xs
xsm
sm
md
lg

รายย่อยหวังกู้ออมสินโปะหนี้เก่า-สุดท้ายเต็ม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ลูกค้าแห่กู้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของออมสินจนต้องปิดรับ สะท้อนแหล่งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับรายย่อยมีน้อยมาก แบงก์ชาติเผยหนี้รายย่อยต่อราย 2.8 แสนบาท นักการเงินชี้ไม่แปลกใจสินเชื่อเสริมพลังฐานรากลูกค้าล้นดอก 0.35% ต่อเดือน ผ่อนยาว 3 ปี ผ่อนต่อเดือนแค่ 1,600 บาท เหมาะมากกับกู้ไปเคลียร์หนี้เก่าหรือกู้ไปแก้ปัญหาชีวิตสำหรับวงเงินไม่เยอะ

นับเป็นความพยายามในการเข้ามาช่วยแก้ปัญหาลูกหนี้ประเภทต่างๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตจากโควิด-19 นี้ไปให้ได้ ด้วยมาตรการที่ออกมาช่วยเหลือเพื่อให้ครอบคลุมลูกหนี้หลากหลายกลุ่ม และไม่ได้หมายถึงการออกมาตรการครั้งเดียวแล้วจบ แต่แบงก์ชาติยังออกมาตรการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มทางออกในกรณีที่มาตรการเดิมอาจไม่ตรงกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุด ณ 31 กรกฎาคม 2563 มีลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินทั้งสิ้น 7.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 12.5 ล้านบัญชี

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธปท. เปิดเผยว่า การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้ธุรกิจนั้น ครอบคลุมทั้งการเลื่อนพักชำระหนี้ การลดภาระผ่อนชำระต่อเดือนด้วยการขยายระยะเวลาชำระหนี้ตามสัญญา การลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ตามสัญญาใหม่

ธปท. ได้ขอให้สถาบันการเงินประเมินสถานการณ์ของลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้ธุรกิจที่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบต่างๆ คาดว่าจะมีลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือในสัดส่วนสูงที่ไม่จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือต่อไปเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่ได้รับความช่วยเหลือ โดยลูกหนี้ในส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ หรือผ่อนปรนการชำระหนี้ต่อไปหลังจากมาตรการช่วยเหลือที่เคยได้รับสิ้นสุดลง เพื่อรอให้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงและเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น

สำหรับลูกหนี้รายย่อย ธปท.ร่วมกับสถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อยด้วยวิธีการรวมหนี้ (debt consolidation) โดยนำสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นที่อยู่ภายใต้ผู้ให้บริการทางการเงินเดียวกันมาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยวิธีการรวมหนี้กับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพื่อใช้ประโยชน์จากหลักประกัน เพื่อให้ลูกหนี้สามารถผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยต่อไปได้ตามความสามารถของแต่ละราย


หนี้เฉลี่ย 2.8 แสนบาท/ราย 
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินกล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากตัวเลขลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากผลกระทบโควิด-19 ของธนาคารแห่งประเทศไทย สิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 พบว่า มีสินเชื่อรายย่อยที่ขอรับความช่วยเหลือ 5.7 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 1.6 ล้านล้านบาท เฉลี่ยบัญชีละ 2.8 แสนบาทต่อราย นับว่าเป็นยอดหนี้ที่ค่อนข้างสูง

สถานการณ์โควิด-19 ยิ่งทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ภาคบุคคลลดลงจากเดิม หากไม่มีมาตรการออกมาให้ความช่วยเหลือ สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจอาจจะแย่กว่านี้ อีกทั้งยังเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยประคองให้สถาบันการเงินผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ เพียงแต่อาจต้องยอมลดรายได้จากดอกเบี้ยลงบ้าง 

“เสริมพลังฐานราก” เต็มแล้ว

อีกหนึ่งแนวทางในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาด้านการเงินจากสถานการณ์โควิด-19 นั่นคือ การเปิดให้มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับรายย่อย เพื่อนำไปใช้ในการแก้ปัญหาชีวิต ที่ผ่านมา มีเพียงธนาคารออมสินที่ปล่อยสินเชื่อลักษณะนี้ออกมาตอบสนองนโยบายของรัฐบาล

