ธอส.แจงผลงานช่วยเหลือลูกหนี้เหยื่อโควิด-19 กับ 10 มาตรการที่ออกมา ครอบคลุมถึง 511,110 บัญชี วงเงินสินเชื่อ 430,439 ล้านบาท เผยกลุ่มหนี้ NPL วงเงิน 9,000 ล้านบาท ยังอยู่ในกลุ่มเรียกคืนได้ 4,000 ล้านบาท ที่เหลือต้องเร่งดำเนินการต่อไป
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการบรรเทาผลกระทบให้แก่ลูกค้าของธนาคาร จากปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า หลังจากที่ ธอส. ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าครอบคลุมทั้งการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย พักชำระเงินต้น หรือลดอัตราดอกเบี้ย ผ่าน 10 มาตรการของธนาคาร โดยมีลูกค้าเข้ามาตรการเป็นจำนวนทั้งสิ้น 511,110 บัญชี วงเงินสินเชื่อ 430,439 ล้านบาท แบ่งเป็นลูกค้ากลุ่มที่เข้ามาตรการที่ 5 พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 4 เดือน จำนวน 236,531บัญชี วงเงินสินเชื่อ 179,843 ล้านบาท ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้ได้ทยอยครบกำหนดระยะเวลาการใช้มาตรการที่ 5 แล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และสิงหาคม 2563 โดยสามารถกลับมาผ่อนชำระได้ตามปกติจำนวน 91,796 บัญชี เงินต้นประมาณ 65,000 ล้านบาท
ขณะที่ลูกค้าในมาตรการที่ 5 ที่ยังคงได้รับผลกระทบธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมในระยะที่ 2 ผ่านมาตรการที่ 8.5 พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยถึง 31 ตุลาคม 2563 โดยล่าสุด ณ วันที่ 22 กันยายน 2563 มีลูกค้าอยู่ในมาตรการที่ 8.5 จำนวน 39,546 บัญชี วงเงินต้นสินเชื่อประมาณ 27,000 ล้านบาท ส่วนลูกค้าที่เคยเข้ามาตรการที่ 5 แล้วไม่สามารถกลับมาชำระได้ตามปกติและกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มีจำนวนประมาณ 9,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8.5% ของลูกค้าที่เข้ามาตรการ 5 ทั้งหมด ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าอาจจะมี NPL สูงสุดอยู่ที่ประมาณ 25% ของลูกค้าที่เข้ามาตรการ 5
“สำหรับกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารอยู่ระหว่างการติดต่อเพื่อประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด คือ กลุ่มที่เข้ามาตรการที่ 8 พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน จำนวน 233,931 ราย วงเงินสินเชื่อ 209,863 ล้านบาท และมาตรการที่ 8.5 เนื่องจากเป็นมาตรการที่พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่มีความเปราะบางด้านรายได้ ธนาคารอยู่ระหว่างติดตามลูกค้าในกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งจะครบกำหนดการใช้มาตรการในเดือนตุลาคม 2563 อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าปัจจุบัน ธอส. ฐานะการดำเนินงานและเงินกองทุนของธนาคารยังมีความแข็งแกร่งโดยปัจจุบัน ธอส. ได้ตั้งสำรองส่วนเกินเพิ่มขึ้น จำนวน 3,500 ล้านบาท เพื่อรองรับผลกระทบจากปัญหาของโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต”
และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนและสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างรวมถึงปัญหาด้านรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 ได้มีมติขยายระยะเวลาความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ภายใต้ มาตรการช่วยเหลือลูกค้าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และ “โครงการ ธอส. ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ” ระยะที่ 2 เฉพาะลูกค้าเดิมที่อยู่ระหว่างการได้รับความช่วยเหลือและยังคงได้รับผลกระทบ ซึ่งมีมาตรการที่ธนาคารจะเปิดให้ลูกค้าเลือกแจ้งความประสงค์เพื่อขยายระยะเวลาความช่วยเหลือจากเดิมที่จะสิ้นสุดการช่วยเหลือในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 จะขยายระยะเวลาไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 จำนวน 3 มาตรการ ประกอบด้วย
