xs
xsm
sm
md
lg

TTA ผลงานทรุด - หุ้นรูด “มหากิจศิริ” ฝืด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ หรือ TTA
เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา TFI รายงานความคืบหน้าคดีถูกฟ้องล้มละลายผ่านตลาดหลักทรัพย์ ระบุว่า บริษัทมีข้อพิพาทกับผู้จำหน่ายเม็ดพลาสติกจากต่างประเทศ ในการสั่งซื้อวัตถุดิบและถูกผู้จำหน่ายเม็ดพลาสติกยื่นฟ้องล้มละลาย ด้วยมูลหนี้ประมาณ 84 ล้านบาท


ทนายของบริษัทได้แจ้งต่อศาลว่า บริษัทไม่ได้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เพราะมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินจำนวน 291 ล้านบาท และขอให้ศาลยกฟ้อง ซึ่งศาลได้นัดสอบพยานคู่ความในวันที่ 3 และ 4 ธันวาคมนี้ และหากมีความคืบหน้าใด บริษัทจะแจ้งให้ทราบ


ต่อมาวันที่ 29 ตุลาคม TFI รายงานการถูกเรียกชำระหนี้ผ่านตลาดหลักทรัพย์ ระบุว่า ถูกธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง เรียกชำระหนี้รวมดอกเบี้ย จำนวนรวม 1,041.79 ล้านบาท โดยให้ชำระภายหรือดำเนินการลงนามในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ภายในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ซึ่งบริษัทจะเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคารตามเวลาที่กำหนด และจะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบ


ส่วนข้อพิพาทกับผู้จำหน่ายเม็ดพาสติก มูลหนี้ 83.91 ล้านบาทนั้นอยู่ระหว่างการเจรจาไกล่เกลี่ยในศาล


สำหรับการถูกเรียกชำระหนี้นั้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่มีเงินกู้จากสถาบันการเงินอื่น และมีหนี้การค้าอีกประมาณ100 ล้านบาท สำหรับแนวทางการจัดหาแหล่งเงินมาชำระหนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา


นอกจากนั้น TFI ยังรายงาน การที่บริษัทจะหยุดการผลิตทั้งหมดเป็นการชั่วคราว เพื่อปรับปรุงสายการผลิต ซึ่งต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า6 เดือน คาดว่าจะเริ่มการผลิตใหม่ได้ประมาณปลายไตรมาสแรกปี 2563นั้น ในช่วงหยุดการผลิต บริษัทยังมีรายได้จากการขายสินค้าคงเหลือ


การรายงานสถานการณ์หนี้ สะท้อนให้เห็นว่า TFI กำลังเผชิญปัญหาฐานะทางการเงิน และยังมองไม่เห็นแนวทางการแก้ปัญหา ทำให้อนาคตการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้มีความไม่แน่นอน ทำให้นักลงทุนทยอยขายหุ้นทิ้งอย่างต่อเนื่อง


สำหรับ บมจ.ไทยฟิล์มอินดัสตรี่ หรือ TFI เข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ปี2532 โดย กลุ่มมหากิจศิริเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วนรวมกันกว่า 75%ของทุนจดทะเบียน โดยมีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน2,179 คน


เมื่อประมาณเกือบ 20 ปีก่อน TFI เคยสร้างข่าวฉาวโฉ่ นำเงินเพิ่มทุนจำนวนนับพันล้านบาทไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยนำไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนบริษัท ไทยคอปเปอร์ จำกัด บริษัทผู้ผลิตทองแดง ซึ่งเป็นกิจการส่วนตัวของนายประยุทธ์ มหากิจศิริ และบริษัท ไทยคอปเปอร์ได้จัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิการจองซื้อหุ้นหรือวอร์แรนท์ให้นายประยุทธ์ แทนที่จะจัดสรรให้ TFI ในฐานะผู้ใส่เงินซื้อหุ้นเพิ่มทุน และปัจจุบัน บริษัท ไทยคอปเปอร์ ถูกฟ้องล้มละลายไปแล้ว เงินของ TFI ที่นายประยุทธ์หอบไปใส่จึงสูญทั้งจำนวน


หุ้น TFI ตกอยู่ในช่วงขาลงมาหลายปี โดยเฉพาะปีนี้ทรุดหนักตั้งแต่ต้นปี จนเมื่อวันที่ 29 ตุลาคมเหลือเพียง 7 สตางค์ เนื่องจากผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง มียอดขาดทุนสะสม 1,916 ล้านบาท


กลุ่มมหากิจศิริ ถือหุ้นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อยู่หลายบริษัท แต่ส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่ไม่โดดเด่น และหุ้นบางบริษัทมีสภาพไม่แตกต่างจาก TFI เท่าใดนัก โดยเฉพาะบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA ซึ่งราคาไหลลงมาตลอด ตามผลประกอบการที่ไม่ดีนัก


