xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นกลุ่มแบงก์หลับยาว / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การออกหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุนหรือหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ วงเงิน 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 23,000 ล้านบาท ไม่เพียงทำให้ราคาหุ้นธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ทรุดฮวบลงเท่านั้น แต่ยังทำให้หุ้นธนาคารขนาดใหญ่ด้วยกัน ทั้งธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK และหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ร่วงตามมาด้วย

เพราะความกังวลในปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ของธนาคารถูกจุดชนวนขึ้นมาใหม่ นำไปสู่การเทขายหุ้นกลุ่มธนาคารอีกระลอก

ธนาคารกรุงเทพ เตรียมออกหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน เพื่อระดมเงินประมาณ 23,000 ล้านบาท นำไปเข้ากองทุนขั้นที่ 1 โดยหุ้นกู้ฯ ที่ออก อัตราดอกเบี้ย 5% ทำให้ธนาคารมีภาระจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ชุดนี้ปีละประมาณ 1,200 ล้านบาท ฉุดให้ผลกำไรจากการดำเนินงานลดลง

แต่ผลกระทบข้างเคียงจากการออกหุ้นกู้คือ นักลงทุนเกิดความวิตกในปัญหาหนี้เสียในระบบธนาคาร และลดความเสี่ยงด้วยการเทขายหุ้น

หุ้นกลุ่มธนาคารอยู่ในช่วงขาลงมาหลายปี จนหุ้นขนาดใหญ่ราคาต่ำ 100 บาทกันหมด เนื่องจากผลประกอบการชะลอตัว และนักลงทุนยังกลัวปัญหาหนี้เสีย ซึ่งอาจบั่นทอนความแข็งแกร่งของระบบธนาคาร จึงทยอยขายหุ้นลดน้ำหนักมาตลอด โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ

แม้ราคาจะปรับตัวลงมาลึก แต่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ส่วนใหญ่ยังไม่แนะนำหุ้นกลุ่มธนาคาร เพราะมองว่า ผลประกอบการคงจะไม่ฟื้นตัวในระยะสั้น และยังต้องประคับประคองฐานะการดำเนินงานต่อไป ซึ่งหากเศรษฐกิจยังทรุด จะทำให้ธนาคารมีแรงกดดันจากปัญหาหนี้เสียเพิ่มขึ้น

หุ้นกลุ่มธนาคารจึงถูกจัดอันดับความสำคัญ เป็นหุ้นขนาดใหญ่กลุ่มท้ายที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์จะแนะนำให้ลงทุน

ตั้งแต่ต้นปี หุ้นกลุ่มแบงก์เจขอแต่ข่าวร้ายๆ ไม่ว่าจะเป็นผลประกอบการครึ่งปีแรกที่ชะลอตัว การถูกธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศ ขอให้งดการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล ยังไม่นับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งซ้ำเติมให้เศรษฐกิจฟุบหนักลงไปอีก จนนำไปสู่ปัญหาหนี้เสียที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ข่าวในด้านลบเกี่ยวกับกลุ่มธนาคาร นักลงทุนมักจะเชื่อไว้ก่อน เพราะรู้ดีว่าสถานการณ์ของสถาบันการเงินหนักไม่แพ้ธุรกิจอื่น

และแทบทุกธนาคารไม่มีโอกาสดำเนินนโยบายธุรกิจในเชิงรุก นอกจากตั้งรับ ประคับประคองผลดำเนินงานไม่ให้ทรุดฮวบจนกระทบต่อฐานะทางการเงิน ซึ่งไม่รู้ว่าจะต้องประคับประคองฐานะทางการเงินกันอีกกี่ปี เพราะเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะฟุบยาว

สำหรับหุ้น BBL ถ้าพิจารณาปัจจัยพื้นฐาน ถือว่ามีความน่าสนใจ เพราะค่าพี/อี เรโช เหลือไม่ถึง 7 เท่า ขณะที่อัตราเงินปันผลตอบแทนสูงกว่า 7% แต่เพราะความกลัวปัญหาหนี้เสีย หวั่นไหวในผลกำไรที่จะทรุดลง จนค่าพี/อี เรโช ในอนาคตสูงขึ้น และอัตราเงินปันผลลดลง นักลงทุนจึงไม่รีบร้อนที่จะย้อนกลับมาเก็บหุ้น BBL

ส่วนนักลงทุนรายย่อยจำนวนกว่า 6 หมื่นคนที่ถือหุ้น BBL อยู่ ตกอยู่ในอาการเสียขวัญ ตื่นตกใจง่ายกับข่าวร้ายที่พุ่งกระทบ และพร้อมเทขายหุ้นออก แม้จะต้องทนกัดฟันขายก็ตาม

การออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์เพื่อระดมเงินเสริมกองทุนขั้นที่ 1 นั้น ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ นักลงทุนคงไม่มองเป็นปัจจัยลบแต่อย่างใด

แต่เพราะสถานการณ์กลุ่มแบงก์ไม่ปกติ และเปราะบางกับข่าวร้าย ผู้ถือหุ้นรายย่อยสภาพจิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว การออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์จึงกระตุ้นการเทขายระลอกใหม่ จน BBL หลุด 100 บาทอีกครั้ง

และจะ หวังให้หุ้น BBL เด้งกลับแรงๆ เหมือนหุ้นกลุ่มอื่นคงไม่ได้ เพราะหุ้นกลุ่มแบงก์มีแนวโน้มที่จะพักฐานยาว






กำลังโหลดความคิดเห็น