รองนายกฯ ย้ำผ่อนปรนระยะ 2 ใช้เกณฑ์ระยะแรกพิจารณา แย้มอาจผ่อนปรน 4 ข้อเดิม พร้อมใช้สถิติผู้ติดเชื้อ-เสียชีวิต-ผู้ป่วยสะสม เป็นตัวชี้วัดร่วม ยอมรับพิจารณาช่วงเวลาเคอร์ฟิว แต่ยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
วันนี้ (13 พ.ค.) เมื่อเวลา 16.10 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาผ่อนคลายกิจการและกิจกรรมในระยะที่ 2 ว่า ทางเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องประชุมเพื่อพิจารณาในเรื่องนี้แล้ว เพื่อประเมินสถานการณ์และนำข้อมูลไว้รายงานต่อที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ในวันที่ 15 พ.ค.นี้ โดยยึดหลักเกณฑ์ระยะที่ 1 ซึ่งขณะนี้ได้ผ่อนปรนมาแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ จึงต้องประเมินพิจารณาผ่อนปรนในระยะที่ 2 โดยจะต้องพิจารณาถึงโอกาสเสี่ยงของบุคคล สถานที่ กิจกรรมต่างๆ ทั้งนี้โอกาสเสี่ยงบุคคลในคนบางประเภทไม่เสี่ยง แต่บางประเภทเสี่ยง เช่น การอยู่บ้านกับการเดินทางเด็กกับผู้ใหญ่ ส่วนในเรื่องของสถานที่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด ผับ บาร์ กับโอกาสเสี่ยงของกิจกรรม ซึ่งบางอย่าง 5-10 คนมารวมกันถือว่าเสี่ยง แต่บางกิจกรรมไม่เสี่ยง เพราะมีวิธีการดูแล โดยสรุปแล้วต้องพิจารณาเรื่องคน สถานที่ และกิจกรรม พร้อมกันนี้ ต้องพิจารณาถึงตัวเลขผู้ป่วยสะสม ผู้ที่รักษาหาย และจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงหรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นดัชนีชี้วัด แต่อาจมีสิ่งที่ทำให้ไม่สบายใจ ไม่สามารถผ่อนคลายได้ทั้งหมด เพราะยังมีการละเมิดข้อกำหนดที่ห้าม เช่น ละเมิดเคอร์ฟิว และยังมีการเดินทางข้ามจังหวัด แม้เราไม่ได้ห้ามการเดินทางแต่ก็ทำให้อันตรายมีโอกาสเสี่ยง ซึ่งที่ผ่านมาอาจเป็นเพราะมีวันหยุดหลายวัน แต่หลังจากนี้จะไม่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน จะมีอีกทีหนึ่งประมาณเดือน มิ.ย. นอกจากนี้ ยังมีผู้เดินทางเข้าในประเทศจำนวนมาก ตรงนี้ยังต้องคุมอยู่
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีผู้ประกอบการต้องการให้ผ่อนคลายช่วงเวลาเคอร์ฟิว รองนายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้เขาก็กำลังดูกันอยู่ แต่ตนยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะผ่อนคลายจุดนี้หรือไม่ ส่วนเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่มองว่า จะยกเลิกได้ในระยะเวลาไหน หลังจากที่เห็นสถานการณ์โควิด-19 เบาลงนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เร็วไปที่จะพูดในขณะนี้ เพราะเพิ่งผ่านมาครึ่งเดือน พ.ค. อีกครึ่งเดือนกว่าจะถึงวันที่ 31 พ.ค. ยังตอบอะไรไม่ได้ในตอนนี้ แต่เรื่องการประกาศเคอร์ฟิวต้องใช้ควบคู่กับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่หลายอย่างสามารถใช้พ.ร.บ.โรคติดต่อได้ แต่ก็มีจุดอ่อน เพราะ พ.ร.บ.โรคติดต่อไม่ได้ให้อำนาจอะไรกับรัฐบาล นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี เป็นการให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด หาก 77 จังหวัด รวมทั้ง กทม.ใช้มาตรการคนละมาตรฐานกันจะลำบาก ขณะเดียวกัน ผู้ว่าฯเองก็ไม่มีความมั่นใจที่จะสั่งปิดหรือเปิด เช่น ถ้าไปสั่งปิดอะไรแล้วเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจต่อประเทศ ทำให้มีคนตกงานและคนเหล่านี้วิ่งมาขอความช่วยเหลือรัฐบาลกลาง เพราะจังหวัดเยียวยาไม่ได้ ตรงนี้ทำให้ผู้ว่าฯไม่มีความมั่นใจในการใช้อำนาจ กลัวว่าทำไปแล้วจะกระทบ จะแย่หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า วันนี้รัฐบาลกลางมีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สามารถสั่งการได้ทีเดียวทั่วประเทศ เมื่อรัฐบาลกลางสั่งปิดอะไรก็ต้องมั่นใจว่าเกิดอะไรขึ้นจะต้องลงไปเยียวยา เพราะหากผู้ว่าฯใดสั่งปิดกิจการและทำให้ได้รับผลกระทบต่อประชาชนจะให้กระทรวงการคลังมาเยียวยา กระทรวงการคลังก็คงไม่เยียวยาให้ ตรงนี้คือช่องว่างหากไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า การพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะนำเสนอข้อมูลต่อที่ประชุมใหญ่ ศบค.นั้น อาจจะมีการผ่อนคลาย 4 มาตรการ ที่ภาครัฐตั้งไว้ในระยะที่ 1 เมื่อถามว่าการผ่อนคลายกิจกรรมต่างๆ อาจมีเพิ่มนอกเหนือจากที่ ศบค.แถลงไปหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ เขาพิจารณาหมดทุกรายการแต่ตนไม่ทราบ ไม่อยากพูดให้ความหวัง ถ้าเขาไม่เปิดแล้วจะเสียคนทั้งตนและสื่อ แต่กิจการไหนที่เปิดไปแล้วพฤติกรรมเกิดความเสี่ยงอีก ก็สามารถปิดได้ทันที จะปิดเฉพาะร้าน เฉพาะราย หรือทั้งประเภทเลยก็ได้ แต่กิจการโรงแรมภาครัฐไม่เคยสั่งปิดเพียงแต่ไม่มีคนมาพักก็ต้องปิดอัตโนมัติ ตอนนี้โรงแรมสามารถเปิดกิจการของตัวเองได้และยังให้เปิดร้านอาหารในโรงแรมได้ด้วย เช่นเดียวกับรีสอร์ต