xs
xsm
sm
md
lg

รวมหนี้ “แบงก์เดียวกัน” เกิดยาก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




แบงก์ชาติออกนโยบายหนุน “รวมหนี้” บัตรหนี้บุคคลเข้าสินเชื่อบ้าน หวังช่วยลูกหนี้ลดภาระดอกเบี้ยต่ำลง แถมยืดเวลาผ่อนชำระออกไปได้นานกว่าสินเชื่อประเภทอื่น แต่เงื่อนไขที่เปิดให้รวมหนี้ได้ต้องอยู่ภายใต้สถาบันการเงินเดียวกันกลายเป็นโจทย์ใหญ่ ยากต่อการปฏิบัติ เท่ากับแทบไม่ช่วย เพราะหนี้บัตร หนี้บุคคล น้อยคนที่จะใช้สินเชื่อจากแบงก์เดียวกัน นักการเงินแนะตั้งหน่วยงานกลางเข้ามาประสาน เปิดทางรวมหนี้ได้จากต่างแบงก์


แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ในประเทศไทยจะควบคุมให้อยู่เฉพาะผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศที่ต้องกักตัวเพื่อหาเชื้อ และยังไม่พบการแพร่ระบาดภายในประเทศมา 100 กว่าวัน แต่กลับพบผู้ติดเชื้อในประเทศแล้ว 1 ราย

ภาครัฐได้ผ่อนปรนให้ภาคธุรกิจต่างๆ ภายในประเทศเปิดดำเนินการได้เกือบเหมือนปกติ ภาคท่องเที่ยวเป็นการกระตุ้นให้คนไทยท่องเที่ยวภายในประเทศด้วยโปรโมชันต่างๆ แต่ตัวที่เป็นรายได้หลักคือนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังไม่สามารถเปิดรับได้ ด้วยเหตุที่การแพร่ระบาดในต่างประเทศยังไม่มีแนวโน้มลดลง ทำให้การเปิดน่านฟ้าไม่สามารถทำได้เหมือนสถานการณ์ปกติ

ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจทั้งเรื่องการส่งออกและจำนวนผู้ว่างงาน ที่หลายกิจการไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ปัญหาต่างๆ จึงดาหน้าเข้ามาให้รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการแก้ไข ทั้งหนี้สินภาคธุรกิจและภาคบุคคล

การเร่งช่วยเหลือบรรเทาภาระหนี้สินภาคบุคคลนับเป็นเรื่องสำคัญ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้ามาเป็นเจ้าภาพหารือกับสถาบันการเงินเพื่อผ่อนคลายหลักเกณฑ์ต่างๆ อันจะช่วยให้ผู้คนสามารถที่จะประคองตัวให้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้ และกลับมามีกำลังซื้อร่วมกันฟื้นเศรษฐกิจอีกครั้ง

มาตรการหลายชุดของธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ เสนอแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง โดยไม่เสียประวัติกับเครดิตบูโร ไปจนถึงคลินิกแก้หนี้ แต่ดูเหมือนว่าผลกระทบจาก Covid-19 จะยังไม่ลดลง

ภาคธุรกิจหลายแห่งต้องปลดพนักงานโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมการบินและอีกหลายภาคส่วน


แบงก์ชาติหนุนรวมหนี้ 

 ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ภาคบุคคลอีกครั้งเมื่อ 27 สิงหาคม 2563

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท.มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 19 (COVID-19) มาอย่างต่อเนื่องนั้น

ปัจจุบันสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง ภาคธุรกิจบางส่วนยังไม่สามารถดำเนินกิจการได้ตามปกติ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชาชนทั่วไป ดังนั้นเพื่อเป็นทางเลือกในการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติม

ธปท.ได้เห็นร่วมกันกับสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อยด้วยวิธีการรวมหนี้ (debt consolidation) โดยให้สามารถนำสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น ที่อยู่ภายใต้ผู้ให้บริการทางการเงิน หรือบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของผู้ให้บริการทางการเงินเดียวกัน อาทิ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อที่เกิดจากการให้เช่าซื้อ มาปรับปรุงโครงสร้างหนี้

