xs
xsm
sm
md
lg

หนี้ NPL ยังกดดันหุ้นแบงก์ จ่ายปันผลแค่หนุนรีบาวนด์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ภาพรวมแรงกดันยังมีมากกว่าแรงผลักดัน หลัง BBL จุดพุล "หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์" สร้างความกังวลให้นักลงทุน ฉุดราคาหุ้นอีกหลายธนาคารปรับตัวลง จากความกังวลต่อหนี้ NPL ที่อาจสูงขึ้นอีกในอนาคต ทำให้ถูกแนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุน ขณะที่ยังมีข่าวดีจากสินเชื่อออนไลน์ และโอกาสผ่าน Stress Test มาช่วยประคองตัว แถมอาจสร้างแรงรีบาวนด์จากโอกาสกลับมาจ่ายปันผล

จากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 มาจนถึงปัจจุบัน ได้สร้างความเสียหายให้แก่ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย และทำให้หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็นอีกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าว จนทำให้ราคาหุ้นในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในทิศทางขาลง

ล่าสุด สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ออกมาเปิดเผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 ข้างหน้า (เดือน พ.ย.2563) ว่า ดัชนีปรับตัวลดลง 21% มาอยู่ที่ระบบ 67.52 มาอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” จากความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับที่ซบเซามาก แต่ความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มที่เหลืออยู่ในเกณฑ์ทรงตัว

โดยหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม (FOOD) ส่วนหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดธนาคาร (BANK) ส่วนปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุดคือ การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ปัจจัยการเมืองในประเทศเป็นปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด

ขณะที่การเปิดประเทศยังไม่สามารถเริ่มได้ มองว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจเริ่มสูงขึ้น ประเทศไทยยังต้องคาดหวังการกลับมาของทั้งท่องเที่ยวและการส่งออก ซึ่งการส่งออกยังไม่ดีขึ้น โดย ณ สิ้นเดือน ส.ค. ค่าเงินบาทอยู่ที่ 32.19 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คาดหวังการเพิ่มเม็ดเงินลงทุนเข้ากระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้ค่าเงินอ่อนลงบ้าง คาดว่าส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกของไทยจะปรับดีขึ้น และเมื่อสามารถเปิดประเทศได้ นักท่องเที่ยวจะกลับมาบ้าง

นอกจากนี้ นักลงทุนยังหวังเม็ดเงินกระตุ้น 4 แสนล้านบาท ซึ่งผ่านการอนุมัติ ครม. ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท มองว่าตอนนี้ภาครัฐ คือกำลังสนับสนุนเดียวที่มีเงินมากที่สุด ส่วนงบประมาณที่เจรจากันอยู่ในสภาก็ยังไม่ผ่าน ล่าช้ากว่าแผนมาก ทำให้นักลงทุนเริ่มกังวลว่าสามารถดำเนินการได้ทันเวลาหรือไม่

"หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์" BBL สัญญาณสำคัญ

ขณะเดียวกัน เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้แก่องค์กร เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ได้ออกตราสารที่นับเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 หรือ (Additional Tier1) ในรูปแบบหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (Perpetual Bond) หรือ "หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์" มูลค่า 750 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5% โดย BBL ไม่สามารถไถ่ถอนตราสารดังกล่าวได้จนกว่าจะผ่านไป 5 ปี ซึ่งเป็นการออกภายใต้โครงการ Global medium term note โดยโครงการนี้มีวงเงินในการออกรวม 7 พันล้านดอลลาร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

และทันทีที่ BBL ปฏิบัติการดังกล่าว ได้ส่งผลต่อราคาหุ้นของธนาคารทันที ไม่เพียงเท่านั้นความกังวลที่เกิดขึ้นยังกดดันให้ราคาหุ้นธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ปรับตัวลดลงตามไปด้วยเช่นกัน แม้แผนออกหุ้นกู้ดังกล่าวโดยหลักไม่น่าจะเป็นผลจากเรื่องของหนี้เสีย (NPL) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่เป็นประเด็นของ BBL ที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนเงินทุนสำรอง Tier 1 จากก่อนหน้านี้สัดส่วน ของ BBL อยู่ที่ราว 16-17% ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ราว 14% และหากธนาคารต้องการให้ตัวเลขดังกล่าวกลับมาที่ระดับเดิม อาจจะต้องลดเงินปันผลลงมา

