รองนายกฯ เผย ก.พ.รายงานผล ขรก.ทำงานที่บ้าน งานดีกว่าอยู่ออฟฟิศ “ประยุทธ์” สั่งดำเนินการต่อ ควบคู่ เดินทางเหลื่อมเวลา กระตุ้นเอกชนทำตาม จ่อเพิ่มเป็นเงื่อนไขปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ
วันนี้ (12 พ.ค.) เมื่อเวลา 13.40 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการรวบรวมข้อมูลการทำงานเหลื่อมเวลาในส่วนของภาครัฐ เพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้รายงานว่า ในส่วนหน่วยงานราชการได้ทำเรื่องเหลื่อมเวลาเป็นส่วนใหญ่ ในเวลา 08.00 น.เช้า และ 07.00 น.เช้า ซึ่งนายกฯ สั่งการเพิ่มเติมให้เหลื่อมมากกว่านี้ จะเลิกค่ำอะไรก็ได้ เพื่อลดความแออัดในการเดินทาง ส่วนจะเป็นกี่ชั่วโมงนั้นให้หน่วยงานนั้นๆ เป็นผู้พิจารณา ขณะที่มาตรการเวิร์กฟอร์มโฮมนั้นปฏิบัติกันแล้วเป็นส่วนใหญ่ เพราะงานที่เป็นเอกสาร สามารถทำงานที่บ้านได้ แต่งานด้านบริการประชาชนตามสำนักงานเขตไม่สามารถทำที่บ้านได้
ขณะที่ในส่วนของรัฐวิสาหกิจนั้นมีทั้งสิ้น 56 แห่ง เขาทำเรื่องเหลื่อมเวลากัน 7 เวลา ตั้งแต่ 07.00-10.00 น. โดยเหลื่อมกันช่วงละครึ่งชั่วโมง คนที่เข้า10.00 น.จะไปเลิก18.00 น. อีกทั้งมีรายงานว่าหน่วยงานที่เวิร์กฟอร์มโฮมเกิน 80 เปอร์เซ็นต์นั้นมีจำนวนไม่น้อย เช่น ปตท., การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, การกีฬาแห่งประเทศไทย แต่กลุ่มที่ปฏิบัติได้ไม่มากจะเป็นกลุ่มธนาคารที่ต้องให้บริการประชาชน
“นายกฯ บอกว่ามาตรการดังกล่าวให้ดำเนินต่อไป และให้ไปดูปัจจัยอื่นประกอบด้วย เช่น ประสิทธิภาพการทำงานว่าดีหรือไม่ เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการายงานเข้ามาว่าการทำงานที่บ้านได้ผลดี งานออกมาเร็ว คล้ายกับว่านั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศแล้วสมาธิไม่ดี แต่ถ้าทำงานที่เขาทำงานกันเสร็จเร็ว อีกทั้งให้ผู้บังคับบัญชากวดขันอย่าลักไก่หายไปเลย ให้สามารถติดต่อได้เสมอ และนายกฯ ให้ใช้แนวนี้ต่อไป” นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่า หากแนวทาวการทำงานที่บ้าน มีประสิทธิภาพกว่าทำที่ออฟฟิศจะพิจารณาให้ปฏิบัติต่อไปหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ให้ใช้แนวทางนี้ต่อไป สำหรับแนวทางนิวนอร์มอล หรือชีวิตวิถีใหม่ เพราะเวิร์กฟรอมโฮมเราบอกกันมาเป็นปีแล้วแต่ไม่มีแรงจูงใจ แต่ตอนนี้มีปัจจัยแล้วเพราะบางคนมีเวลาไปส่งลูกโรงเรียน ไม่ต้องแออัดบนรถไฟฟ้า และมาตรการเว้นระยะห่าง เป็นตัวช่วยให้กดดันให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว ขณะที่ภาคเอกชนที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการแล้วเราจะเริ่มรณรงค์ผ่านหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงการคลัง หากกิจการใดต้องการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ควรรับเงื่อนไขนี้ไปด้วย
ส่วนการพิจารณาผ่อนปรนมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 จะขยายไปกิจกรรมใดบ้างนั้น เรื่องดังกล่าวมีคณะกรรมการชุดหนึ่งที่จะพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธาน และมีภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ตนไม่ได้เป็นกรรมการในชุดดังกล่าว เพียงแต่เมื่อจะผ่อนปรนอะไร เขาจะส่งมาให้ตนเป็นผู้เขียนคำสั่งซึ่งตอนนี้ยังไม่มีส่งอะไรเข้ามา ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรตนยังไม่ทราบ