เมื่อวันศุกร์ที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศ ร้องทุกข์กล่าวโทษ นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ อดีตประธานกรรมการ บริษัท อินเตอร์ฟาร์อีส เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC พร้อมพวกรวม 5 คน ใน ความผิดทุจริตแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ และเป็นอีกหนึ่งของคดีโกงในบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้
นายวิชัย พร้อมพวกอีก 5 คน ประกอบด้วย นายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ อดีตรองประธานกรรมการ บริษัททีแอนด์เอส อินเตอร์ โปรดักซ์ ไลฟ์ จำกัด นายปัณณวิชญ์ จตุพรสวัสด์ และนายธนวัฒน์ แก่นทอง ถูก ก.ล.ต.ร้องทุกข์ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กรณี IFEC ซื้อหุ้น CRS จากผู้ถือหุ้นเดิมโดยตรง ในราคา 142 ล้านบาท ในปี 2557
แต่วันทำสัญญาซื้อขาย เมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2558 บริษัท ทีแอนด์เอส อินเตอร์ โปรดักซ์ ไลฟ์ จำกัด ซึ่งมีนายปัณณวิชญ์ เป็นกรรมการผู้การ กลับเข้ามาทำหน้าที่เป็นคนกลาง และ IFEC ต้องจ่ายเงินค่าหุ้น 155 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากข้อตกลง 13 ล้านบาท ซึ่งเป็นการทุจริตแสดงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น และยังได้ลงข้อความเท็จในเอกสารของ IFEC ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่าซื้อหุ้น CRS ในราคา 155 ล้านบาท
ก.ล.ต.ยังได้แจ้งดำเนินคดีต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ด้วย
การร้องทุกข์กล่าวโทษอดีตผู้บริหาร IFEC โดยเฉพาะกลุ่มนายวิชัย ไม่เกิดขึ้นเพียงคดีแรก และคงไม่ใช่คดีสุดท้าย เพราะพฤติกรรมโกงในบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้มีมากมาย จนเป็นมหากาพย์ของการโกง ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้บริษัทล่มสลาย ผู้ถือหุ้นจำนวนกว่า 30,000 ราย ได้รับความเสียหาย ยังไม่นับรวมผู้ถือหุ้นกู้อีกนับพันราย
หลักฐานการโกงใน IFEC ถูกทำลายจนแทบไม่เหลือซากจากกลุ่มผู้บริหารชุดเก่า เพื่อไม่ให้ใครตามแกะรอย จนทำให้การฟื้นฟูกิจการเป็นไปอย่างล่าช้า เพราะผู้บริหารชุดใหม่ไม่มีเอกสารทางบัญชีใดๆ นอกจากนั้น ยังถูกกลุ่มผู้บริหารชุดเก่าพยายามขัดขวางการทำงานในทุกรูปแบบ และหาช่องกฎหมายฟ้องในทุกประเด็น จนเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการฟื้นฟูการดำเนินงาน
คดีการฟ้องร้องใน IFEC มีอยู่ประมาณ 200-300 คดี รวมทั้งคดีที่ ก.ล.ต.ร้องทุกข์กล่าวโทษด้วย และยังไม่นับรวมคดีที่ผู้ถือหุ้นหรือผู้ถือหุ้นกู้แจ้งความดำเนินคดีต่ออดีตผู้บริหารบริษัทอีกหลายคดี ซึ่งคดีถูกตัดตอนในชั้นสอบสวนจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเชื่อกันว่า อดีตผู้บริหารบริษัทที่ทุจริตและถูกแจ้งความดำเนินคดี คงวิ่งเต้น ยัดเงินล้มคดี
คดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ วงเงินความเสียหายเป็นร้อยล้านบาท พันล้านบาท หรือบางคดีอาจเป็นหมื่นล้านบาท มีผู้ตกเป็นเหยื่อนับพันหรือนับหมื่นคน แต่อาชญากรเศรษฐกิจพร้อมทุ่มเงินที่โกงมานับร้อยล้านบาท เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องรับโทษทางอาญา
และเจ้าหน้าที่ระดับสูงบางหน่วยงานหรือหลายหน่วยงานอาจช่วยเหลืออาชญากรเศรษฐกิจ โดยตัดตอนคดี สั่งไม่ฟ้อง ด้วยข้ออ้างหลักฐานไม่เพียงพอ เพื่อแลกกับเงินสินบนก้อนโต
ประชาชนนับหมื่นนับแสนคนซึ่งตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจ จึงมักไม่ได้รับการเยียวยา ขณะที่อาชญากรทางเศรษฐกิจมักหลุดรอดลอยนวล
อาชญากรในตลาดหุ้น นักปั่นหุ้น นักไซ่ฟ่อนเงิน กี่สิบคนที่หลุดรอดลอยนวล คดีการร้องทุกข์กล่าวโทษของ ก.ล.ต.จำนวนกี่สิบคดีแล้วที่ถูก “ตัดตอน” โดยไม่ถูกส่งเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล จนอาชญากรในตลาดหุ้นกำเริบ ก่ออาชญากรรมโดยไม่เกรงกลัวความผิด และไม่คำนึงถึงความเสียหายของผู้ลงทุนนับหมื่นนับแสนคน
คดีโกงใน IFEC ยังมีอีกมากมาย และเชื่อว่า ผู้ถือหุ้น ผู้บริหารบริษัทชุดใหม่ รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์ และ ก.ล.ต.คงจะขุดคุ้ยหาหลักฐานเพื่อดำเนินคดีต่อกลุ่มอดีตผู้บริหารบริษัทกันต่อไป และคงมีการร้องทุกข์กล่าวโทษตามมาอีกหลายคดี
แต่ผู้ถือหุ้นบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้จำนวนกว่า 3 หมื่นราย จะมีโอกาสได้เห็นอดีตผู้บริหาร IFEC จอมโกงต้องชดใช้กรรมบ้างหรือไม่
เพราะแม้ ก.ล.ต.จะกล่าวโทษอดีตผู้บริหาร IFEC อีกกี่สิบคดีก็ตาม แต่ถ้า แก้ปัญหาการ "ตัดตอน" ล้มคดีไม่ได้ แก๊งอาชญากรที่ปล้น IFEC คงลอยนวลตามเคย