ด้วยวิธีการรวมหนี้กับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพื่อใช้ประโยชน์จากหลักประกัน ซึ่งจะทำให้ผู้ให้บริการทางการเงิน สามารถลดอัตราดอกเบี้ยในส่วนของสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นให้เหลือไม่เกินอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate : MRR) และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ตามความสามารถของลูกหนี้ 
โดยที่ผู้ให้บริการทางการเงินต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงพอต่อการตัดสินใจของลูกหนี้ เช่น ข้อดีข้อเสียของการเข้าร่วมมาตรการ ข้อมูลเปรียบเทียบภาระหนี้เดิมกับภาระหนี้ใหม่ และทางเลือกการปรับปรุงโครงสร้างหนี้รูปแบบอื่นที่ลูกหนี้สามารถทำได้

มาตรการดังกล่าวจะช่วยลดภาระการชำระหนี้โดยที่ลูกหนี้ไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการอื่นใดโดยไม่จำเป็น และยังสามารถใช้วงเงินบัตรเครดิตหรือสินเชื่อ ส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีลักษณะหมุนเวียนที่ยังเหลือได้ รวมทั้งไม่ต้องจ่ายเบี้ยปรับการชำระหนี้ก่อนกำหนด (prepayment fee) ทั้งนี้ ลูกหนี้สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการและแสดงข้อมูลว่าได้รับผลกระทบต่อผู้ให้บริการทางการเงินได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 

ธปท.หวังเป็นอย่างยิ่งว่า มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในครั้งนี้จะช่วยบรรเทาภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ในช่วงที่ยากลำบากนี้ได้ ขณะเดียวกันผู้ให้บริการทางการเงินสามารถบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสมซึ่งจะช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป 

ปรารถนาดีแต่มีปัญหา

 แหล่งข่าวจากฝ่ายบริหารเงินส่วนบุคคล สถาบันการเงินแห่งหนึ่งกล่าวว่า มาตรการดังกล่าวนับเป็นแนวทางในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้รับเงื่อนไขที่ดีที่สุด บรรเทาภาระลูกหนี้ให้ได้มากที่สุด 

ถือเป็นความคิดที่ดีที่เปิดทางให้ลูกหนี้สามารถโอนย้ายหนี้ประเภทอื่นเข้ามารวมไว้กับสินเชื่อบ้าน เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าสินเชื่อบ้านนั้น ทางสถาบันการเงินจะคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่อประเภทอื่น (5.75-8%) เนื่องจากมีตัวบ้านเป็นหลักประกัน และระยะเวลาในการผ่อนชำระได้นานถึง 20-25 ปี ทำให้สามารถปรับความยืดหยุ่นของสัญญาได้ง่ายกว่า สามารถปรับเงินผ่อนชำระต่อเดือนให้ไม่สูงนักด้วยการขยายอายุสัญญาหรือลดดอกเบี้ยลง วิธีการนี้ตัวลูกหนี้สามารถชำระหนี้ทั้งสินเชื่ออื่นๆ ไปได้พร้อมกับค่างวดบ้าน 
แต่ตัวเงื่อนไขของมาตรการดังกล่าวยังเป็นห่วงว่าจะนำมาปฏิบัติได้จริงหรือไม่ เพราะวิธีการรวมหนี้ตามแนวทางของแบงก์ชาตินั้น กำหนดให้รวมหนี้ประเภทอื่นที่อยู่ภายใต้ผู้ให้บริการทางการเงิน หรือบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของผู้ให้บริการทางการเงินเดียวกัน 

