xs
xsm
sm
md
lg

โกลบอล เพาเวอร์ฯ เผยกำไร Q2/63 พุ่ง 75% รับต้นทุนเชื้อเพลิงลด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



GPSC เผยกำไร Q2/63 พุ่ง 75% รับต้นทุนเชื้อเพลิงลด แม้ลูกค้ายานยนต์หดจากพิษโควิด คาดในปี 63 จะสามารถรับรู้มูลค่า Synergy จากการควบรวมกิจการกับ GLOW ประมาณ 400-500 ล้านบาท

บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่า ไตรมาส 2/63 มีกำไร 1,896 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 75% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 20% จากไตรมาส 1/63 แม้รายได้จากการดำเนินงาน 18,138 ล้านบาท ลดลง 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 1% จากไตรมาสก่อน

กำไรที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากกำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) เพิ่มขึ้น 278 ล้านบาท เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินปรับลดลง รวมถึงลูกค้าอุตสาหกรรมของศูนย์ผลิตสาธารณูปการระยองมีปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำมากขึ้น ถึงแม้ว่าลูกค้าอุตสาหกรรมของโรงไฟฟ้า SPP ของ บมจ.โกลว์พลังงาน (GLOW) มีความต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำลดลงก็ตาม

ขณะที่กำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และอื่นๆ เพิ่มขึ้น 115 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการเข้าซื้อกิจการบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด (GRP) เมื่อเดือน 26 มี.ค.63

ส่วนกำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้าผู้ผลิตอิสระ (IPP) ลดลง 677 ล้านบาท จากโรงไฟฟ้าเก็คโค่วันมีรายได้ค่าความพร้อมจ่ายลดลง ตามโครงสร้างรายได้ของสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกำไรขั้นต้นโรงไฟฟ้าห้วยเหาะลดลง เป็นผลจากปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 62 ขณะที่กำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้าศรีราชาเพิ่มขึ้นตามรายได้ค่าความพร้อมจ่ายส่วนที่อิงกับดอลลาร์จากการอ่อนค่าของค่าเงินบาท

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/63 ได้แก่ ราคาถ่านหินที่ปรับตัวลดลงและราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ต้นทุนขายลดลง และผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อเนื่องจากช่วงต้นปี

ทั้งนี้ บริษัทได้มีการสำรวจและติดตามแผนการดำเนินงานของลูกค้าอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด และพบว่าลูกค้าอุตสาหกรรมในกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเป็นลูกค้าหลัก ยังคงมีความต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่ลูกค้าอุตสาหกรรมกลุ่มธุรกิจยานยนต์มีความต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำลดลง แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินการของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากรายได้จากลูกค้ากลุ่มยานยนต์ คิดเป็นประมาณ 2% ของรายได้จากลูกค้าอุตสาหกรรมทั้งหมด

ในไตรมาส 2/63 บริษัทยังมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้าเพิ่มขึ้น 3 ล้านบาท เนื่องจากบริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด (BIC) และบริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด (NNEG) มีรายได้จากการขายไฟฟ้าและไอน้ำเพิ่มขึ้น เพราะในช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อนทั้ง 2 บริษัทได้มีการหยุดซ่อมบำรุง

บริษัทคาดว่าในปี 63 จะสามารถรับรู้มูลค่า Synergy จากการควบรวมกิจการกับ GLOW ประมาณ 400-500 ล้านบาท มาจากการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าและโครงข่ายร่วมกัน การบริหารจัดการสัญญาซ่อมบำรุงระยะยาวให้เกิดประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน นอกจากนั้นยังเพิ่มประสิทธิภาพส่วนงานจัดซื้อจัดจ้าง โดยบริหารต้นทุนและลดต้นทุนสินค้าคงคลัง ตลอดจนการจัดซื้อร่วมกันให้เกิดส่วนลดเพิ่มขึ้น (Economy of scale) รวมถึงการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงิน การประกันภัย การบริหารเงินทุนหมุนเวียน และการควบคุมค่าใช้จ่ายในการบริหารงานองค์กร

ทั้งนี้ ทางบริษัทได้มีการประเมินมูลค่า Synergy เบื้องต้นที่จะเกิดขึ้นในช่วงปี 62-67 โดยคาดว่าจะค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจนสามารถรับรู้มูลค่าที่ประมาณ 1,600 ล้านบาทในปี 67

โดยในครึ่งแรกของปี 2563 บริษัทได้รับรู้มูลค่า Synergy จากการดำเนินการข้างต้น ประมาณ 292 ล้านบาท และมีการดำเนินการโครงการแล้วเสร็จ เช่น การเชื่อมโยงโครงข่ายไอน้ำร่วมกันระหว่างโรงไฟฟ้า SPP ของ GLOW และศูนย์ผลิตสาธารณูปการระยอง แห่งที่ 3 และสามารถรองรับส่งไอน้ำระหว่างกันได้ประมาณ 10-30 ตัน/ชั่วโมง ทำให้สามารถบริหารจัดการระบบผลิตไอน้ำได้ยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น