มีการประเมินว่า ด้วยมูลค่าหุ้นกู้ดังกล่าวที่ BBL เปิดขายน่าจะช่วยดึงสัดส่วนเงิน Tier 1 ให้เพิ่มขึ้นประมาณ 1% และเมื่อครบ 5 ปี คาดว่าบริษัทจะใช้สิทธิไถ่ถอน เนื่องจากต้นทุนที่ค่อนข้างสูง และในเวลานั้นก็คาดว่าระดับเงิน Tier 1 โดยไม่รวมส่วนของหุ้นกู้นี้น่าจะกลับไปสู่ระดับ 16% ได้ ขณะเดียวกัน คาดว่า BBL คงไม่อยากลดเงินปันผลลง เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วผู้ถือหุ้นของ BBL ต้องการถือเพื่อผลตอบแทนในจุดนี้มากกว่า

ส่วนต้นทุนการออกหุ้นกู้ที่ 5% ประเมินว่า เป็นระดับที่ไม่ได้สูงนัก หากพิจารณาเทียบกับ การออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ในประเทศไทยซึ่งน่าจะต้องให้ผลตอบแทนในระดับ 8-9% อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวมีผลต่อราคาหุ้นที่ลดลง 2-3% เพราะถือเป็นการใช้ตราสารผิดวัตถุประสงค์ เนื่องจากโดยปกติแล้วมักจะออกหุ้นกู้เพื่อสนับสนุนการเติบโต มากกว่าจะใช้เป็นเงินทุนสำรอง แต่สิ่งที่นักลงทุนต้องติดตาม คือ สถานการณ์หลังจากหมดมาตรการพักชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้ NPL ในระบบสูงขึ้น ในเบื้องต้น มองว่าแต่ละแบงก์อาจจะออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมเอง หากไม่ได้มีการยืดอายุมาตรการช่วยเหลือออกไป

ไม่เพียงเท่านี้ มีรายงานว่าคุณภาพยอดโอนที่ด้อยลงเป็นปัจจัยที่กดดันหุ้นกลุ่มธนาคารที่ผ่านมาปรับตัวลง แม้ราคาหุ้นในเชิงมูลค่าอยู่ในจุดที่ค่อนข้างถูก โดยราคาหุ้นปรับตัวลง 32-46% จากต้นปี 2563 สะท้อนตัวเลขกำไรสุทธิที่อ่อนแอและยอด NPL ที่เพิ่มสูงขึ้น แต่คาดว่ากำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารในช่วงครึ่งปีหลังจะหดตัวลง 42% จากปีก่อน และหดตัวลง 27% จากครึ่งปีแรก 2563 ซึ่งจะฉุดให้กำไรทั้งปีลดลง 34.5% จากปีก่อน ก่อนที่ปี 2564 คาดว่าจะฟื้นตัว 5%

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจนั่นคือ ความกังวลต่อปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ของธนาคารพาณิชย์ อาจถูกจุดชนวนขึ้นมาใหม่จนนำไปสู่การเทขายหุ้นกลุ่มธนาคารอีกระลอก จนอาจทำให้เกิดแรงเทขายในหุ้นกลุ่มธนาคาร เพื่อลดความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้น

ที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มธนาคารอยู่ในช่วงขาลงมาหลายปี จนหุ้นขนาดใหญ่ปัจจุบันเคลื่อนไหวต่ำกว่า 100 บาทต่อหุ้นกันหมด เนื่องจากผลประกอบการชะลอตัว และนักลงทุนยังกังวลต่อปัญหาหนี้เสีย ซึ่งอาจบั่นทอนความแข็งแกร่งของระบบธนาคาร จึงทยอยขายหุ้นลดน้ำหนักมาตลอด โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ

