จับตาหุ้นน้ำดี “เอสซีจี แพคเกจจิ้ง” ใกล้เข้าเทรดบนกระดาน คาดภายในเดือนตุลาคมนี้ จากราคา IPO เบื้องต้น 33.50-35.00 บาทต่อหุ้น หลายฝ่ายเชื่อเติบโตยาวตามธุรกิจ E-commerce พร้อมคาดมาร์เกตแคปสูง 1.5 แสนล้านบาท และมีโอกาสเข้าคำนวณ SET50 แบบฟาสต์แทร็กได้ทันที
ใกล้เข้ามาทุกขณะสำหรับการเข้ามาเป็นน้องใหม่ในกระดานหุ้นของบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (SCGP) หรือบริษัทลูกของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) โดยล่าสุด น.ส.วีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม กล่าวว่า ขณะนี้แบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ของ SCGP ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลดาหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และแบบ Filing ของ SCGP มีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าจะสามารถนำหุ้น SCGP เข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในเดือนตุลาคมนี้
สำหรับราคาขายหุ้น ได้กำหนดช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้นคือ 33.50-35.00 บาทต่อหุ้น โดย SCGP จะจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1.127 พันล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1 (หนึ่ง) บาท เพื่อการออกและเสนอขายต่อประชาชนเป็นการทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ขณะเดียวกัน จะจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 169.13 ล้านหุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) ซึ่งเป็นจำนวนไม่เกินร้อยละ 15 ของจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายทั้งหมดในครั้งนี้ และคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 3.8
อย่างไรก็ตาม ผู้จองซื้อหุ้นจะต้องชำระเงินค่าหุ้นที่ราคา 35 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาที่เสนอขายก่อน และจะได้รับคืนเงินส่วนต่างค่าจองซื้อหุ้นในกรณีที่ราคาเสนอขายสุดท้ายต่ำกว่าราคาสูงสุดดังกล่าว โดยคาดว่าจะประกาศราคาสุดท้ายได้ประมาณวันที่ 8 ตุลาคม 2563 หลังผ่านการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์จากนักลงทุนสถาบัน
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าในแวดวงตลาดทุน การเข้ากระจายหุ้นของ SCGP ได้รับความสนใจและการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก จากเดิมที่เคยถูกมองว่าเป็นธุรกิจที่น่าเป็นห่วง ที่สุดของ SCC แต่ตอนนี้กลับตาลปัตรกลายเป็นธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรงแบบฉุดไม่อยู่ จนสามารถสร้างรายได้ให้แก่ SCC ในระดับ 5 แสนล้านบาท และกำไรที่ระดับ 4.4 หมื่นล้านบาทเมื่อปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ทั้งรายได้และกำไรของธุรกิจแพกเกจจิ้งถึงจะยังมีสัดส่วนที่น้อยกว่ากลุ่มธุรกิจอื่นๆ (รายได้เพียง 21% กำไร 17% เมื่อเทียบกับทั้งกลุ่ม) แต่เป็นรายได้และกำไรที่แต่ละปีมีอัตราการเติบโตสูงที่สุดกว่ากลุ่มอื่นๆ
สำหรับเหตุผลสำคัญที่ SCGP เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้นมาจากการเติบโตของธุรกิจ E-commerce ในยุคดิจิทัลนี้ทำให้บรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตที่สูงและมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อย่างมากและต่อเนื่องในอนาคต
และสิ่งสำคัญที่ควรรู้ ปัจจุบัน SCGP คือบริษัทผู้นำตลาดทางด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน และเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งเพื่อให้ธุรกิจ บริษัทจำเป็นต้องเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น เพื่อคงความได้เปรียบคู่แข่งในเรื่องของการเงิน ภายใต้เงื่อนไข “บมจ.ปูนซิเมนตไทย” ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และมีอำนาจควบคุม SCGP ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 และ SCGP จะยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของ SCC เช่นเดิม
ขณะเดียวกัน มีการประเมินว่าจากช่วงราคา IPO ที่บริษัทเปิดเสนอขายครั้งนี้ 3.77-3.94 หมื่นล้านบาท โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปใช้ขยายธุรกิจด้วยการขยายกำลังการผลิตของบริษัท การเข้าซื้อกิจการ รวมถึงทรัพย์สินอื่น คิดเป็นเงินประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2566 และอีกส่วนจะใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมให้แก่สถาบันทางการเงิน ประมาณ 1.0-1.3 หมื่นล้านบาท และที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ
ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีการประเมินว่า จากราคาหุ้น IPO ที่เสนอขาย จะทำให้ SCGP มีมูลค่ามาร์เกตแคปสูงถึง 1.50-1.57 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่า 1% ของมาร์เกตแคปตลาดรวมและมีโอกาสที่จะเข้าคำนวณ SET50 แบบฟาสต์แทร็กได้ทันที นั่นหมายความว่าหากพิจารณาตามเกณฑ์ โดยหากราคาปิดวันแรกไม่ทำให้มาร์เกตแคปของ SCGP ลดต่ำกว่า 1% จะทำให้มาร์เกตแคปของบริษัทสูงกว่า 20 อันดับแรกของตลาดหุ้นไทย ซึ่งจะเป็นไปตามเกณฑ์ที่ได้เข้าคำนวณใน SET50 ได้ทันที และจะทำให้เกิดหุ้นที่มีโอกาสหลุดจากการคำนวณใน SET 50 ได้แก่ หุ้นบริษัททุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 50 มีมาร์เกตแคป 3.6 หมื่นล้านบาท ส่วนหุ้นใน SET100 ที่มีโอกาสจะหลุดจากการคำนวณได้แก่ หุ้นบริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (ERW) ที่มีมาร์เกตแคปประมาณ 8.1 พันล้านบาท อยู่ในอันดับที่ 100 และหุ้นบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ที่มีมาร์เกตแคปประมาณ 9 พันล้านบาท อยู่ในอันดับที่ 99
สำหรับ SCGP ดำเนินธุรกิจให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน เป็นหนึ่งในธุรกิจของเอสซีจีที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง มีฐานลูกค้าที่กว้างขวางและหลากหลายที่เติบโตจากความต้องการของผู้บริโภคที่มีเพิ่มขึ้น (Consumer Growth) ทั้งในประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย รวมทั้งประเทศอื่นๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียน
นอกจากนี้ SCGP ยังมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่มีวัสดุหลากหลายประเภท (Multi-materials) และมีคุณภาพสูง ทั้งผลิตภัณฑ์กระดาษและพอลิเมอร์ พร้อมการให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (Packaging Solutions Provider) การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ พร้อมการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อรักษาความเป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าในทุกระดับได้อย่างครอบคลุมและครบวงจร
อย่างไรก็ตาม มีการประเมินว่าในอดีตที่ผ่านมา หลายกรณีราคาหุ้นบริษัทแม่มักจะปรับลดลง โดยเฉพาะหากบริษัทแม่มีสัดส่วนรายได้ที่บริษัทลูกนำส่งค่อนข้างสูง ทำให้คาดว่ากรณีของ SCC และ PTT เชื่อว่าจะถูกขายทำกำไรเช่นกัน เนื่องจากคาดว่าบริษัทย่อยในเครือ ได้แก่ SCGP และ OR จะผ่านเกณฑ์พิเศษ (fast track) เข้าดัชนีหุ้น SET50 รวมถึงเชื่อว่าเมื่อใกล้วันซื้อขายวันแรกของบริษัทย่อย บริษัทแม่จะถูกซื้อไล่ราคาขึ้นมา และมีความเสี่ยงจะถูกขายทำกำไรในระยะถัดไป
ขณะที่ธุรกิจ Packaging มีการเติบโตโดดเด่นที่สุดในบรรดา 3 ธุรกิจหลักของ SCC จาก 7 ปีที่แล้วมีสัดส่วนกำไร 10% แต่ปัจจุบันเพิ่มมาเป็น 22% ซึ่งคาดว่าจะสร้างการเติบโตของรายได้ถึง 100% ใน 5 ปีข้างหน้า อีกทั้งหลายฝ่ายมีมุมมองธุรกิจระยะยาวที่เป็นบวกภายใต้ Business Model ที่แข็งแกร่ง และราคายังปรับฐานลงมาลงมาจน Upsideเปิดกว้างเกือบ 15%
โดย บล.หยวนต้า (ประเทศ ไทย) ระบุว่า แนวโน้มผลการดำเนินงาน SCGP ในครึ่งปีหลังคาดว่า จะชะลอลงจากครึ่งปีแรก หลังจากรับแรงกดดันจากปริมาณขายปิโตรเคมีที่ลดลงจากแผนปิดซ่อมบำรุงโรงงาน VCM จำนวน 29 วันในไตรมาส 3 ปี 2563 และโรงงาน MOC จำนวน 45 วันในไตรมาส 4 ปี 2563 ขณะที่ส่วนต่างราคาปิโตรเคมีหลักอย่าง HDPE-Naphtha ในไตรมาส 3 จนถึงปัจจุบันอยู่ระดับ 515 ดอลลาร์สหรัฐตัน และกำไรปกติครึ่งแรกปี 2563 ทำได้แล้ว 57% ของคาดการณ์ทั้งปีที่ 33,000 ล้านบาท
ส่วนปี 2564 คาดว่าผลการดำเนินงานปกติที่ 37,000 ล้านบาท เติบโตได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2560 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังไวรัส COVID-19 คลี่คลาย รวมทั้งยังได้ประโยชน์ทางตรงจากการผลักดันโครงการก่อสร้างภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องใน 1-2 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ การประกาศให้สิทธิผู้ถือหุ้น บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย จองซื้อหุ้นบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ซึ่งเป็นบริษัทลูก กระตุ้นให้นักลงทุนแห่ไล่ซื้อหุ้น SCC กันฝุ่นตลบ จนราคาที่กำลังอยู่ในช่วงปรับฐานดีดตัวกลับขึ้นมา สวนภาวะตลาดหุ้นที่ปักหัวลง
