลังเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ

ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์จึงไม่จำเป็นต้องวิ่งเคาะประตู ลดเงื่อนไข และเที่ยวเชิญชวนบริษัทเข้าจดทะเบียน

บทบาทที่สำคัญของตลาดหลักทรัพย์คือ การทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองกิจการที่ดีเข้าตลาดหุ้น

และทำอย่างไรจึงจะ ป้องกัน ไม่ให้บริษัทจดทะเบียนที่ด้อยคุณภาพ ไม่ปล่อยให้หุ้นเน่าหลุดเข้ามาสร้างความเสียหายให้นักลงทุนในตลาดหุ้นอีก






กำลังโหลดความคิดเห็น