xs
xsm
sm
md
lg

แม้แต่กองทุนยัง “อินไซด์” / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การอินไซด์ หรือการนำข้อมูลภายในมาใช้หาประโยชน์จากการซื้อขายหุ้น แต่ละปีมีคดีนับไม่ถ้วน แต่การอินไซด์หน่วยลงทุนกองทุน แทบจะไม่เคยมีเกิดขึ้น และอาจมีกรณีของ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ยูโอบี ฟรีโฮลด์ เอท ทองหล่อ เป็นคดีแรก

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพ์ (ก.ล.ต.) ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานอัยการ ขอให้ดำเนินการฟ้องผู้กระทำความผิด ซึ่งอาศัยข้อมูลภายในที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบบุคคลภายนอก ประกอบด้วย นายเอกรัตน์ อภิวัฒนพร นางอุสุมา สารพูนทรัพย์ และ น.ส.ธิติรัตน์ โลหะเศรษฐ์ โดยขอให้กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง รวมเป็นเงิน 1.22 ล้านบาท 

ก.ล.ต.ระบุว่า นายเอกรัตน์ ซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ยูโอบี ฟรีโฮลด์ เอท ทองหล่อ (UOB8TF) ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายอุสุมา และ น.ส.ธิติรัตน์ โดยอาศัยข้อมูลภายใน ซึ่งคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่งมีมติปรับผู้กระทำผิดทั้ง 3 รวม รวมเป็นเงิน 1.22 ล้านบาท แต่ผู้กระทำผิดไม่ยอมชำระค่าปรับ

การยื่นคำร้องต่อพนักงานอัยการ เพื่อขอให้กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง พร้อมรายงานการดำเนินการต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อ เนื่องจากเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

ก.ล.ต.ไม่ได้ระบุว่า นายเอกรัตน์ เป็นใคร แต่น่าจะเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกองทุน UOB8TF จึงรู้ข้อมูลภายใน 

ความจริงค่าปรับ จำนวน 1.22 ล้านบาท อยู่ในฐานะที่จ่ายได้ เพื่อปิดคดีอินไซด์ แต่ไม่เข้าใจว่า ทำไมกลุ่มนายเอกรัตน์ จึงไม่ยอมจ่าย จนจะนำไปสู่การฟ้องร้องเป็นคดีในศาลแพ่ง และถูกส่งเรื่องให้ ปปง.เพื่อสอบสวนเส้นทางการเงินในเชิงลึก

วงเงินค่าปรับเฉพาะนายเอกรัตน์ มีจำนวน 558,405 บาท แสดงว่าผลประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้อินไซด์ซื้อหน่วยลงทุนมีไม่มากเท่าไหร่ แต่จะมากหรือน้อยก็อยู่ในข่ายกระทำความผิดทั้งสิ้น

กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาว โดยหวังผลตอบแทนจากเงินปันผล ซึ่งมักจะอยู่ประมาณ 6% ต่อปี ส่วนหน่วยลงทุนไม่มีการซื้อขายมากนัก และไม่เคยมีข่าวการใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหน่วยลงทุน เพิ่งจะมีกรณีของ UOB8TF ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า พฤติกรรมอินไซด์แพร่ระบาดไปทั่ว 

แม้แต่ในแวดวงกองทุนรวมก็ยังไม่เว้น ทั้งที่ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการเอาเปรียบนักลงทุนทั่วไปจะเป็นเงินเพียงไม่กี่แสนบาทก็ตาม

บทลงโทษทางแพ่งคดีอินไซด์ไม่รุนแรงนัก เพราะหากถูกตรวจสอบพบความผิด อย่างมากแค่ถูกปรับตามมูลฐานความผิด โดยหากรับประโยชน์จากการเล่นโกง ใช้ข้อมูลวงในเอาเปรียบชาวบ้านจำนวนมาก จะถูกปรับมาก หากได้รับผลประโยชน์น้อยเหมือนอินไซด์กองทุน UOB8TF ถูกปรับเพียงหลักแสน

แต่เนื่องจากความผิดคดีอินไซเดอร์ เข้ามูลฐานะความผิด พ.ร.บ.ฟอกเงิน โดย ปปง.สามารถเข้ามาตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้กระทำความผิดได้ จึงทำให้คดีอินไซด์นำไปสู่คดีอาญาร้ายแรงได้ โดยเฉพาะกรณีที่ผู้กระทำผิดไม่ยอมชำระค่าปรับให้ ก.ล.ต.เพื่อปิดคดี

ความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ในหลายกรณี เป็นมูลฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน เช่นการปั่นหุ้น การใช้อินไซด์ หรือการฉ้อโกงในบริษัทจดทะเบียน และมีนับสิบๆ คดีที่ ก.ล.ต.ส่งเรื่องต่อให้ ปปง.ดำเนินคดี

เพียงแต่ที่ผ่านมา ปปง.ยังไม่ได้แสดงบทบาท หรือสร้างผลงานการตอบสอบเส้นทางการเงิน หรือการดำเนินคดีผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์จนถึงที่สุดเท่านั้น

เพราะยังไม่มีอาชญากรในตลาดหุ้นคนใด ถูก ปปง.ส่งตัวเข้าสู่การพิจารณาของศาลจนถูกตัดสินลงโทษ และสาธารณชนไม่เคยรู้ว่า คดีที่ ก.ล.ต. ส่งให้ ปปง.ตรวจสอบดำเนินคดีต่อนั้นทำไมจึงเงียบหาย หรือการสอบสวนมีความคืบหน้าเพียงใด

เนื่องจาก ปปง.แทบไม่เคยแถลงถึงความคืบหน้าในการสอบสวนและดำเนินคดีเกี่ยวกับอาชญากรรมในตลาดหุ้น 

เมื่อ ปปง.ไม่เคยลงโทษความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ให้เป็นตัวอย่างแม้แต่คดีเดียว อาชญากรในตลาดหุ้นจึงไม่เกิดความเกรงกลัวกฎหมาย 

แม้แต่ค่าปรับเพียงเล็กๆ น้อยๆ ในความผิดการใช้ข้อมูลวงใน อินไซเดอร์หลายคนจึงไม่ยอมจ่ายเพื่อปิดคดีกับ ก.ล.ต. และไม่กลัว ปปง.สอบเส้นทางการเงินอีกด้วย






กำลังโหลดความคิดเห็น