xs
xsm
sm
md
lg

บันทึกหน้าใหม่คดีอินไซด์หุ้น / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คำตัดสินของศาลอุทธรณ์ที่ยืนตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง โดยลงโทษปรับอดีตกรรมการอิสระ บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL ฐานใช้ข้อมูลภายในแสวงหาประโยชน์จากการซื้อขายหุ้นหรือ อินไซเดอร์เทรดดิ้ง แม้เป็นเพียงคดีเล็กๆ แต่จะนำมาซึ่ง การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ สำหรับการปราบปรามพฤติกรรมอินไซเดอร์ในตลาดหุ้น

คดีอินไซเดอร์หุ้น เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งมีโทษทั้งทางแพ่งและทางอาญา แต่ ก.ล.ต.มักเลือกที่จะดำเนินมาตรการลงโทษในทางแพ่ง โดยสั่งปรับ และเคยสั่งปรับเป็นเงินสูงสุดกว่า 2,303 ล้านบาท คดีอินไซด์หุ้น บริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA

การเลือกที่จะไม่ดำเนินคดีอาญา โดยการร้องทุกข์กล่าวโทษ ส่วนหนึ่งเพราะขั้นตอนการดำเนินคดีมีความซับซ้อน ต้องใช้เวลา และคดีมักถูกตัดตอนในกระบวนการสอบสวน

แต่การดำเนินมาตรการลงโทษในทางแพ่ง โดยสั่งปรับก็ยังเกิดปัญหาอีก เพราะผู้กระทำผิดหลายรายไม่ยอมรับบทลงโทษ ไม่ชำระค่าปรับ ก.ล.ต. จึงต้องส่งเรื่องให้อัยการฟ้อง และส่งอัยการฟ้องแล้วนับสิบคดี

สำหรับคดีอินไซด์หุ้น GLOBAL เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มิถุนายนถึง 23 สิงหาคม 2555 โดยนายวิฑูร สุริยวนากุล ประธานกรรมการบริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท ร่วมกับพวกอีก 3 รายใช้ข้อมูลภายใน กรณีที่บริษัท เอสซีจี ดีสทรีบิวชั่น จำกัด (SCG) ซึ่งบริษัท ปูนซิเมนต์ จำยกัด (มหาชน) ถือหุ้น 100% จะเข้าถือหุ้น GLOBAL ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30% ของทุนจดทะเบียน

นายวิฑูร ได้เข้าซื้อหุ้น GLOBAL ก่อนที่จะเผยแพร่ข่าว SCG เข้าถือหุ้น ซึ่งเป็นการเอาเปรียบนักลงทุนทั่วไป


ก.ล.ต.สั่งปรับนายวิฑูร จำนวน 25.33 ล้านบาท และปรับผู้ให้การสนับสนุนการกระทำความผิดอีก 3 ราย โดยปรับรายละ 3.33 แสนบาท

นอกจากนั้น ยังกล่าวโทษนายสุรศักดิ์ จันโทริ กรรมการตรวจสอบและกรรมการอิระ GLOBAL และนายเอกมล จันโทริ ในความผิดอินไซเดอร์ โดยนายสุรศักดิ์ ใช้ข้อมูลภายในเช่นเดียกับนายวิฑูร ซื้อหุ้น GLOBAL จำนวน 75,000 หุ้น โดยซื้อผ่านบัญชีนายเอกกมล

ก.ล.ต. ดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งนายสุรศักดิ์ ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2555 แต่ นายสุรศักดิ์ ไม่ยินยอม จึงส่งเรื่องให้อัยการฟ้อง โดยอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 ต่อมา วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้นายสุรศักดิ์ ชำระค่าปรับ 522,500 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี และให้นายเอกกมล ชำระค่าปรับ 3.33 แสนบาท

และวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ศาลอุทธรณ์มีคำตัดสินยินตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีถือเป็นที่สิ้นสุด โดยระยะเวลาตั้งแต่อัยการยื่นฟ้องจนศาลอุทธรณ์มีคำตัดสินรวม 2 ปี 3 เดือน

แต่ละปี ก.ล.ต. จะดำเนินมาตรการลงโทษความผิดการใช้ข้อมูลภายใน เอาเปรียบนักลงทุนทั่วไปหลายคดี เช่นเดียวกับพฤติกรรมการปั่นหุ้น ซึ่งสร้างความเสียหายร้ายแรงให้นักลงทุนนับหมื่นนับแสนราย

แต่กลับไม่มีข่าวว่า ศาลได้ตัดสินลงโทษอาชญากรในตลาดหุ้นสักเท่าไหร่


เพราะคดีส่วนใหญ่ไม่ถูกส่งเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล โดยเมื่อหลุดจากมือ ก.ล.ต. จะถูกตัดตอนจากหน่วยงานอื่น ด้วยความเห็นสั่งไม่ฟ้อง อ้างว่าหลักฐานอ่อน แต่กลับไม่มีการประสานขอหลักฐานเพิ่มเติมจาก ก.ล.ต. ก่อนสั่งไม่ฟ้อง

และเพราะคดีอาจ “ตัดตอน” ได้ ทำให้อินไซเดอร์ หรือแก๊งปั่นหุ้นมักไม่ยอมรับโทษในชั้น ก.ล.ต. ไม่เกรงกลัวความผิด และก่อคดีโกงกันอย่างโชกโชน

แต่ คดีอินไซด์หุ้น GLOBAL ถูกส่งเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาลจนได้ ซึ่งไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก จนมีคำตัดสินอันเป็นที่สิ้นสุด และจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่สำหรับคดีต่างๆ ในตลาดหุ้น ทั้งทางแพ่งและอาญา

เพราะคดีที่ ก.ล.ต.กล่าวโทษ ถ้าไม่ถูกตัดตอน ขอให้ถูกส่งเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาลเท่านั้น ผู้กระทำความผิดคงรอดยาก

คดีอินไซด์หุ้น GLOBAL อาจเป็นจุดเริ่มต้นในการกวาดล้างอาชญากรในตลาดหุ้นอย่างจริงจัง และจะช่วยให้นักลงทุนจำนวนเกือบ 2 ล้านคนมีความมั่นใจว่า

เล่นหุ้นแล้วไม่ต้องกลัวถูกโกงเหมือนทุกวันนี้






กำลังโหลดความคิดเห็น