ขณะเดียวกัน ยังไม่พบแรงสนับสนุนหรือ มุมมองด้านบวกต่อการดำเนินธุรกิจของกลุ่มธนาคาร เห็นได้จากยังไม่มีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) แห่งใดออกมาแนะนำให้เข้าลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคาร เพราะมองว่าผลประกอบการคงจะไม่ฟื้นตัวในระยะสั้น และยังต้องประคับประคองฐานะการดำเนินงานต่อไปซึ่งหากเศรษฐกิจยังทรุด อาจทำให้ธนาคารมีแรงกดดันจากปัญหาหนี้เสียเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2563 พบว่าหุ้นกลุ่มธนาคารเจอแต่แรงกดดันจากข่าวร้ายๆ ไม่ว่าจะเป็นผลประกอบการครึ่งปีแรกที่ชะลอตัว การถูกธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศขอให้งดการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล ยังไม่นับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ซึ่งซ้ำเติมให้เศรษฐกิจฟุบหนักลงไปอีก นั่นเพราะทุกคนต่างรู้ดีว่า สถานการณ์ของสถาบันการเงินนั้นหนักไม่แพ้ธุรกิจอื่นๆ และแทบทุกธนาคารไม่มีโอกาสดำเนินนโยบายธุรกิจในเชิงรุก นอกจากตั้งรับ ประคับประคองผลดำเนินงานไม่ให้ทรุดฮวบ จนกระทบต่อฐานะทางการเงิน

เมื่อเร็วๆ นี้ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี ได้รายงานถึงมุมมองหุ้นกลุ่มสถาบันการเงินว่า จากการศึกษาของฝ่ายวิเคราะห์แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงของธนาคารในการเพิ่มทุนที่แตกต่างกันไปตามปัจจัยพื้นฐานของแต่ละธนาคาร อย่างไรก็ตาม หากประเมินอัตราส่วน NPL ของกลุ่มที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 11% โดยเฉลี่ย ณ สิ้นปี 2563 อาจส่งสัญญาณเตือนปัญหาทางการเงิน และมีความเสี่ยงให้ต้องเพิ่มทุนเพื่อรักษาเกณฑ์เงินกองทุนขั้นต่ำ จะเห็นได้ว่าความเสี่ยงยังคงเป็นประเด็น และยังไม่มีความชัดเจนว่า คนที่พักชำระหนี้ปัจจุบันเหล่านั้นจะคืนเงินกู้ได้มากน้อยเพียงใดหลังจากช่วงผ่อนผันการชำระเงินทะยอยสิ้นสุด จึงคงคำแนะนำให้นักลงทุนระมัดระวังการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคาร

ทั้งนี้ ข้อมูลจากงบการเงินไตรมาส 2/63 รายงาน 5 ธนาคารหลักในประเทศไทยมีเงินสำรองครอบคลุมเฉลี่ยหนี้เสีย 144% ซึ่งสะท้อนว่าการกันสำรองนั้นรองรับสัดส่วน NPL ได้ถึง 5.1% ของเงินกู้ทั้งหมด เทียบกับค่าเฉลี่ย NPL สำหรับ 6 ธนาคารหลัก 3.6% รวมถึงธนาคารได้รายงาน CAR เฉลี่ยและสัดส่วน tier 1 ที่ 18.1% และ15.3% เกินกว่าข้อจำกัดขั้นต่ำของ BOT ที่ 12% และ 9.5% สำหรับ D-SIBs ตามลำดับ ดังนั้น หากสัดส่วน NPL เพิ่มเร็วและมากกว่า 11% ในปีนี้ อาจกดดันให้กลุ่มธนาคารอาจต้องเพิ่มทุน

ในขณะที่ภาพมหภาคยังคงอ่อนแอ และมาตรการผ่อนคลายทางการเงินจะค่อยๆ หมดอายุไป หนี้เสียอาจเพิ่มขึ้นท่วมอุตสาหกรรมธนาคารตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2563 และต่อไปอีกใน 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งตลาดมีความกังวลว่าธนาคารมีสำรองหนี้เสียรวมถึงเงินกองทุนที่เพียงพอหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อ BBL เพิ่งประกาศออกตราสาร Global Medium Term Note Facility มูลค่ารวม US$750mn นั้นถือว่าได้กระตุ้นให้เกิดความสงสัยและกังวลมากขึ้น