“จะมีลูกหนี้สักกี่รายที่ใช้บริการสินเชื่อบ้าน สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล สินเชื่ออื่นๆ ที่ใช้บริการเหล่านี้ภายใต้สถาบันการเงินเดียวกัน” 
เพราะในความเป็นจริงแล้ว ธุรกิจบัตรเครดิต หรือสินเชื่อบุคคลอื่นๆ ต่างมีการแข่งขันกันมาก ทั้งที่เป็นบริษัทลูกของสถาบันการเงินหรือเป็นกลุ่มนอนแบงก์ ไม่มีลูกหนี้คนไหนคิดมาก่อนว่าต้องใช้บริการของผู้ให้บริการในเครือเดียวกัน ลูกหนี้มักเลือกโปรโมชั่นที่ตรงใจและตรงกับความสามารถในการชำระหนี้ของตนเองเป็นหลัก 

อย่างลูกหนี้ที่มีสินเชื่อบ้านกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ ถามว่า ธอส.มีบัตรเครดิตหรือมีสินเชื่อบุคคลให้บริการหรือไม่ ถ้าไม่มี ลูกหนี้กลุ่มนี้ย่อมไม่มีโอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลือจากแนวทางหนี้ใช่หรือไม่ 
แน่นอนว่าแนวทางรวมหนี้อื่นๆ ไปไว้กับสินเชื่อบ้านตามแนวทางของแบงก์ชาติ อาจมีลูกหนี้จำนวนหนึ่งที่อยู่ในเงื่อนไข แต่คงมีจำนวนไม่มากนัก

จากการสอบถามฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กรณีที่ลูกหนี้บางรายที่ไม่เข้าเงื่อนไขของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น มีเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล หรือสินเชื่ออื่นๆ แต่ไม่มีสินเชื่อบ้าน หรือมีสินเชื่อบ้าน แต่สินเชื่ออื่น ๆ ไม่ได้อยู่ภายใต้สถาบันการเงินเดียวกัน จะทำอย่างไร คำตอบที่ได้คือก็ต้องไปใช้แนวทางความช่วยเหลือระยะที่ 2 ที่ออกมาก่อนหน้านั้น

ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือระยะแรกนั้น ได้ปรับลดดอกเบี้ยบัตรเครดิตลงเหลือ 16% สินเชื่อบุคคลลดเหลือ 22% มาตรการระยะที่ 2 นั้นแบงก์ชาติได้เสนอทางออกให้กับสินเชื่อบัตรเครดิตที่สามารถเข้าสู่โครงการปรับโครงสร้างหนี้ได้ที่ดอกเบี้ย 12% ระยะเวลา 48 เดือน หรือถ้าไม่ไหวสามารถเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ได้ที่ดอกเบี้ย 4-7% ระยะเวลา 10 ปี


ยากต่อการปฏิบัติ 

ในเรื่องนี้ปัญหาในทางปฏิบัติเยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องหนี้อื่นๆ กับเงื่อนไขต้องเป็นสถาบันการเงินเดียวกันจึงจะรวมหนี้ไว้ในสินเชื่อบ้านได้ เท่ากับมาตรการความช่วยเหลือนี้จะช่วยเหลือลูกหนี้ได้น้อยมาก ที่จริงหากจะส่งเสริมให้เกิดรวมหนี้ไปไว้ที่สินเชื่อบ้าน ควรหารือกับธนาคารเจ้าของสินเชื่อบ้านโดยอาจเปิดรับสินเชื่อบัตร สินเชื่อบุคคลหรืออื่นๆ ของต่างสถาบันการเงินได้ หรือหากมีปัญหาติดขัดรัฐควรจัดตั้งหน่วยงานกลางเข้ามารับบริหารจัดการหนี้ต่างสถาบันการเงิน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาให้ได้มากที่สุด 

