ปิดฉาก บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย หลังต้องโอนกิจการ ทรัพย์สิน และภาระผูกพันให้กับธอส. พร้อมหนุนให้ธนาคาร ออกตราสารหนี้ ส่งเสริมปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยระยะยาวให้กับประชาชนได้
เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ พระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัท ตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2563 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยหลักการของพระราชบัญญัติดังกล่าวคือ ให้ยุบเลิก บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) และโอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน ทุน และภาระผูกพันของ บตท. ให้แก่ธนาคารอาคาร สงเคราะห์ (ธอส.) เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการธุรกรรมที่เหลืออยู่ของ บตท. ต่อไป และยังกำหนดให้ บตท. ยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็น เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว หรือดำเนินการอื่นใดที่ค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ แต่ไม่เกิน 270 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ และพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังมีสาระสำคัญส่วนอื่น อาทิ กำหนดให้พนักงาน บตท. ที่ประสงค์ไปปฏิบัติงานกับ ธอส. ต้องแสดงความจำนงเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาภายใน 60 วัน นับแต่พระราชบัญญัตินี้บังคับใช้ และให้ ธอส. รับโอนพนักงาน บตท.ไปดำรงตำแหน่งที่เหมาะสมกับความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ของแต่ละคนต่อไป ส่วนพนักงาน บตท. ที่ไม่แสดงความจำนงไปปฏิบัติงานกับ ธอส. ให้ถือว่าเป็นการออกจากงานเพราะเลิกจ้างโดยไม่ใช่ความผิดของพนักงาน นั้น
นายกมลภพ วีระพละ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานการเงินและบัญชี ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการควบรวมกิจการของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยเข้ากับธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า การยุบเลิก บตท. และให้ ธอส. บริหารจัดการธุรกรรมที่เหลืออยู่ของ บตท. ต่อไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นตามนโยบายของกระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกดังกล่าวแก่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพในการดำเนินกิจการให้กับ ธอส. มากยิ่งขึ้น เพราะ ธอส. และ บตท. ต่างดำเนินธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานมาร่วมกันสนับสนุนพันธกิจของ ธอส. “ทำให้คนไทยมีบ้าน” ด้วยการนำความเชี่ยวชาญของ บตท. ในด้านการออกตราสารทางการเงินที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลังมาออกเป็นหุ้นกู้ หรือ Mortgage-Backed Securities : MBS มาเป็นส่วนหนึ่งในการปรับให้อายุของหนี้สินและสินทรัพย์ (Maturity Mismatch) ให้มีความสัมพันธ์กันได้ยิ่งขึ้น นำไปสู่การปล่อยสินเชื่อในระยะยาวให้กับประชาชน สามารถสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจโดยรวมและประเทศชาติ
ในปัจจุบัน ซึ่ง ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 ธอส.มียอดสินเชื่อคงค้างรวม 1,256,305 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 1,300,881 ล้านบาท และอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ยังอยู่ที่ระดับแข็งแกร่งโดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 อยู่ที่ 15.26% ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้เชื่อว่าการควบรวมกิจการกับ บตท.ในครั้งนี้ แม้อาจทำให้ธนาคารมีต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นด้วยจำนวนบุคลากรที่เพิ่มขึ้นจำนวนประมาณ 90 อัตรา และการตั้งสำรองจากกรณีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2,600 ล้านบาท จากพอร์ตสินเชื่อรวมกว่า 14,000 ล้านบาท แต่ในขณะเดียวกันกิจการหรือธุรกรรมต่าง ๆ ของ บตท. จะมีส่วนช่วยให้ ธอส. มีรายได้ จากการดำเนินธุรกิจ ฐานลูกค้า และสินทรัพย์รวมที่เพิ่มมากขึ้นได้เช่นกัน
นายกรพล ชินพัฒน์ รักษาการผู้จัดการบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) กล่าวว่า บตท. มีหน้าที่หลักในการเข้าไปช่วยสนับสนุนสภาพคล่องและลดภาระในการดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ด้วยการรับซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินเพื่อนำมาเข้าสู่กระบวนการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) โดยการออก MBS ซึ่งเป็นการ ช่วยพัฒนาตลาดตราสารหนี้ และตลาดทุน รวมถึงเป็นการสนับสนุนการพัฒนาภาคอสังหาริมทรัพย์ ในทางอ้อม โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 บตท. มีสินทรัพย์รวม 15,339 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 16% และมีตราสารหนี้โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์คงค้างที่เป็น หุ้นกู้มีหลักประกันจำนวน 9,455.33 ล้านบาท โดยเชื่อว่าการที่ บตท. เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ ธอส. ในครั้งนี้ จะเกิดประโยชน์ต่อลูกค้า ประชาชน ภาคอสังหาริมทรัพย์ เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และจะไม่เกิดผลกระทบใด ๆ กับลูกค้าสินเชื่อบ้าน นักลงทุน และ คู่ค้า ของ บตท. เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวเป็นการ โอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน ทุน ภาระผูกพัน และบุคลากรของ บตท. ไปยัง ธอส.