ตามที่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบปรับปรุงการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (โควิด-19) วงเงิน 20,000 ล้านบาท ที่ธนาคารออมสินได้ดำเนินการปล่อยกู้ไปเมื่อเดือนเมษายน 2563 ซึ่งธนาคารอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 1,012 ล้านบาท และยังมีวงเงินสินเชื่อคงเหลืออยู่อีก จำนวน 18,988 ล้านบาท

จึงให้ปรับปรุงแนวทางช่วยเหลือแก่ประชาชนให้เป็นไปอย่างทั่วถึงและครอบคลุมประชาชนผู้ประกอบอาชีพทุกกลุ่ม เห็นควรปรับปรุงการดำเนินโครงการด้วยการจัดสรรวงเงิน 10,000 ล้านบาท จากวงเงินเดิมที่เหลืออยู่ นำมาปล่อยกู้ผ่าน “สินเชื่อเสริมพลังฐานราก” ภายใต้เงื่อนไขที่ผ่อนปรน โดยผู้สนใจสามารถลงทะเบียนยื่นขอสินเชื่อได้ที่เว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563

สำหรับสินเชื่อประเภทนี้ต้องการช่วยเหลือบุคคลที่มีอาชีพค้าขาย ประกอบอาชีพอิสระ และผู้มีรายได้ประจำ รวมถึงบุคคลในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ลดลงหรือขาดรายได้ ด้วยเป็นสินเชื่อเพื่อการดำรงชีพ เพื่อการลงทุน/หมุนเวียนในกิจการ ให้วงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน (Flat Rate) ระยะเวลาผ่อนชำระเงินกู้ไม่เกิน 3 ปี ที่สำคัญไม่ต้องใช้หลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกันเงินกู้ อีกทั้งยังปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย หรือไม่ต้องชำระเงินงวดใน 6 เดือนแรกอีกด้วย


กู้ 5 หมื่น-ผ่อน 1,600/เดือน

นักการเงินรายหนึ่งให้คำแนะนำว่า เมื่อลองสำรวจการให้สินเชื่อเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตจากโควิด-19 สำหรับประชาชนรายย่อย ขณะนี้พบว่ามีเพียง “สินเชื่อเสริมพลังฐานราก” ของธนาคารออมสินเท่านั้นที่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าดอกเบี้ยในตลาดมาก เดิมมีทั้งโปรโมชันรับรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิตดอกเบี้ย 8.5-10.5% วงเงินสูงสุด 1 แสนบาทต่อราย ผ่อนได้นานถึง 4 ปี

จากนั้นได้มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่ 0.35% ต่อเดือน ผ่อน 3 ปี วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อราย แต่รอบนั้นต้องมีคนค้ำประกัน และล่าสุดสินเชื่อเสริมพลังฐานราก เงื่อนไขเดียวกันกับรอบแรก เพียงแต่รอบนี้ไม่ต้องมีบุคคลค้ำประกัน

จากการสอบถามไปยังสาขาของธนาคารออมสินก่อนที่จะมีการปิดรับลงทะเบียนขอสินเชื่อ มีรายละเอียดดังนี้ วงเงินในการปล่อยสินเชื่อต่อรายนั้น แยกเป็นผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำจะได้รับวงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 3 หมื่นบาท ส่วนผู้ที่มีรายได้ประจำวงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 5 หมื่นบาท โดยการอนุมัติเงินกู้จะมีการตรวจสอบจากเครดิตบูโรก่อน และผู้ขอกู้สามารถกำหนดจำนวนเงินผ่อนชำระต่อเดือนเองได้ แต่จะต้องมีการเจรจาร่วมกับทางธนาคารอีกที

ในกรณีที่ได้รับวงเงินกู้เต็มจำนวนที่ 5 หมื่นบาท ที่อัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือนหรือ 4.2% ต่อปี และเลือกผ่อนชำระ 3 ปีนั้น จำนวนเงินที่ต้องส่งต่องวดจะอยู่ที่ราว 1,600 บาท

