รองนายกฯ รับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเหมือนมาตรฐานกลาง ควบคุมโควิด-19 แต่ไม่ขอบอกว่าเป็นสิ่งที่ดีกว่า แจงหากไม่ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็จะต้องใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อแทน แต่จะเกิดความยุ่งยากในการบริหารจัดการตาม สธ. ได้ชี้แจงไว้ มีข้อจำกัดในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค แจงเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธานและคนกลางในการเจรจาเพื่อหามาตรฐานกลางให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ทำงานได้อย่างมั่นใจ
วันนี้ (17 มิ.ย.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาศึกษาเพื่อรองรับกรณีหากมีการยกเลิกประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ให้สัมภาษณ์กรณีหากยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว จะสามารถใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อแทนได้หรือไม่ ว่า ต้องไปประเมินกันเอง เพราะได้แนะนำไปหลายแนวทาง โดยจะต้องไปพูดคุยกับฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคง ที่ผ่านมาฝ่ายสาธารณสุขก็ปรารภเรื่องความยุ่งยากหลายอย่างหากไม่มีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และได้ยกตัวอย่างกรณีแรงๆ หลายกรณีเหมือนกัน ตนก็บอกว่า ไม่ทราบเพราะไม่เคยเจอ จึงแนะนำให้ลองไปคิดเองว่า กระทรวงสาธารณสุขสามารถมีความพร้อมขนาดไหนในการเผชิญปัญหา
นายวิษณุ กล่าวว่า ยกตัวอย่างสมมติว่า หากให้เครื่องบินและนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ไม่ว่าจะมาแบบ ทราเวลบับเบิล (Travel Bubble) หรือจะเป็นคนไทยก็ตาม หากเราเกิดความสงสัยว่ามีอาการติดเชื้อ คำถามคือ 1.อำนาจที่จะสั่งให้เข้าสู่สถานกักตัวของรัฐนั้นมีหรือไม่ 2.ให้ไปกักตัวที่ไหน 3.ใครเป็นคนสั่ง และเรื่องที่สำคัญคือ 4.ค่าใช้จ่ายที่ใช้ ตรงนี้ก็ต้องหาคำตอบ หากแก้ปัญหาได้ก็วางใจได้ แต่หากยังติดปัญหาอยู่ก็คิดกันอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกฎหมายฉบับใดที่จะใช้รองรับหากไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายวิษณุ กล่าวว่า ตอนนี้มีเพียง พ.ร.บ.โรคติดต่อ เท่านั้น ซึ่งมีอำนาจน้อย เพราะพ.ร.บ.โรคติดต่อ เป็นกฎมายที่ออกแบบมาเพื่อรับมือการระบาดแบบ Epidemic (ระดับโรคระบาดทั่วไป) ไม่ใช่สำหรับ Pandemic (การระบาดใหญ่) แต่ก็สามารถใช้ได้ ทุกวันนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ลดลงแล้ว แต่เป็นเรื่องที่เราเกรงหรือกลัวเรื่องในอนาคตเท่านั้นเอง ถ้าเป็นที่วางใจอย่างวันนี้ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อติดต่อกัน 22 วันแล้ว ก็ถือว่าน่าอุ่นใจ กว่าจะถึงปลายเดือนนี้ก็ไม่มีติดต่อกัน 30-40 วันแล้ว
รองนายกฯ กล่าวว่า ตนได้พูดย้ำหลายครั้งแล้วว่า ที่กลัวกันคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้อำนาจออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งประกาศนั้นทำให้เกิดอำนาจตามมาตรา 9 ที่สามารถออกข้อกำหนดได้ 6 เรื่อง ซึ่งถ้าเราไม่ใช้ 6 เรื่องนี้ ข้อกำหนดนั้นก็จะไม่เกี่ยวอะไรกับประชาชน แต่จะเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้เกิดเหตุ 2 ประการ คือ 1.ส่วนที่บังคับใช้กระทบกับประชาชน คือ มาตรา 9 และ 2.ส่วนที่บังคับใช้แล้วไม่กระทบกับประชาชน คือ มาตรา 7 ที่ให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่นอกเหนือไปจากเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค ซึ่งเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคเป็นบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข หากเราสามารถทำงานแบบบูรณาการ นำตำรวจ ทหาร พลเรือน และอสม. มาร่วมทำงานด้วย คนเหล่านั้นทำงานด้วยความเชื่อมั่น ไม่เกรงกลัวอะไร ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถออกำสั่งโดยไม่ต้องวิตกมากนักว่าพอสั่งไปแล้วมีคนไปร้องศาลปกครอง จนต้องหยุดคำสั่งไป หากเป็นอย่างนี้ก็จะเดินหน้าใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อได้
"แต่ถ้าเรายังเผชิญกับสิ่งเหล่านี้อยู่คือ ให้ฝ่ายปกครองไปถามผู้ว่าฯ ว่าหากใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อแล้ว ท่านจะต้องเป็นผู้บริหาร ผู้ว่าฯ 77 จังหวัดจะต้องเป็นคนสั่งเอง นายกรัฐมนตรีสั่งอะไรเองไม่ได้ เพราะพ.ร.บ.โรคติดต่อ นายกฯ ครม. และรัฐมนตรีสาธารณสุขไม่มีอำนาจ เพราะอำนาจทั้งหมดเป็นของผู้ว่าฯ ภายใต้การทำงานของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเท่านั้น และคณะกรรมการฯ ประกอบด้วยกรรมการที่มาจากหลายฝ่าย รวมถึงเอกชน และท้องถิ่น รัฐจะไปสั่งการเขาไม่ได้ ถ้าหากเขาเดินในแนวทางเดียวกันได้ เราก็มั่นใจ และสามารถปล่อยให้ทำงานได้ แต่ถ้าเขาไม่มั่นใจ เช่น อยากไปสั่งปิดโน้นปิดนี้ แต่กลัวว่าจะต้องถูกฟ้องร้อง ถ้าคิดอย่างนั้นจึงไม่สั่งดีกว่า หรือในจังหวัดมันมีการลูบหน้าปะจมูก มองเห็นและเกรงอกเกรงใจกัน ไม่กล้าปิดบางร้านค้า เช่น คาเฟ่ หรือผับ ถ้ายังไม่กล้าเราก็คิดว่า ต้องมีมาตรฐานกลางที่ทำให้เขากล้า ทั้งหมดไม่ได้มีการบอกว่าซ้ายหรอขวา เราจึงให้เลขาสภาความั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธานในเรื่องนี้"นายวิษณุ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในตอนท้ายนายวิษณุ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “ผมเล่าให้ฟังว่า ผมยังไม่ได้คุยอะไรกับเขา ตอนนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจ เดี๋ยวก็จะไปพาดหัวกัน หาว่าผมชี้อีก”