xs
xsm
sm
md
lg

จับตา “ไทยฟิล์มฯ” เบี้ยวหนี้ 1 พันล้าน? หวั่นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย "เอิร์ธ-ไอเฟค"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บมจ.ไทยฟิล์มอินดัสตรี่ ของตระกูล “มหากิจศิริ” เร่งเจรจาแบงก์เจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ มูลค่า 1,041 ล้านบาท ให้ได้ข้อยุติ วันนี้ (31 ต.ค.) ก่อนจะซ้ำรอย “เอิร์ธ-ไอเฟค” ที่เบี้ยวหนี้จนนำไปสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ผู้บริหารยันไม่ได้มีภาระหนี้สินล้นพ้นตัว สามารถดำเนินธุรกิจและชำระหนี้ได้ตามปกติ

บริษัทจดทะเบียนไทยหลายแห่ง เริ่มส่อแววของการมีปัญหาในการจ่ายชำระคืนหนี้เงินกู้ เพราะการขาดสภาพคล่องทางการเงิน ที่เห็นชัดเจนและกลายเป็นตำนานในยุคนี้เห็นจะไม่พ้น บริษัท บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ หรือ EARTH และ บมจ. อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น หรือ IFEC เพราะการชี้แจงเรื่องชำระหนี้เงินกู้หรือการไถ่ถอนหุ้นกู้ไม่เป็นเป็นไปตามกำหนดและไม่ชัดเจน ยังผลให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยขึ้นเครื่องหมาย SP ห้ามซื้อขายหุ้นอย่างไม่น่าแปลกใจนัก


ทั้งนี้ เพราะไม่สามารถส่งงบการเงินภายในระยะเวลาที่กำหนด เริ่มมาจากการที่ EARTH ได้ผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงิน B/E เมื่อกลางปี 2559 และทยอยผิดนัดเรื่อยมาจนถึงต้นเดือน พ.ย. 2560 ซึ่งมียอดรวมในการผิดนัดชำระหนี้เป็นเงินประมาณ 1,800 ล้านบาท จากปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงินกว่า 47,000 ล้านบาท จนส่งผลให้คณะกรรมการบริษัท ฯ มีมติให้บริษัท ฯ เข้าสู่กระบวนการการฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายจนกระทั่งมีเรื่องราวตามมาอีกยาวเป็นขบวนรถไฟ


ขณะที่ชนวนการล่มสลายของ IFEC เพราะเมื่อกลางปี 2558 “วิชัย ถาวรวัฒนยงค์” อดีตประธานกรรมการ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น หรือ IFEC และ สิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหารและกรรมการ บริษัทเดียวกันนี้ ได้ร่วมกันอนุมัติทุ่มงบลงทุนกว่า 2,500 ล้านบาทโดยผ่าน บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ แคป แมนเนจเม้นท์ จำกัด หรือ ICAP ซึ่งเป็นบริษัทลูก เข้าซื้อกิจการโรงแรมดาราเทวี ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยแบ่งเป็นการซื้อโรงแรมจำนวน 1.5 พันล้าน และส่วนที่เป็นหนี้ของโรงแรมอีกกว่า 1 พันล้านบาท


และหลังจากที่ IFEC ได้เข้าซื้อกิจการของโรงแรมดาราเทวีได้ไม่นาน ปัญหาภายในของ IFEC ก็ตามมา จากกรณีพิพาทกันระหว่าง 2 ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ IFEC คือ วิชัยและสิทธิชัย จนแข่งกันเทขายทิ้งหุ้น IFEC ในท้ายที่สุดเหลือหุ้นน้อยกว่า 5% (ณ ปัจจุบัน 09 สิงหาคม 2562 ไม่ปรากฏชื่อของวิชัย และ สิทธิชัย ในรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่อีกแล้ว) และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ส่งผลต่อราคาหุ้นของ IFEC และผลประกอบการที่ปรับตัวลดลงไปพร้อม ๆ กันอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลประกอบการ IFEC มีผลประกอบการขาดทุนมากถึงกว่า 1,800 ล้านบาท ในปี 2559 และจากปัญหาผลประกอบการติดลบที่เกิดขึ้น ทำให้กระทบต่อปัญหาสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก โดยผู้สอบบัญชีไม่สามารถให้การรับรองงบดุลได้ ส่งผลให้ตลาดหุ้น ประกาศแขวนป้าย SP หุ้น IFEC ห้ามทำการซื้อขายชั่วคราว