ข้อกำหนดที่แบงก์ชาติให้นโยบายไว้ ควรมีความชัดเจนและคำนึงถึงความเป็นไปได้ในการนำไปปฏิบัติ นอกจากเรื่องต้องรวมหนี้ภายใต้สถาบันการเงินเดียวกันแล้ว ก็ยังมีเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยภายใต้มาตรการนี้ กำหนดให้สินเชื่อบ้านดอกเบี้ยไม่ปรับขึ้นจากเดิม ส่วนสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ ดอกเบี้ยไม่เกิน MRR

นั่นหมายถึงการโอนหนี้สินเชื่อบุคคลที่ไม่มีหลักประกันเข้าไปรวมกับสินเชื่อบ้านภายใต้สถาบันการเงินเดียวกัน จะต้องแยกหนี้ออกเป็น 2 ก้อน คือหนี้บ้านปกติดอกเบี้ยเป็นไปตามสัญญาเดิม เช่น MRR-xx ส่วนหนี้ก้อนใหม่กำหนดให้คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกิน MRR 

ตรงนี้ควรมีความชัดเจนว่าต้องชำระหนี้แยกก้อนกันหรือไม่ หรือรวมกันเป็นหนี้ก้อนเดียว และควรเปิดโอกาสให้ลูกหนี้เจรจากับสถาบันการเงินให้ยืดหนี้ออกไปได้ เพื่อให้เงินผ่อนต่องวดลดลงตามกำลังของลูกหนี้ เพื่อประคองตัวให้ผ่านสถานการณ์นี้ไปให้ได้ 

ขณะที่สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้เดิม เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้บุคคลหรือหนี้ประเภทอื่น ๆ จะยอมปล่อยลูกหนี้เหล่านี้หรือไม่ แม้อาจต้องยอมปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ แต่ก็ยังได้ดอกเบี้ยอย่างน้อย 12% หรือรายที่ไม่ต้องปรับโครงสร้างเจ้าหนี้ก็ยังรับดอกเบี้ย 22% อยู่ หากจะปล่อยลูกหนี้ออกมาก็ต้องเลือกแล้วว่าลูกหนี้รายนั้นมีความเสี่ยงสูงจริงๆ แล้วสถาบันการเงินอื่นจะกล้ารับโอนลูกหนี้รายดังกล่าวหรือไม่

 แนะหาวิธีสร้างรายได้ควบคู่ 
นั่นเป็นเพียงการเร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของผู้ที่เป็นหนี้ แต่อีกแนวทางหนึ่งที่รัฐควรต้องเร่งทำควบคู่กันไป คือ การสร้างรายได้ เพื่อให้ลูกหนี้เหล่านี้มีกำลังพอที่จะมาชำระหนี้ ซึ่งเรื่องนี้ยอมรับว่าไม่ง่าย เพราะสถานการณ์ทุกอย่างยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลายประเทศยังแก้ปัญหาเรื่อง Covid-19 ไม่ได้ น่านฟ้าของทุกประเทศยังไม่เปิด กลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจึงยังไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม การออกมาตรการนี้ออกมาอาจตีความได้ว่า แบงก์ชาติเองก็เห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นว่ามาตรการทั้งระยะที่ 1 และ 2 อาจช่วยแก้ปัญหาหนี้กับภาคประชาชนได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะสภาพเศรษฐกิจที่นิ่งอยู่ในเวลานี้ ทำให้องค์กรเอกชนหลายแห่งต้องปิดกิจการ เลิกจ้างพนักงาน ซึ่งมีแนวโน้มจะมีเพิ่มขึ้นอีกมากหากทุกอย่างยังไม่คลี่คลาย จึงต้องหามาตรการอื่นเพิ่มขึ้นมาเพื่อรอบรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 
ที่จริงแนวทางของแบงก์ชาตินั้นนอกจากจะเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาแล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือสถาบันการเงินไปในตัวด้วยเช่นกัน เพราะหากลูกหนี้ไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามเงื่อนไขเดิม แบงก์เองก็จะมีปัญหาเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ NPL ทำให้แบงก์ต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีสำหรับธุรกิจธนาคาร









กำลังโหลดความคิดเห็น