โดยรวม บล.กรุงศรี พบว่า จากความเสี่ยงที่ต่างกันไปในแต่ละธนาคาร แต่อัตราส่วน NPL ของกลุ่มที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 11% ของธนาคารหลัก 5 แห่ง โดยเฉลี่ยในสิ้นปี 2563 อาจส่งสัญญาณเตือนปัญหาทางการเงิน และอาจกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มทุนเพื่อรักษาเกณฑ์เงินทุนจำเป็น ซึ่งประเมินว่าสินเชื่อที่เข้าร่วมพักชำระหนี้มูลค่าจำนวนมหาศาล จาก 6 ธนาคารใหญ่ จำเป็นที่จะต้องกลับมาจ่ายคืนเงินกู้ได้หลังจากช่วงเวลาผ่อนคลายจบลงไปเทียบเท่า หรือประมาณ 70% ของมูลค่าทั้งหมด

ขณะเดียวกัน เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างค่อนข้างช้า หลังเห็นเศรษฐกิจโลกยังคงอ่อนแอ และนักท่องเที่ยวยังไม่น่าจะสามารถกลับมาเที่ยวในประเทศไทยในระดับที่มีนัยทางเศรษฐกิจจนกว่าจะครึ่งหลังของปี 2564 รวมถึงยังไม่แน่ชัดว่าลูกหนี้ที่พักชำระหนี้เหล่านี้จะสามารถกลับมาคืนเงินกู้ได้มากเพียงใดหลังหมดจากช่วงเวลามาตรการ ซึ่งจะสร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อฐานะทางการเงินของกลุ่มธนาคาร และอาจมีความเสี่ยงให้ธนาคารต้องทำให้การเพิ่มทุน จึงแนะนำให้นักลงทุนระมัดระวังสำหรับกลุ่มนี้

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ (EIC) แบงก์ไทยพาณิชย์ (SCB) ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ยังคงมีแนวโน้มตั้งสำรองหนี้เสียเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่เหลือของปีนี้ แม้ว่าเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารพาณิชย์มีความแข็งแกร่งมากถึง 19% ซึ่งสามารถรับมือการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่เพิ่มขึ้นได้ก็ตาม แต่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังรีบลดความเสี่ยงโดยไม่รอดูตัวเลข NPL ว่าจะเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน

ส่วนมาตรการพักชำระหนี้ของลูกหนี้กลุ่มธนาคารที่ผ่านมาส่งผลให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องในการประคองธุรกิจมากขึ้น และหากหมดโครงการพักชำระหนี้ก็มีโอกาสให้ธุรกิจปิดตัวเพิ่มขึ้นด้วย อย่างช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค.2563 มีกิจการเปิดใหม่เพิ่มขึ้น 13% และในช่วงครึ่งเดือน มิ.ย.ถึงครึ่งแรกของเดือน ส.ค.2563 มีกิจการปิดตัวเพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าหลังจากนี้กิจการมีแนวโน้มปิดตัวเพิ่มขึ้นสูงอีก ซึ่งจะสะท้อนไปยังการว่างงานที่จะเพิ่มขึ้นตาม และโยงมาสู่ผลกระทบต่อกลุ่มธนาคารด้วย ดังนั้น การพักชำระหนี้ต่อจะช่วยให้กิจการปิดตัวน้อยลงได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธนาคารพาณิชย์มีการต่อมาตรการพักชำระหนี้เพื่อช่วยลูกหนี้ แต่อยากให้เป็นเฉพาะกลุ่มที่มีความสามารถในการดำเนินธุรกิจได้จริงเป็นหลัก เพราะหากพักชำระหนี้ในวงกว้างเหมือนที่ผ่านมา จะทำให้พฤติกรรมลูกหนี้เสียได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญมากกว่าการพักชำระหนี้ คือ การสร้างความรู้ใหม่ๆ ให้แก่ลูกค้าในกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าโครงการพักชำระหนี้ได้เป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า เพื่อให้สามารถปรับธุรกิจให้สอดคล้องต่อสถานการณ์