อย่างไรก็ดี เมื่อต้นปี 2560 IFEC ถูกฟ้องร้องจากกรณีเบี้ยวหนี้หุ้นกู้ค่าตั๋ว B/E จำนวน 2 งวด โดยแบ่งเป็น งวดที่ 1 จำนวน 200 ล้านบาท เมื่อวันที่ 11 ม.ค.60 และงวดที่ 2 จำนวน 100 ล้านบาท เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 60 รวมกัน 2 งวด เท่ากับ IFEC ผิดนัดชำระหนี้ ตั๋ว B/E รวมเป็นเงินจำนวนกว่า 300 ล้านบาท รวมทั้งปัญหาของทีมบริหารชุดเก่าและใหม่ที่ยืดเยื้อกันยาวนานมา จนถึงปี 62 ซึ่งศาลอาญาตัดสินลงโทษจำคุก “วิชัย ถาวรวัฒนยงค์” รวมทั้งหมด 4 ปี จากคดีหมิ่นประมาทโกลบอลวัน โดยการโฆษณาจำนวน 2 ปี และคดีเก่าฐานฟ้องเท็จอีก 2 ปี



TFI ปัญหาหนี้จุก-อก ผลประกอบการทรุด


บริษัท ไทยฟิล์มอินดัสตรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TFI กลายเป็นอีกบริษัทจดทะเบียนอีกรายที่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศ เตือนนักลงทุนให้ศึกษาข้อมูลการถูกเรียกชำระหนี้ของ TFI ด้วยความระมัดระวัง ก่อนตัดสินใจลงทุน หลังจากบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ ถูกธนาคารเจ้าหนี้ เรียกชำระหนี้รวม 1,041.79 ล้านบาท ซึ่งอาจจะกระทบต่อฐานะการดำเนินและผลประกอบการของบริษัท รวมถึงราคาหุ้น TFI บนกระดานหลักทรัพย์ ดังนั้นนักลงทุนจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน


โดย ตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุว่า ขณะนี้ "ไทยฟิล์มอินดัสตรี่" อยู่ระหว่างการเจรจากับธนาคารเจ้าหนี้ และจะแจ้งความคืบหน้าการปรับโครงสร้างหนี้ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 นี้ นอจากนี้ บริษัทยัง ผิดนัดชำระเจ้าหนี้การค้าต่างประเทศ ซึ่งได้ยื่นฟ้องล้มละลายต่อบริษัทมูลฟ้อง 83.92 ล้านบาท และอยู่ระหว่างเจรจาไกล่เกลี่ยในศาล ขณะที่บริษัทไม่มีเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินอื่นโดยหนี้ที่เหลือเป็นเจ้าหนี้การค้า 100 ล้านบาท โดยไม่มีผลกระทบด้าน Cross Default กับเจ้าหนี้รายอื่น


ขณะเดียวกัน บริษัทได้หยุดการผลิตทั้งหมดเป็นการชั่วคราวเพื่อปรับปรุงสายการผลิตระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน โดยคาดว่าจะเริ่มการผลิตประมาณไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 และในช่วงหยุดการผลิตบริษัทยังคงมีรายได้จากการขายสินค้าคงเหลือ


ประเด็นดังกล่าว จึงได้มีการตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับ บมจ.ไทยฟิล์มอินดัสตรี่ หรือ TFI บริษัทในกลุ่มมหากิจศิริ ตระกูลมหาเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของประเทศไทย


