xs
xsm
sm
md
lg

สายไปสำหรับคำเตือน TFI / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยออกประกาศเตือนนักลงทุนให้ศึกษาข้อมูลการถูกเรียกชำระหนี้ของบริษัท ไทยฟิล์มอินดัสตรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TFI ด้วยความระมัดระวังก่อนตัดสินใจลงทุน หลังจากบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ ถูกธนาคารเจ้าหนี้ เรียกชำระหนี้รวม 1,041.79 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา TFI รายงานความคืบหน้าคดีถูกฟ้องล้มละลาย ผ่านตลาดหลักทรัพย์ ระบุว่า บริษัทมีข้อพิพาทกับผู้จำหน่ายเม็ดพลาสติคจากต่างประเทศ ในการสั่งซื้อวัตถุดิบและถูกผู้จำหน่ายเม็ดพลาสติดยื่นฟ้องล้มละลาย ด้วยมูลหนี้ประมาณ 84 ล้านบาท

ทนายของบริษัทได้แจ้งต่อศาลว่า บริษัทไม่ได้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เพราะมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน จำนวน 291 ล้านบาท และขอให้ศาลยกฟ้อง ซึ่งศาลได้นัดสอบพยานคู่ความในวันที่ 3 และ 4 ธันวาคมนี้ และหากมีความคืบหน้าใด บริษัทจะแจ้งให้ทราบ

ต่อมา วันที่ 29 ตุลาคม TFI รายงานการถูกเรียกชำระหนี้ผ่านตลาดหลักทรัพย์ ระบุว่า ถูกธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง เรียกชำระหนี้รวมดอกเบี้ย จำนวนรวม 1,041.79 ล้านบาท โดยให้ชำระภายหรือดำเนินการลงนามในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ภายในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ซึ่งบริษัทจะเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคารตามเวลาที่กำหนด และจะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบ

ส่วนข้อพิพาทกับผู้จำหน่ายเม็ดพลาสติก มูลหนี้ 83.91 ล้านบาทนั้นอยู่ระหว่างการเจรจาไกล่เกลี่ยในศาล

สำหรับการถูกเรียกชำระหนี้นั้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่มีเงินกู้จากสถาบันการเงินอื่น และมีหนี้การค้าอีกประมาณ 100 ล้านบาท สำหรับแนวทางการจัดหาแหล่งเงินมาชำระหนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา

นอกจากนั้น TFI ยังรายงาน การที่บริษัทจะหยุดการผลิตทั้งหมดเป็นการชั่วคราว เพื่อปรับปรุงสายการผลิต ซึ่งต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน คาดว่าจะเริ่มการผลิตใหม่ได้ประมาณปลายไตรมาสแรกปี 2563 นั้น ในช่วงหยุดการผลิต บริษัทยังมีรายได้จากการขายสินค้าคงเหลือ

การรายงานสถานการณ์หนี้ สะท้อนให้เห็นว่า TFI กำลังเผชิญปัญหาฐานะทางการเงิน และยังมองไม่เห็นแนวทางการแก้ปัญหา ทำให้อนาคตการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้มีความไม่แน่นอน ทำให้นักลงทุนทยอยขายหุ้นทิ้งอย่างต่อเนื่อง

TFI เข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ปี 2532 โดยกลุ่มมหากิจศิริเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ สัดส่วนรวมกันกว่า 75% ของทุนจดทะเบียน โดยมีผู้ถือหุ้นรายย่อย จำนวน 2,179 คน

เมื่อประมาณเกือบ 20 ปีก่อน TFI เคยสร้างข่าวฉาวโฉ่ นำเงินเพิ่มทุนจำนวนนับพันล้านบาทไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยนำไปซื้อหุ้นเพิ่มทุน บริษัท ไทยคอปเปอร์ จำกัด บริษัทผู้ผลิตทองแดง ซึ่งเป็นกิจการส่วนตัวของ นายประยุทธ์ มหากิจศิริ และบริษัท ไทยคอปเปอร์ ได้จัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิการจองซื้อหุ้น หรือวอร์แรนต์ให้นายประยุทธ์ แทนที่จะจัดสรรให้ TFI ในฐานะผู้ใส่เงินซื้อหุ้นเพิ่มทุน

ปัจจุบัน บริษัท ไทยคอปเปอร์ถูกฟ้องล้มละลายไปแล้ว เงินของ TFI ที่นายประยุทธ์หอบไปใส่จึงสูญทั้งจำนวน

หุ้น TFI ตกอยู่ในช่วงขาลงมาหลายปี โดยเฉพาะปีนี้ที่ทรุดหนักตั้งแต่ต้นปี จนเมื่อวันที่ 29 ตุลาคมเหลือเพียง 7 สตางค์ เนื่องจากผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง มียอดขาดทุนสะสม 1,916 ล้านบาท

กลุ่มมหากิจศิริ ถือหุ้นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อยู่หลายบริษัท แต่ส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่ไม่โดดเด่น และหุ้นบางบริษัทมีสภาพไม่แตกต่างจาก TFI เท่าใดนัก โดยเฉพาะบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA ซึ่งราคาไหลลงมาตลอด ตามผลประกอบการที่ไม่ดีนัก

งวด 6 เดือนแรกปีนี้ TTA ขาดทุน 266.25 ล้านบาท ขณะที่ระยะเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 102.38 ล้านบาท ราคาหุ้นจึงทรุดลงมาเหลือเพียง 4.44บาท โดยมีผู้ถือหุ้นรายย่อยติดยอดดอยหุ้นตัวนี้ 20,741 ราย

ผู้ถือหุ้นรายย่อยถือหุ้น TTA รวมกันสัดส่วน 72.21% ของทุนจดทะเบียน แต่อำนาจบริหารบริษัทกลับอยู่ในกำมือกลุ่มมหากิจศิริ ซึ่งถือหุ้นเพียงประมาณ 10%

คำเตือนของตลาดหลักทรัพย์ให้ศึกษาข้อมูลการถูกเรียกชำระหนี้ของ TFI ด้วยความระมัดระวังก่อนตัดสินใจลงทุนอาจสายเกินไป

เพราะปัญหาฐานะการเงินของ TFI เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วแล้ว และนักลงทุนคนนอกที่ไม่มีหุ้นอยู่ในมือคงไม่มีใครคิดจะเข้าไปยุ่งกับหุ้นตัวนี้

ส่วนนักลงทุนที่ถือหุ้นอยู่เต็มมือ คงกำลังหาทางออกจากหุ้นตัวนี้อยู่

เพราะ อาการของหุ้น TFI น่าเป็นห่วง เช่นเดียวกับหุ้นของกลุ่มมหากิจศิริอีกบางตัว




กำลังโหลดความคิดเห็น