xs
xsm
sm
md
lg

“เร้ดแฮท ประเทศไทย” ไม่มีแผนลดพนักงาน ยืนยันหลังรวม IBM ทำงานอิสระเหมือนเดิม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เร้ดแฮท (ประเทศไทย) เปิดใจไม่มีแผนลดพนักงาน หลังควบรวมกิจการกับไอบีเอ็ม (IBM) ตั้งแต่กรกฎาคมปี 2562 ยืนยันว่าเร้ดแฮทเป็นหน่วยธุรกิจที่ทำงานอิสระเช่นเดิม ย้ำไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่เร้ดแฮททำตลาดผ่านพาร์ตเนอร์แบบ 100% ภูมิใจพันธมิตรไทยพาลูกค้าทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันสุดตื่นตัว มั่นใจองค์กรไทยลงทุนต่อเนื่องแม้โควิด-19 ทำให้พิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบมากขึ้น

กวินธร ภู่ตระกูล ผู้จัดการ เร้ดแฮท (ประเทศไทย) กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจของเร้ดแฮทในปัจจุบัน ว่า เร้ดแฮท (Red Hat) มีพันธมิตรในเอเชียแปซิฟิกมากกว่า 3,900 ราย โดยมากกว่า 70% ของธุรกิจเร้ดแฮทเกิดขึ้นทำผ่านพันธมิตร โดยในไทยบริษัทขายผ่านพาร์ตเนอร์ 100% เป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีขายผ่านพันธมิตรเฉลี่ย 80% เท่านั้น สะท้อนว่าเร้ดแฮทให้ความสำคัญกับพาร์ตเนอร์ที่จะนำเทคโนโลยีเร้ดแฮทไปสร้างนวัตกรรมและให้บริการที่แก้ปัญหาให้ลูกค้าได้

“หลังควบรวมไอบีเอ็มแล้ว เร้ดแฮทยังทำงานอิสระ บริหารงานโดยทีมเร้ดแฮดเอง ยังคงความเป็นโอเพ่นซอร์ส ยังทำงานกับพันธมิตรปกติ เราได้ความแข็งแกร่งของไอบีเอ็มเพิ่มเข้ามา โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ไอบีเอ็มแข็งแรง ยังมุ่งโฟกัสที่ความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก”

กวินธร ชี้ว่า จำนวนพันธมิตรกลุ่มโออีเอ็มของเร้ดแฮทในประเทศไทยมีความแข็งแกร่งมากตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19 เชื่อว่าจะยังคงมียอดขายที่ดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค หลังโควิด-19 เชื่อว่าจะยังมีการเติบโตที่ดี นอกจากร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจแบบใกล้ชิด เร้ดแฮทยังจับมือกับภาคการศึกษา เพื่อผลิตบุคลากรนักศึกษาที่มีทักษะโอเพ่นซอร์สมากขึ้น

"เพราะลินุกส์เป็นหัวใจ ให้นักศึกษาเป็นที่ต้องการตัวไปทำงาน มี 2-3 มหาวิทยาลัยที่ติดต่อเร้ดแฮทมาแล้ว คาดว่าจะขยายความร่วมมือได้อีก"


นพคุณ วิศิษฎ์รัฐกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อินแกรม ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด พันธมิตรของเร้ดแฮทในกลุ่มลูกค้าเอนเทอร์ไพรส์ ผู้ให้บริการด้านไอทีและคลาวด์ที่ได้รับการรับรองจากเร้ดแฮท (Certified Cloud and Service Provider : CCSP) ชี้ว่าเร้ดแฮทมีการเติบโตของตลาดเป็นเลข 2 หลักตลอดเวลา โดยช่วงไม่กี่ปี โดยเฉพาะปีนี้ องค์กรไทยเริ่มตื่นตัวเรื่องดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันอย่างมาก ตลาดให้การยอมรับระบบคลาวด์เนทีฟ ไม่สร้างห้องดาต้าเซ็นเตอร์และไม่ซื้อซอฟต์แวร์ราคาสูง แต่ใช้คลาวด์เทคโนโลยีมากขึ้น จนลูกค้าระดับกลางสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ทั่วถึง

ยังมีระบบคอนเทนเนอร์ ที่ธนาคารนิยมมาใช้ ทำให้สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ได้เร็วขึ้น จนแนวโน้มนี้เห็นเป็นเทรนด์ชัดเจนในตลาดอื่นด้วย เช่น อุตสาหกรรมพลังงาน และการผลิต ซึ่งตื่นตัวมากเรื่องระบบออโตเมชัน ที่จะเข้ามามีบทบาทจัดการงานที่ซับซ้อน เบื้องต้น ลูกค้าเร้ดแฮทในไทยที่เป็นกลุ่มสถาบันการเงินหลายแห่งมีการนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของโมบายแอปพลิเคชัน ทำให้การพัฒนาไมโครเซอร์วิสทำได้เร็ว รองรับการใช้งานที่ขยายตัวกะทันหันในช่วงพีก

"อินแกรมเองยังลงทุนต่อเนื่องทั้งส่วนเทคโนโลยี และการทรานสฟอร์มตัวเอง เราลงทุนพัฒนาระบบไอทีภายใน เพื่อให้ตอบรับการการขยายตัวในอนาคต ลูกค้าเองก็เริ่มระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น แม้ทุกคนจะเข้าใจความสำคัญของการลงทุน แต่ก็เห็นความกังวล เพราะโปรเจกต์ช่วงต้นปีและกลางปีถูกขยับออกไปเพื่อรอดูท่าที แต่เชื่อว่าสุดท้ายแล้ว ลูกค้าจะกลับมาลงทุน"

เกียรติศักดิ์ เกษมโชติพัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) จำกัด ดิสทริบิวเตอร์ของเร้ดแฮทในประเทศไทย ผู้ให้บริการผลิตภัณฑ์ไอทีสำหรับ consumer, commercial และ solutions ให้ความเห็นว่านิว นอร์มอลทำให้โซลูชันระบบวิเคราะห์ใบหน้าด้วยเทคโนโลยีเอไอและแมทชีนเลิร์นนิงเป็นกระแสที่ได้รับการตอบรับที่ดี ทำให้บริษัทเริ่มวางเป้าหมายขยายตลาด เบื้องต้น ย้ำว่าวีเอสที อีซีเอส ยังลงทุนต่อเนื่อง

"ปีหน้าก็ลงทุนเพิ่ม ลูกค้าก็ยังลงทุนด้านเทคโนโลยี เพราะโควิด-19 ต้องใช้เทคโนโลยีตอบรับนิว นอร์มอล"


กำลังโหลดความคิดเห็น