มาตรการที่ 1 พักชำระเงินต้น 3 เดือน จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท และเป็นผู้ที่ยังอยู่ระหว่างใช้มาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด มาตรการที่ 1 และ 2 รวมถึงโครงการ ธอส. ช่วยคนไทยร่วมสร้างชาติ มาตรการที่ 1, 3 และ 8
มาตรการที่ 3 พักชำระเงินต้น 6 เดือน จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน โดยลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ 3.9% ต่อปี สำหรับลูกค้าที่มีสถานะบัญชีปกติ และเป็นผู้ที่ยังอยู่ระหว่างใช้มาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด มาตรการที่ 1 และ 2
มาตรการที่ 8 พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน สำหรับผู้ที่ยังอยู่ระหว่างใช้มาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด มาตรการที่ 1 และ 2 รวมถึงโครงการ ธอส. ช่วยคนไทยร่วมสร้างชาติ มาตรการที่ 8
ทั้งนี้ ลูกค้าเดิมที่อยู่ระหว่างการได้รับความช่วยเหลือในมาตรการที่ธนาคารกำหนด สามารถแจ้งความประสงค์ขอเลือกใช้มาตรการขยายระยะเวลาความช่วยเหลือได้ผ่านทาง Application : GHB ALL ระหว่างวันที่ 1-29 ตุลาคม 2563 พร้อมแสดงหลักฐานเพื่อยืนยันว่ายังมีผลกระทบทางรายได้จริงให้ธนาคารพิจารณา เช่น สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด ภาพถ่าย และ Statement เป็นต้น
นายฉัตรชัย กล่าวกรณีแนวคิดที่ ธอส.จะจัดทำผลิตภัณฑ์สินเชื่อ Two-GEN หรือผลิตภัณฑ์ที่เปิดโอกาสให้เลือกผ่อนชำระได้ 2 generation หรือยาวนานสูงสุดถึง 70 ปีว่า วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยแนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นจากคณะกรรมการธนาคารได้มีนโยบายให้ ธอส. คิดรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่มีเป้าหมายหลักคือการช่วยเหลือให้ลูกค้าประชาชนสามารถมีบ้านเป็นของตนเองได้ง่ายขึ้น ซึ่งการเปิดโอกาสให้ผู้กู้สามารถเลือกระยะเวลาการผ่อนชำระได้นานขึ้นถือเป็นแนวทางหนึ่งที่จะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ โดยพิจารณาวงเงินให้กู้จากรายได้ของบิดา-มารดา ส่วนระยะเวลาการผ่อนชำระสามารถเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่สูงสุดไม่เกิน 40 ปี ขยายเป็น 70 ปี ด้วยการนำอายุของบุตรที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปมาเป็นผู้กู้ร่วม
“แนวคิดนี้จะทำให้จำนวนเงินงวดที่ลูกค้าผ่อนชำระรายเดือนลดลง จึงทำให้กรณีที่มีรายได้สุทธิจำนวนเท่าเดิมแต่เมื่อผ่อนชำระได้นานขึ้น ก็จะมีโอกาสได้รับวงเงินสินเชื่อมากขึ้นเช่นกัน เช่น กรณีวงเงินกู้ 1 ล้านบาท หากผ่อนชำระ 40 ปี เงินงวดจะอยู่ที่ประมาณ 5,000 บาท/เดือน แต่หากผ่อนได้นานสูงสุดถึง 70 ปี จำนวนเงินผ่อนชำระจะอยู่ที่ประมาณ 2,500-3,000 บาท/เดือนเท่านั้น และเมื่อลูกค้าได้มีบ้านเป็นของตนเองและครอบครัวแล้ว ในอนาคตหากผู้กู้มีรายได้เพิ่มขึ้น หรือบุตรที่เป็นผู้กู้ร่วมมีรายได้เข้ามาเพิ่มเติมจากการประกอบอาชีพก็สามารถผ่อนชำระได้สูงกว่าจำนวนเงินงวดที่ธนาคารกำหนดได้ ซึ่งจะทำให้สามารถปิดบัญชีเงินกู้ได้หมดก่อนระยะเวลา 70 ปีอย่างแน่นอน”
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ธอส. ยังอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมของผลิตภัณฑ์สินเชื่อ Two-GEN เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการธนาคาร รวมถึงกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาความเหมาะสม พร้อมยืนยันว่าแนวคิดดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้าประชาชนมีบ้านเป็นของตนเองได้มากขึ้น โดยลูกค้ายังคงสามารถเลือกจำนวนปีที่ต้องการผ่อนชำระ เช่น 15 ปี 20 ปี 30 ปี หรือ 40 ปี เพื่อให้สอดคล้องต่อรายได้สุทธิของผู้กู้ หรือราคาที่อยู่อาศัย และวงเงินกู้ที่ต้องการได้ตามปกติ