xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กฯ สดใสรับดีมานด์พุ่ง ตลาดโลกฟื้น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สดใส หลังประกาศงบไตรมาส 2 ไม่ทำให้นักลงทุนผิดหวัง เพราะผลประกอบการสดใส กำไรเติบโตถ้วนหน้า ส่วนหนึ่งเพราะเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ที่ล่าสุดลงไปทำจุดต่ำสุดใหม่ของรอบนั้น ขณะที่เงินบาทไม่แข็งค่า อีกทั้งภาคการผลิตทั่วโลกฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ รวมทั้งตลาดรถยนต์ต่างประเทศฟื้น ส่งผลให้ดีมานด์พุ่ง หนุนผลงานครึ่งปีหลังสดใส

ช่วงปลายเดือนกรกฏาคม บรรยากาศการซื้อขายหุ้นโดยรวมจะเงียบเหงา ดัชนีหุ้นเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ แต่บรรยากาศการซื้อขายหุ้นรายกลุ่ม และรายตัวกลับคึกคักสุดเหวี่ยง ซึ่งกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โดดเด่นขึ้นมา โดยเฉพาะหุ้นบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA เพราะหลังจาก DELTA แจ้งผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ปี 2563 พบว่ากำไรเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากไตรมาสแรกที่มีกำไรสุทธิ 872.58 ล้านบาท เพิ่มเป็น 2,021.50 ล้านบาท ในไตรมาส 2 ซึ่งกำไรที่เติบโตสูง ทำให้นักลงทุนแห่กันไล่ซื้อหุ้น DELTA

และจากความร้อนแรงของ DELTA ปลุกให้หุ้นในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์คึกคักขึ้นตาม ไม่ว่าจะเป็นหุ้นบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA และหุ้น บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ซึ่งหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวขึ้นมาเนื่องจากคาดหมายผลประกอบการไตรมาส 2 จะออกมาดี นักลงทุนจึงทยอยเข้าเก็บเพื่อดักเก็งกำไร นักลงทุนจึงไล่ DELTA โดยไม่ต่อรองราคา และยังเลยเถิดไปไล่เก็บ HANA และ KCE อีกด้วย และผลประกอบการที่ออกมาก็ไม่ทำให้ทำให้นักลงทุนผิดหวัง

ปัจจุบันค่าพี/อี เรโช DELTA อยู่ที่ 41 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทนประมาณ 2% ขณะที่ KCE มีค่าพี/อี เรโช 27 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทน 3.17% และ HANA มีค่าพี/อี เรโช 15 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทน 4% นั่นคือ เทียบปัจจัยพื้นฐานแล้วราคาหุ้น DELTA แพงกว่าหุ้นตัวอื่นในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพียงแต่ความคาดหมายแนวโน้มการเติบโต ทำให้นักลงทุนกล้าสู้ราคา และอาจถูกบรรยากาศเก็งกำไรชักนำให้ตามแห่เข้าไปลุยซื้อขาย

สถานการณ์การลงทุนในช่วงที่ตลาดขาดปัจจัยชี้นำ ทำให้นักลงทุนหันมาเลือกเล่นหุ้นรายกลุ่มและรายตัว โดยเมื่อมีการจุดพลุไล่ราคาหุ้นกลุ่มไหนหรือบริษัทใด นักลงทุนจะตามแห่เข้าไปเก็งกำไร ซึ่งก่อนหน้าได้เข้าเล่นหุ้นกลุ่มถุงมือยางอยู่พักหนึ่ง และเริ่มจะย้ายมาหุ้นกลุ่มส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

บล.ทรีนีตี้ ระบุในบทวิเคราะห์ฯ ว่า กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มีความน่าสนใจว่าการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐที่ล่าสุดลงไปทำจุดต่ำสุดใหม่ของรอบนั้น กลับไม่ได้ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น แถมในทางกลับกัน กลับปรับตัวอ่อนค่ามากที่สุดในเอเชีย โดยปัจจัยดังกล่าวเป็น Sentiment เชิงบวกต่อหุ้นในกลุ่มส่งออก ซึ่งหากจะต้องเลือกกลุ่มส่งออกสำหรับการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี มองไปยังกลุ่มที่น่าจะมีผลประกอบการครึ่งปีหลังแข็งแกร่งกว่าครึ่งปีแรกอย่างกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากได้ประโยชน์จากภาคการผลิตทั่วโลกที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ 

สำหรับ Top pick ในเชิงกลยุทธ์ยังคงมองไปยังตัว บมจ.เคซีอี อิเลคโทรนิคส์ (KCE) เห็นการปรับประมาณการปี 2564 ขึ้นราว 18% และได้เพิ่มหุ้น บมจ.ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส (HANA) เข้ามาเป็น Top pick อีก 1 ตัว เนื่องจากเป็นตัวที่เห็นโมเมนตัมเชิงบวกของการปรับประมาณการขึ้นด้วยเช่นกัน ส่วนหุ้น บมจ.เดต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA ท็อปฟอร์มช่วงวิกฤตโควิด-19 แถมดันกำไรขั้นต้นบวกแรง เลยทำให้ราคาเป้าหมายของหลายโบรกฯ ต้องปรับกันใหม่

