xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวไกลลุยดันร่าง พ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉิน ให้ประกาศไม่เกิน 30 วัน ต่ออายุผ่านสภา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล (แฟ้มภาพ)
ส.ส.ก้าวไกล แถลงเดินหน้าดันร่าง พ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉิน กำหนดให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต้องได้ไม่เกิน 30 วัน โดยสภาต้องเห็นชอบทั้งขยายเวลา พร้อมให้อิสระสื่อ

วันนี้ (18 มิ.ย.) นายรังสิมันต์ โรม พร้อมนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ร่วมกันแถลงถึงการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยมี ส.ส.ของพรรคจำนวน 55 คน เข้าชื่อเสนอต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยนายรังสิมันต์กล่าวว่า ​เมื่อรัฐบาลยังคงการใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เอาไว้ พรรคก้าวไกลในฐานะที่ไม่เห็นด้วยกับการคงไว้ซึ่ง พ.ร.ก.จึงเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพอย่างยิ่ง แม้จะมีการอ้างเรื่องการคุมโควิด แต่วันนี้ไม่มีตัวเลขผู้เสียชีวิต แสดงให้เห็นว่าไม่มีความชอบธรรมที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีกต่อไป และไม่ใช่การแก้ไขสถานการณ์โควิด แต่จะเป็นการป้องกันไม่ให้วิจารณ์รัฐบาล วันนี้สภาฯทำอะไรไม่ได้เลย เป็นแค่เสือกระดาษที่ตรวจสอบการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดของรัฐบาล ในเมื่อรัฐบาลไม่ยกเลิกพระราชกำหนด พรรคก้าวไกลจึงเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อแก้ไขพระราชกำหนด

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีผลเป็นการยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมีสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงจาก พ.ร.ก.เดิม โดยมีสาระสำคัญ 4 ประการดังนี้ 1. ให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยฝ่ายบริหารสามารถใช้บังคับได้ไม่เกิน 30 วัน โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรภายใน 7 วันนับแต่วันประกาศ รวมถึงในการขยายระยะเวลาแต่ละครั้งต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเช่นกัน และหลังสิ้นสุดการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วนายกรัฐมนตรีจะต้องทำรายงานผลการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินต่อสภาผู้แทนราษฎรด้วย 2. ยกเลิกอำนาจในการออกข้อกำหนดห้ามนำเสนอข่าวสาร เพื่อให้สื่อมีอิสระในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร

3. ยกเลิกข้อยกเว้นที่ให้ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง และยกเลิกข้อยกเว้นให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย เพื่อให้การใช้อำนาจภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินถูกตรวจสอบได่โดยองค์กรตุลาการ 4. ในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยภายใต้การประกาศสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง จะต้องดำเนินการด้วยกระบวนการปรกติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่น ควบคุมตัวได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง, ต้องควบคุมตัวภายในสถานีตำรวจที่ญาติและทนายความเข้าถึงได้

“พรรคก้าวไกลจะเดินหน้าผลักดันร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเต็มที่ เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ของการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ผู้ใช้อำนาจมีความรับผิดชอบต่อประชาชน และใช้อำนาจที่ประชาชนมอบหมายให้แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้โดยเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างแท้จริงรวมไปถึงการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดขานแดนภาคใต้ด้วย”


กำลังโหลดความคิดเห็น