กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา นายศักดิ์รินทร์ ร่วมรังษี รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ร่วมเสวนาเกี่ยวกับปัญหาในตลาดหุ้น และพูดถึงพฤติกรรมความผิดต่างๆ ของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ การเปิดเผยข้อมูลอันเป็นเท็จหรือการคาดการณ์ที่บิดเบือน
พฤติกรรมความผิดในตลาดหุ้นที่ถูกพูดถึงกันมาตลอดคือ การสร้างราคาหุ้นหรือปั่นหุ้น การใช้ข้อมูลภายในแสวงหาประโยชน์จากการซื้อขายหุ้นหรืออินไซเดอร์เทรดดิ้ง แต่ การเปิดเผยข้อมูลอันเป็นเท็จ การคาดการณ์แนวโน้มผลดำเนินงานของบริษัทที่บิดเบือน เพื่อกระตุ้นราคาหุ้น ไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก ทั้งที่เป็นความผิดที่เกิดขึ้นไม่น้อยกว่าการปั่นหุ้นหรืออินไซเดอร์เทรดดิ้ง
การให้ข้อมูลเท็จหรือคาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการที่บิดเบือน และมีผลต่อราคาหุ้นโดยตรงนั้น เกิดขึ้นโดยการแจ้งข้อมูลผ่านตลาดหลักทรัพย์ การให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชน หรือแม้แต่การปล่อยข่าวผ่านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ รวมทั้งกูรูหุ้น
และการนำข้อมูลเท็จหรือการคาดการณ์ที่บิดเบือน ไปใช้ประเมินราคาหุ้น โดยไม่ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล อาจผิดกฎหมายการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จได้
หลายปีก่อน ก.ล.ต.เคยประกาศตรวจสอบ ควบคุมและลงโทษอย่างเข้มงวด สำหรับการนำข้อมูลเท็จหรือการคาดการณ์ที่บิดเบือนมาเปิดเผย จนผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่ชอบแต่งนิยายโกหกนักลงทุน โดยปล่อยข่าวดี คุยโม้โอ้อวดแนวโน้มการเติบโตของผลกำไร เพื่อกระตุ้นราคาหุ้น ต้องลด พฤติกรรมสร้างข่าวลง
แต่ ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งยังไม่หยุด และมักแต่งนิยายแหกตานักลงทุน พยายามสร้างข่าวดี และปล่อยข่าวผ่านสื่อ ผ่านนักวิเคราะห์หรือส่งข้อมูลอันเป็นเท็จ และการคาดการณ์แนวโน้มการดำเนินงานที่บิดเบือนผ่านตลาดหลักทรัพย์
รูปแบบการแต่งนิยายแหกตา จะเป็นไปในรูปแบบการขยายการลงทุน แนวโน้มผลประกอบการ โดยผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนจะคุยโม้เกินจริง คาดการณ์รายได้จากการขยายการลงทุน หรือการคาดการณ์ผลกำไรที่สวยหรูเกินจริง
นักวิเคราะห์บริษัทโบรกเกอร์ที่เข้าเยี่ยมชมกิจการบริษัทจดทะเบียน ถูกผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนปล่อยข่าวเท็จมาเยอะแล้ว โดยสร้างวิมานในอากาศ คาดการณ์แนวโน้มผลกำไรของบริษัทที่เกินจริง จนนักวิเคราะห์เคลิ้ม และนำข้อมูลเท็จและการคาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการที่บิดเบือนมาเขียนเป็นบทวิเคราะห์
ทำให้นักลงทุนเสพบทวิเคราะห์หุ้นรายตัวที่ผิดจากข้อเท็จริง จนนำไปสู่การตัดสินใจลงทุนที่ผิดพลาด และเกิดความเสียหายตามมา
การจงใจปล่อยข้อมูล และการคาดการณ์ผลดำเนินนานที่บิดเบือน เกิดขึ้นมาตลอด แต่กลับมีการลงโทษน้อยมาก เมื่อเทียบกับกรณีการปั่นหุ้นหรืออินไซเดอร์ เนื่องจาก ก.ล.ต.ไม่ได้ตรวจสอบ ติดตาม และดำเนินมาตรการลงโทษอย่างจริงจัง
ผู้บริหารบริษัทจดทะเยียนที่ขี้โม้ ชอบแต่งนิยายหลอกนักลงทุน ออกมาให้ข่าวถี่ และมักจะคาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการอย่างสวยหรู ก.ล.ต.ควรเพ่งเล็งพฤติกรรม โดยเก็บข้อมูลการให้ข่าวหรือการคาดการณ์ผลประกอบการไว้ เพื่อดำเนินมาตรการลงโทษ หากข้อมูลที่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนเผยแพร่ออกมาไม่ตรงกับข้อเท็จจริง หรือการคาดการณ์ผลดำเนินงานสามารถพิสูจน์ได้ว่า เป็นการคาดการณ์ที่บิดเบือน
การที่ ก.ล.ต.ออกมาเตือนการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือการคาดการณ์ที่บิดเบือน ซึ่งอาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย เป็นเรื่องที่ดี เพราะสื่อ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ หรือกูรูหุ้น จะระมัดระวังตัวขึ้น และไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในการปล่อยข่าวเท็จ
ก.ล.ต.ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่เป็นต้นตอปล่อยข่าวเท็จ
และไม่ควรละเว้นสื่อ นักวิเคราะห์ หรือกูรูหุ้น ที่ยอมเป็นเครื่องมือของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน นำข้อมูลเท็จนำการคาดการณ์ที่บิดเบือนมาเผยแพร่
โดยเฉพาะ สื่อ นักวิเคราะห์ หรือกูรูหุ้นที่รับงานเชียร์หุ้น