จากการตรวจสอบโครงสร้างผู้ถือหุ้น บมจ.ไทยฟิล์มอินดัสตรี่ พบว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ 6 อันดับแรกประกอบด้วย 1. น.ส.อุษณา มหากิจศิริ ถือหุ้นจำนวน 707,725,644 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 34.57% 2. น.ส.อุษณีย์ มหากิจศิริ 303,697,894 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 14.83% 3.บริษัท เลควูด แลนด์ จำกัด 229,637,046 หุ้น หรือ 11.22% 4.นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ 227,261,180 หุ้น หรือ 11.10% 5.นางสุวิมล มหากิจศิริ 118,508,817 หุ้น หรือ 5.79% และ 6.MR.CHALERMCHAI MAHAGITSIRI 109,803,379 หุ้น หรือ 5.36%


โดย TFI ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการถูกเรียกชำระหนี้ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 ประเด็นหลักๆ คือบริษัทถูกเรียกชำระหนี้รวม 1,041.79 ล้านบาท คิดเป็น 64.48% ของสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 โดยบริษัทต้องชำระหนี้หรือลงนามในสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2562


ขณะเดียวกันได้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับภาระหนี้จำนวนดังกล่าว เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ว่า บริษัทได้รับหนังสือบอกกล่าวให้ปฏิบัติตามข้อตกลงและให้ชำระหนี้จากธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ฉบับลงวันที่ 16 ตุลาคม 2562 โดยเรียกให้บริษัทดำเนินการลงนามในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 หรือให้ชำระหนี้คงค้างชำระภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 อย่างใดอย่างหนึ่ง


ทั้งนี้ บริษัทมีภาระหนี้เงินต้นดังกล่าวจำนวนรวม 763,985,655.76 บาท ภาระดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดชำระ สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 คำนวณโดยธนาคารเป็นจำนวนรวม 277,810,980.49 บาท ภาระหนี้รวม 1,041,796,636.25 บาท โดยขนาดของรายการคิดเป็น 64.48% ของสินทรัพย์รวม ตามงบการเงินสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ทั้งนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวบริษัทจะไปเจรจากับธนาคาร และแจ้งความคืบหน้าการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2562


สำหรับผลกระทบต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัท จากการถูกเรียกชำระหนี้ทั้ง 2 กรณีดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทเพิ่มขึ้นจากยอดดอกเบี้ยจ่ายสูงขึ้น เมื่อคำนวณตามอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ทำให้ภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นจากยอดดอกเบี้ยอัตราผิดนัดชำระค้างจ่าย และส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ บริษัทไม่มีเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินอื่น และหนี้ที่เหลือเป็นเจ้าหนี้การค้าอื่นประมาณ 100 ล้านบาท (ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562) ซึ่งบริษัทยังคงชำระหนี้ได้ตามปกติ โดยไม่มีผลกระทบด้าน Cross Default กับเจ้าหนี้รายอื่น สำหรับแนวทางในการจัดหาแหล่งเงินเพื่อนำมาชำระหนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา


ด้านผลการดำเนินงานของ TFI ตั้งแต่ปี 2558-2561 บริษัทเริ่มมีผลการดำเนินชะลอตัวลง โดยปี 2558 บริษัทมีรายได้รวม 2,884.55 ล้านบาท กำไรสุทธิ 20.13 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.01 บาท ปี 2559 รายได้รวม 1,940.30 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 132.04 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.06 บาท ปี 2560 รายได้รวม 1,740.94 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 264.03 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.13 บาท และ ปี 2561 รายได้รวม 1,609.56 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 104.33 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.05 บาท ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตุ TFI ประสบปัญหารายได้ชะลอตัว และผลประกอบการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง


ล่าสุด ผลการดำเนินงานงวด ไตรมาส 2/2562 บริษัทมีรายได้ 662.47 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 59.21 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 00.03 บาท ด้านฐานะทางการเงิน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 1,615.57 ล้านบาท หนี้สินรวม 1,383.80 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น 231.76 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าหุ้นที่เรียกชำระแล้วอยู่ที่ 2,047.50 ล้านบาท




กำลังโหลดความคิดเห็น