พบสัญญาณราคาหุ้นอาจรีบาวนด์

นักวิเคราะห์บางรายออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับราคาหุ้นของกลุ่มแบงก์ที่ต่ำลงในช่วงนี้ อาจเพราะกังวลเรื่อง NPL ของกลุ่มแบงก์ หลังเอกชนมีข้อเสนอขยายเวลาการพักชำระหนี้ที่จะครบกำหนดในเดือน ต.ค.นี้ออกไปอีก 2 ปี ซึ่งหากรัฐบาลให้ยืดระยะเวลาการพักชำระหนี้ออกไปอีก ก็จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของกลุ่มแบงก์ที่อาจจะต้องรับรู้รายได้ล่าช้าออกไป ซึ่งเดิมทีหลายสำนักมองว่าผลประกอบการของกลุ่มแบงก์น่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่พอมีเรื่องนี้ขึ้นมา จึงคล้ายเป็นข่าวร้ายระลอกใหม่ ที่จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของแบงก์ ขณะที่การตั้งสำรองนั้นในครึ่งปีหลังน่าจะตั้งสำรองน้อยกว่าครึ่งปีแรก ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงเป็นตัวกลางที่จะหาทางเช่นไร

อย่างไรก็ตาม ยังมีข่าวดีสำหรับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในช่วงนี้เช่นกัน เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกเกณฑ์การประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล โดยกำหนดวงเงินไม่เกินรายละ 2 หมื่นบาท และมีกำหนดระยะเวลาการชำระคืนสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลแต่ละสัญญาไม่เกิน 6 เดือน คิดดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียม ค่าปรับ ค่าบริการไม่เกิน 25% ต่อปี พร้อมเปิดทางธนาคารพาณิชย์นำข้อมูลการจ่าย "ค่าน้ำ-ไฟ-โทรศัพท์-ชอปออนไลน์" เป็นข้อมูลวิเคราะห์การปล่อยกู้ได้ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ง่ายขึ้นนั้น

นักวิเคราะห์หลายสำนักมองเป็นบวกกับเรื่องดังกล่าว จากการที่ ธปท.เปิดช่องให้ธนาคารพาณิชย์เข้ามาทำธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น แต่ทางกลุ่มไฟแนนซ์ก็จะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น ซึ่งกลุ่มธนาคารมีข้อได้เปรียบไฟแนนซ์ที่มีต้นทุนทางการเงินต่ำกว่า มีเครือข่ายสาขากว้างขวางทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

สำหรับธนาคารที่มีสินเชื่อรายย่อยสัดส่วนสูงสุด คือ บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) (79%) รองลงมาเป็นธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) (61%) ธนาคารทหารไทย (TMB) (56%) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) (48%) และธนาคารกรุงไทย(KTB) (44%) ซึ่งปัจจุบันทางฝ่ายวิจัยให้ TISCO เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากมีการดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง และมีฐานเงินกองทุนขั้นที่ 1 สูงที่สุดในกลุ่มที่ 17.2%

ส่วนผลการจัดทำประมาณการฐานะและการดำเนินงานภายใต้ภาวะวิกฤต (Stress Test) ของธนาคารพาณิชย์ที่จะเปิดเผยในช่วงเดือน ต.ค.นี้ นักวิเคราะห์เชื่อว่าคาดจะผ่านทั้งหมด หลังธนาคารพาณิชย์ไทยค่อยข้างมีระดับเงินทุนสำรองและเงินกองทุนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งคาดว่าหากธนาคารพาณิชย์ผ่าน Stress Test แล้ว คาดจะสามารถกลับมาจ่ายปันผลได้อีกครั้ง และอาจหนุนราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารรีบาวนด์ขึ้นได้














กำลังโหลดความคิดเห็น