โดยผลงานงวด 6 เดือนแรกปีนี้ TTA ขาดทุน266.25 ล้านบาท ขณะที่ระยะเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 102.38 ล้านบาท ราคาหุ้นจึงทรุดลงมาเหลือเพียง 4.44บาท โดยมีผู้ถือหุ้นรายย่อยติดยอดดอยหุ้นตัวนี้ 20,741 ราย เพราะ ผู้ถือหุ้นรายย่อยถือหุ้น TTA รวมกันสัดส่วน 72.21% ของทุนจดทะเบียน แต่อำนาจบริหารบริษัทกลับอยู่ในกำมือกลุ่มมหากิจศิริ ซึ่งถือหุ้นเพียงประมาณ 10 %


ดังนั้น คำเตือนของตลาดหลักทรัพย์ให้ศึกษาข้อมูลการถูกเรียกชำระหนี้ของ TFI ด้วยความระมัดระวังระมัดระวัง ก่อนตัดสินใจลงทุน อาจสายเกินไป เพราะปัญหาฐานะการเงินของ TFI เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วแล้ว และนักลงทุนคนนอกที่ไม่มีหุ้นอยู่ในมือ คงไม่มีใครคิดจะเข้าไปยุ่งกับหุ้นตัวนี้ ส่วนนักลงทุนที่ถือหุ้นอยู่เต็มมือ คงกำลังหาทางออกจากหุ้นตัวนี้อยู่ เพราะอาการของหุ้น TFI น่าเป็นห่วง เช่นเดียวกับหุ้นของกลุ่มมหากิจศิริอีกบางตัว


อย่างไรก็ดี สำหรับในส่วนของ TTA นั้น "ตระกูลมหากิจศิริ" ได้เข้าไปซื้อหุ้นเมื่อปี 54 พร้อมกับเข้าบริหารอย่างเต็มตัว ล่าสุดเมื่อต้นเดือนตุลาคม ที่ผ่านมานี่เอง "เฉลิมชัย มหากิจศิริ" กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TTA ได้รายงานซื้อหุ้น 228,177 หุ้น ที่ราคาหุ้นละ 5.05 บาทคิดเป็นมูลค่ารายการรวม 1.15 ล้านบาท หลังจากพบว่าราคาหุ้น TTA ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเดือนก.ย.ราคาหุ้นปรับตัวลดลง 8.47% จากราคา 5.90 บาท ลดลงมาอยู่ที่ 5.40 บาท ขณะที่เกือบครึ่งเดือนแรก ต.ค.ราคาหุ้นปรับตัวลดลงต่อ 5.55 % จากราคา 5.40 บาท ลดลงมาอยู่ที่ 5.10 บาท และเมื่อ 30 ต.ค. ราคาหุ้นอยู่ที่ 4.50 บาท

ขณะที่ ผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 62 บริษัทมีผลงานขาดทุน 174 ล้านบาท ส่งผลให้ครึ่งปีแรก TTA มีผลขาดทุน 266.25 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทยังคาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากธุรกิจเดินเรือที่เป็นธุรกิจหลัก หลังจากที่เหมืองแร่ Vale ในบราซิลกลับมาเปิดดำเนินการ และการนำเข้าถ่านหินจากอินเดีย รวมไปถึงการนำเข้าถั่วเหลืองจากบราซิลไปจีนเพิ่มขึ้น รวมทั้งประเด็นองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) กำหนดคุณภาพของน้ำมันเตาที่ใช้ในการเดินเรือใหม่ ส่งผลให้ค่าระวางเรือมีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยต้นไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ค่าระวางเรือปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่กว่า 10,000 ดอลลาร์ต่อลำต่อวัน จากครึ่งปีแรกเฉลี่ยอยู่ที่ 9,200 ดอลลาร์ ต่อลำต่อวัน


ส่วนธุรกิจบริการนอกชายฝั่งภายใต้ บริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ ยังมีมูลค่าสัญญาให้บริการที่รอส่งมอบอีก 73 ล้านดอลลาร์ และล่าสุดได้ทำสัญญาให้บริการแก่บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในแถบตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนธุรกิจอาหาร บริษัทตั้งเป้าหมายขยายสาขา ทาโก้ เบลล์ ในไทยเป็น 8 สาขา จาก 3 สาขา ภายในเดือน เม.ย.- พ.ค.63 และพิซซ่า ฮัท ปัจจุบัน มีทั้งสิ้น 141 สาขา และธุรกิจทรัพยากรน้ำที่ดำเนินการผ่านบริษัท เอเชีย อินฟราสตักเชอร์ แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (AIM) ได้เข้าร่วมประมูลโครงการของภาครัฐ โดยมีมูลค่าโครงการรวมกันมากกว่า 1,000 ล้านบาท และคงต้องมาลุ้นกันว่า ผลงานไตรมาส 3 ของ TTA จะฟื้นตัวมากน้อยเพียงใด ผลขาดทุนจะลดลงหรือไม่ และราคาหุ้นจะทรุดต่อไปจนกระทั่งหลุด 4 บาท เวลาเท่านั้นที่จะให้คำตอบ


กำลังโหลดความคิดเห็น