xs
xsm
sm
md
lg

โบรกฯ แนะจับตาหุ้นกลุ่มแบงก์ ระวังปัจจัยที่มองไม่เห็นและคาดเดาไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บล.กรุงศรี แนะนักลงทุนจับตาสถานการณ์หุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน อาจมีความผันผวนมากขึ้นจากรายได้และกำไรที่มีความอ่อนไหวสูง สวนทางกับทิศทางหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ซึ่งเริ่มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากลูกหนี้ที่พักชำระหนี้จากผลกระทบ COVID-19 อาจจะไม่สามารถกลับมาคืนเงินกู้ได้ทัน หลังหมดจากช่วงเวลามาตรการเยียวยา

ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี ได้กล่าวถึงมุมมองหุ้นกลุ่มสถาบันการเงินในบทวิเคราะห์การลงทุนว่า จากการศึกษาของฝ่ายวิเคราะห์แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงของธนาคารในการเพิ่มทุนที่แตกต่างกันไปตามปัจจัยพื้นฐานของแต่ละธนาคาร

อย่างไรก็ตาม หากประเมินอัตราส่วน NPL ของกลุ่มที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 11% โดยเฉลี่ย ณ สิ้นปี 2563 อาจส่งสัญญาณเตือนปัญหาทางการเงิน และมีความเสี่ยงให้ต้องเพิ่มทุนเพื่อรักษาเกณฑ์เงินกองทุนขั้นต่ำ จะเห็นได้ว่าความเสี่ยงยังคงเป็นประเด็น และยังไม่มีความชัดเจนว่า คนที่พักชำระหนี้ปัจจุบันเหล่านั้นจะคืนเงินกู้ได้มากน้อยเพียงใดหลังจากช่วงผ่อนผันการชำระเงินทะยอยสิ้นสุด จึงคงคำแนะนำให้นักลงทุนระมัดระวังการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคาร

ธนาคารรายใหญ่มีสำรองหนี้เสียและเงินกองทุนในระดับสูง

ข้อมูลจากงบการเงินไตรมาส 2/63 รายงาน 5 ธนาคารหลักในประเทศไทยมีเงินสำรองครอบคลุมเฉลี่ยหนี้เสีย 144% ซึ่งสะท้อนว่าการกันสำรองนั้นรองรับสัดส่วน NPL ได้ถึง 5.1% ของเงินกู้ทั้งหมด เทียบกับค่าเฉลี่ย NPL สำหรับ 6 ธนาคารหลัก 3.6% รวมถึงธนาคารได้รายงาน CAR เฉลี่ยและสัดส่วน tier 1 ที่ 18.1% และ15.3% เกินกว่าข้อจำกัดขั้นต่ำของ BOT ที่ 12% และ 9.5% สำหรับ D-SIBs ตามลำดับ

แต่หากสัดส่วน NPL เพิ่มเร็วและมากกว่า 11% ในปีนี้แบงก์อาจต้องเพิ่มทุน

ในขณะที่ภาพมหภาคยังคงอ่อนแอ และมาตรการผ่อนคลายทางการเงินจะค่อยๆ หมดอายุไป หนี้เสียอาจเพิ่มขึ้นท่วมอุตสาหกรรมธนาคารตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2563 และต่อไปอีกใน 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งตลาดมีความกังวลว่าธนาคารมีสำรองหนี้เสียรวมถึงเงินกองทุนที่เพียงพอหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อ BBL เพิ่งประกาศออกตราสาร Global Medium Term Note Facility มูลค่ารวม US$750mn กระตุ้นให้เกิดความสงสัยและกังวลมากขึ้น โดยการศึกษาของ บล.กรุงศรี แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่ต่างกันไปในแต่ละธนาคาร

อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราส่วน NPL ของกลุ่มที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 11% ของธนาคารหลัก 5 แห่ง โดยเฉลี่ยในสิ้นปี 2563 อาจส่งสัญญาณเตือนปัญหาทางการเงิน และอาจกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มทุนเพื่อรักษาเกณฑ์เงินทุนจำเป็น ซึ่งประเมินว่าสินเชื่อที่เข้าร่วมพักชำระหนี้มูลค่ารวม Bt2.9tn จาก 6 ธนาคารใหญ่ จำเป็นที่จะต้องกลับมาจ่ายคืนเงินกู้ได้หลังจากช่วงเวลาผ่อนคลายจบลงไปเป็นมูลค่า Bt2.48tn หรือเทียบเท่าการกลับมาราว 70% ของมูลค่าทั้งหมด

คงคำแนะนำระมัดระวังจากปัจจัยที่ไม่แน่นอน

เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างค่อนข้างช้า หลังเห็นเศรษฐกิจโลกยังคงอ่อนแอ และนักท่องเที่ยวยังไม่น่าจะสามารถกลับมาเที่ยวในประเทศไทยในระดับที่มีนัยทางเศรษฐกิจจนกว่าจะครึ่งหลังของปี 2564 รวมถึงยังไม่แน่ชัดว่าลูกหนี้ที่พักชำระหนี้เหล่านี้จะสามารถกลับมาคืนเงินกู้ได้มากเพียงใดหลังหมดจากช่วงเวลามาตรการ ซึ่งจะสร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อฐานะทางการเงินของกลุ่มธนาคาร และอาจมีความเสี่ยงให้ธนาคารต้องทำให้การเพิ่มทุน จึงแนะนำให้นักลงทุนระมัดระวังสำหรับกลุ่มนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น