 DELTA เด่นสุดของกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กฯ

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจภาคการผลิต ISM Manufacturing PMI เดือน ส.ค. ของสหรัฐฯ ขยายตัวสู่ระดับ 56 เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 54.5 ส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวอย่างโดดเด่นทั่วโลก เป็นบวกต่อบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ไทย ที่อยู่ใน Supply Chain นอกเหนือจากกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ และกลุ่มขนส่ง

โดยแนะนำหุ้น บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) เพราะมองว่าแนวโน้มกำไรครึ่งปีหลังยังโดดเด่น ตลาดรถยนต์ต่างประเทศฟื้นตัว หนุนธุรกิจ Fan และตัวจ่ายพลังงานของรถยนต์ EV ฟื้น ช่วยชดเชยรายได้จากธุรกิจผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูล Cloud storage และ Data Center ที่เริ่มทรงตัวหลังยอดสั่งซื้อสูงในครึ่งปีแรก 

น.ส.กุลวดี กวยาวงศ์ นักลงทุนสัมพันธ์ DELTA เปิดเผยว่า บริษัทฯ ประเมินว่าผลประกอบการครึ่งปีหลังของปี 2563 จะเริ่มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากความต้องการในผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูล (cloudstorage) และศูนย์ข้อมูล (data center) เช่น ผลิตภัณฑ์โซลูชันสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน (CIS) และเพาเวอร์ซัปพลายสำหรับคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่าย ที่มียอดขายที่ดีอย่างต่อเนื่อง ตามการปรับตัวของผู้บริโภคในยุค New normal หลังจากเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยสินค้าจากทั้ง 2 ธุรกิจมีมาร์จิ้นที่ค่อนข้างสูง โดยปีนี้คาดว่าจะมีสัดส่วนรายจาก Data Cente rและ cloud computing มากกว่า 300 ล้านบาท

อีกทั้งจะจำหน่ายพัดลมไฟฟ้ามากขึ้น หลังครึ่งปีแรกสินค้าดังกล่าวจำหน่ายได้ไม่ดีมากนัก ซึ่งมองว่าจะช่วยพยุงภาพรวมผลประกอบการในครึ่งปีหลังได้ ส่วนธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าปัจจุบันบริษัทฯ ได้วางโมเดลรูปแบบรถยนต์ออกมาแล้ว ทั้งนี้ อยู่ระหว่างรอนโยบายสนับสนุนจากรัฐบาล รวมถึงสถานการณ์ในปัจจุบันว่ามีความเหมาะสมในการผลิตสินค้าหรือไม่ และยังคงเป้าหมายรายได้จากสกุลเงินดอลลาร์ปี 2563 เติบโต 5-10% จากปีก่อน ซึ่ง DELTA ยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์ความไม่แน่นอนของปัจจัยหลายอย่างทั้งโควิด-19 และสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอย่างใกล้ชิด

"ไตรมาส 1/2563 เราได้รับผลกระทบเพราะว่าไม่สามารถรับวัตถุดิบได้ แต่ไตรมาส 2/2563 แม้ว่าบริษัทคู่ค้าของเราจะได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ แต่เขาก็ปรับตัวด้วยการพยายามรับสินค้าไปให้มากที่สุด รวมถึงแต่ละประเทศก็พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของตัวเองด้วย และสิ่งที่พอจะช่วยได้คือ ไอที และการเติบโตของผลงานปี 2563 นี้ หลักๆ ยังคงเป็นผลมาจากการเติบโตของฐานธุรกิจเดิมที่มีอยู่ยังไม่รวมรายได้จากบริษัทที่เพิ่งซื้อมาใหม่" น.ส.กุลวดี กล่าว

 KCE คำสั่งซื้อฟื้น ครึ่งปีหลังโตทะลุ 15% 

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯ แนะ "เก็งกำไร" หุ้น บมจ.เคซีอี อิเลคโทรนิคส์ (KCE) ราคาเหมาะสม 30.00 บาท ได้ประโยชน์จากเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า และการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์หลังผ่านพ้นช่วง Lockdown ดังนั้น คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวเมื่อเทียบต่อไตรมาสของผลประกอบการไตรมาส 3/63 เป็นต้นไป พร้อมคาดกำไรปี 2564 เติบโต 47.8% จากปีก่อน เป็น 1.7 พันล้านบาท และมี Order จากธุรกิจใหม่ที่ยังไม่รวมไว้ในประมาณการกำไร คือ ลูกค้า Military ของสหรัฐฯ (บริษัทเอกชน) ที่ผลิต Radar ในเครื่องบินซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่าง Qualify จากลูกค้า