โดยราคาหุ้น SCC ก่อนหน้าปรับตัวลงต่อเนื่อง แต่หลังจากการแจ้งข่าวจัดสรรหุ้น SCGP นักลงทุนก็หันกลับมาไล่ซื้อหุ้น SCC ทันทีที่เปิดการซื้อขายวันที่ 31 สิงหาคม จนราคาพุ่งทะยาน 11 บาท ท่ามกลางมูลค่าการซื้อขายที่หนาแน่น และวันที่ 1 กันยายนยังบวกต่ออีก 3 บาท ขยับขึ้นมาปิดที่ 357 บาท ขณะที่ตลาดหุ้นปรับตัวลง
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หุ้น SCC ที่ดีดตัวแรงนั้นเป็นผลพวงจากการให้สิทธิผู้ถือหุ้นจองซื้อหุ้น SCGP ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก ก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดตลาดหลักทรัพย์ แม้ยังไม่ได้กำหนดวันเวลาการเสนอขายหุ้นที่ชัดเจน ยังไม่ตั้งราคาที่จะเสนอขาย แต่หลายฝ่ายเชื่อว่า SCGP จะเป็นหุ้นใหม่ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน เนื่องจากเป็นหุ้นขนาดใหญ่ มีผลประกอบการที่ดี มีความสามารถในการทำกำไรสูง แนวโน้มผลประกอบการเติบโตต่อเนื่องโดยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือมาร์เกตแคป
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้บริหารของ SCGP เปิดเผย ภาพรวมผลการดำเนินงาน ครึ่งปีแรกของบริษัทฯ มีอัตราการเติบโตที่โดดเด่นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาจากแผนกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นแพกเกจจิ้งสำหรับ B2C และการขยายธุรกิจด้วยการควบรวมกิจการ (Merger & Partnership) แม้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศเพื่อยับยั้งโรคระบาด
โดยบริษัทฯ มีรายได้จากการขายทั้งสิ้น 45,903 ล้านบาท เติบโต 11% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,636 ล้านบาท เติบโต 40% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพของการผลิต การทำ Synergy ระหว่างโรงงานที่มีอยู่หลากหลาย และการบริหารสัดส่วนการขายสินค้าได้ดี จึงสามารถรักษาอัตรา EBITDA Margin (กำไรก่อนภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย) ไม่ให้ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ เป็นผลดีจากยอดขายบรรจุภัณฑ์สำหรับอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ฟูดเดลิเวอรี ผลิตภัณฑ์อาหารส่งออก สินค้าอุปโภคบริโภคและกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ (Healthcare) ที่เติบโตอย่างมาก เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งทำให้ประชาชนบางส่วนปรับเปลี่ยนการทำงานเป็นแบบ Work From Home และปรับไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิตสู่ New Normal โดยประชาชนมี การเลือกซื้อสินค้าทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ใส่ใจในสุขภาพและใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย รวมถึงสั่งซื้ออาหารมารับประทานที่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในส่วนนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งชดเชยกับความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์บางกลุ่มสินค้าที่ชะลอตัวลง เช่น ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ ขณะเดียวกัน การที่บริษัทฯ มีฐานลูกค้ากระจายอยู่ในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่หลากหลายถือเป็นจุดเด่นของบริษัท
สำหรับตลาดบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทยช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะยังคงมีการเติบโตท่ามกลางความท้าทายของภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มคลี่คลายในทางที่ดีขึ้นและมีการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคธุรกิจต่างๆ ทยอยกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง จึงน่าจะส่งผลดีต่อการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเพื่อการดูแลสุขภาพยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีฃ
ส่วนแนวโน้มความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียน ยังมีความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น ขณะ SCGP เดินหน้าก่อสร้างเพื่อขยายกำลังการผลิต 4 โรงงานใน 4 ประเทศ คือไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ด้วยเงินลงทุน 8,200 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2563-2564 และอยู่ระหว่างการเข้าซื้อกิจการโรงผลิตกล่องกระดาษลูกฟูกในเวียดนาม ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจเติบโตในภูมิภาคอาเซียน และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้