กู้โปะหนี้สุดคุ้ม

เงื่อนไขของสินเชื่อเสริมพลังฐานรากค่อนข้างเปิดกว้างกว่าเดิม กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อการดำรงชีพ เพื่อการลงทุนหรือหมุนเวียนในกิจการ ที่สำคัญคือไม่ต้องมีคนค้ำประกัน เมื่อเราเปรียบเทียบกับแนวทางความช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทยในภาระหนี้บัตรเครดิตในการปรับโครงสร้างหนี้ จะเสียดอกเบี้ย 12% ระยะเวลาผ่อนชำระ 48 เดือน ส่วนสินเชื่อบุคคล ดอกเบี้ยที่ 22% สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ลดค่างวด 30% ดอกเบี้ยไม่เกิน 22%

เชื่อว่ามีผู้ขอสินเชื่อจำนวนไม่น้อยที่เปรียบเทียบกับเงื่อนไขเหล่านี้ โดยตัดสินใจขอกู้จากธนาคารออมสินเพื่อนำไปเคลียร์หนี้ก้อนอื่น ซึ่งแนวทางนี้เหมาะกับผู้ที่มีหนี้ไม่สูงนัก หากมีหนี้สูงเกินกว่า 5 หมื่นบาท ก็อาจต้องใช้วิธีหาบุคคลอื่นมาช่วยกู้แทน

สูตรนี้ถือว่าคุ้มค่ากว่า เนื่องจากตัวอัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือนหรือปีละ 4.2% ต่ำกว่าแนวทางปรับโครงสร้างหนี้เกือบ 3 เท่าตัว เพียงแต่ระยะเวลาในการผ่อนชำระเหลือ 3 ปี หรือ 36 เดือนเท่านั้น ที่สำคัญคือหากได้รับการอนุมัติแล้วจะปลอดเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนแรก จากนั้นจึงเริ่มผ่อน 30 งวด

แต่น่าเสียดายที่ธนาคารออมสินปิดรับสินเชื่อเสริมพลังฐานรากชั่วคราว เนื่องจากมีผู้ขอสินเชื่อมากถึง 2.7 แสนรายจากการเปิดให้ลงทะเบียนเพียง 2 วัน คงต้องรอให้ธนาคารตรวจสอบคุณสมบัติผู้กู้ก่อน หากมีวงเงินเหลือจะเปิดให้ขอสินเชื่ออีกครั้ง

มีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารออมสินอาจเปิดให้กู้อีกครั้ง เนื่องจากวงเงินในการปล่อยสินเชื่อครั้งนี้ทางแบงก์ตัดมาเพียง 1 หมื่นล้านบาทเท่านั้นจากวงเงินเดิมที่มี 2 หมื่นล้านบาท ปล่อยกู้ชุดแรกไปเพียงพันกว่าล้านบาท นั่นหมายถึงยังมีวงเงินที่จะนำมาปล่อยกู้ได้อีกเกือบๆ 9 พันล้านบาท ซึ่งน่าจะช่วยคนที่เดือดร้อนได้อีกมาก

สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่ออกมาเพื่อช่วยรายย่อยนั้นถือว่ามีน้อยมาก เพราะมีแค่ธนาคารออมสินกับแบงก์ชาติเท่านั้นที่มี Soft loan ในมือ แบงก์อื่นๆ จึงไม่มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำออกมา ดังนั้น ทางเลือกของลูกหนี้ที่ประสบปัญหาคือเข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ถ้าเป็นบัตรเครดิตดอกเบี้ยไม่เกิน 12% ถ้าเป็นสินเชื่อบุคคลดอกเบี้ยไม่เกิน 22% หรืออีกทางเลือกคือเข้าคลินิกแก้หนี้ ดอกเบี้ย 4-7% แต่ต้องแลกกับการเสียประวัติทางด้านการเงิน แม้จะเป็นการให้ความช่วยเหลือลดภาระให้แก่ลูกหนี้ แต่ก็อาจไม่เพียงพอกับลูกหนี้บางรายที่ตกอยู่ในสถานะถูกเลิกจ้างงาน

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ยังพอมีช่องทางอื่นๆ ในการหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เช่น กู้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ หากเปรียบเทียบแล้วคุ้มค่าก็น่าจะลองใช้ช่องทางเหล่านี้ดู ซึ่งหลักการก็คือการเปลี่ยนเจ้าหนี้จากดอกเบี้ยสูงมาเป็นหนี้ที่ดอกเบี้ยต่ำกว่า แต่ต้องประเมินความสามารถในการผ่อนชำระของตนเองให้ดี ก่อนที่จะตัดสินใจทำธุรกรรม






กำลังโหลดความคิดเห็น