บล.ดีบีเอสฯ แนะนำ "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 34.75 บาทต่อหุ้น หลังจากพบปะผู้บริหารของ KCE และเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนในไตรมาส 3 โดยคาดว่าจะเห็นการเติบโตของยอดขาย 15-20% เทียบปีไตรมาสก่อน และขยายตัวต่อในไตรมาส 4 โดยรวมผู้บริหารคาดว่ายอดขายรูปดอลลาร์ปีนี้จะลดลง 10% เทียบปีก่อน ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นไตรมาส 3 คาดว่าจะดีขึ้นเทียบไตรมาสก่อนเป็น 20-24% เพราะมีประสิทธิภาพในการผลิตมากขึ้น ส่วนไตรมาส 4 คาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ในระดับ 24% ได้ จากราคาทองแดงที่ปรับขึ้นจึงยังสามารถบริหารจัดการได้ ผลจากราคาวัตถุดิบประเภทอื่นลดลง ขณะการลดพนักงานยังคงดำเนินต่อไปเพื่อใช้เครื่องจักรแทนพนักงานทำให้ประสิทธิภาพของโรงงานสูงขึ้นในระยะยาว และบริษัทได้คำสั่งซื้อจากลูกค้าอินเดีย เป็น 4-layer PCB คาดว่าจะเริ่มเห็นยอดขายในไตรมาส 4 และต่อไปบริษัทประเมินว่ารายได้จากลูกค้านี้จะคิดเป็น 3-4% ของรายได้รวมทั้งปี นอกจากนั้น ยังกำลังพยายามหาลูกค้าในสหรัฐฯ ที่ต้องการกระจายความเสี่ยงออกจากตลาดจีนด้วย

บล.ฟินันเซีย ไซรัส แนะนำ "ซื้อ" หุ้น KCE ราคาเป้าหมาย 34 บาทต่อหุ้น เพราะผู้บริหารเริ่มเห็นการฟื้นตัวของคำสั่งซื้ออีกครั้ง ภายหลังลูกค้าทยอยกลับมา Reopen คาดรายได้ไตรมาส 3 จะกลับมาโต 15%-20% จากไตรมาสก่อนและต่อเนื่องในไตรมาส 4 คาดโตอีก 15-20% เทียบไตรมาสก่อน สู่ระดับใกล้เคียงปกติ ถือว่าฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาดไว้ มองว่าเพราะบริษัทเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนต้นน้ำ จึงได้เห็นการฟื้นตัวเป็นลำดับแรก กอปรกับลูกค้าเริ่มทยอยใช้สต๊อกเก่าหมดไป นอกจากจะช่วยให้อัตราการใช้กำลังการผลิตกลับมาเหนือระดับคุ้มทุนได้อีกครั้ง รวมถึงบริษัทได้เริ่มแผนลดต้นทุนอย่างเข้มข้น ซึ่งน่าจะส่งผลบวกต่อเนื่องไปในครึ่งหลังปี 2563 ทั้งการทำ Cost Saving ปิดโรงงานบางปู และลดพนักงานลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีการทยอยปรับใช้เครื่องจักรแทนมาตั้งแต่ปีก่อน จึงคาดเห็นการฟื้นตัวของกำไรตั้งแต่ไตรมาส 3 และคาดจะกลับสู่ระดับปกติในปี 2564 ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาลูกค้าใหม่ในอินเดีย และสหรัฐฯ  คาดจะเริ่มรับรู้รายได้ในปีหน้าเป็นต้นไป

ดังนั้น จึงปรับเพิ่มกำไรปกติปี 2563-2564 ขึ้น 12-30% เป็นการเติบโต 17.9% เทียบปีก่อนและ 92.4% ตามลำดับ และปรับใช้ราคาเป้าหมายปี 2564 ที่ 34 บาท (Re-rate PE เป็น 20 เท่า จากเดิม 18 เท่า เท่ากับค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง) ยังมี Upside 13.3% และประกาศจ่ายปันผลงวด 1H20 หุ้นละ 0.4 บาท Yield 1.3% กำหนดขึ้น XD 24 ส.ค. และจ่ายเงิน 9 ก.ย. แนะนำ “ซื้อ”

HANA ออเดอร์ฟื้น อานิสงส์สมาร์ทโฟนคึก

บล.ฟินันเซีย ไซรัส ให้ความเห็นว่า บมจ.ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส หรือ HANA เป็นหนึ่งในผู้ได้ประโยชน์จากการอยู่ใน Supply Chain ของการผลิต Smart Phone และ Consumer Product ต่างๆ ล่าสุด Apple วางแผนผลิต iPhone 5G อย่างน้อย 75 ล้านเครื่อง รวมถึงอุปกรณ์เกี่ยวเนื่อง โดยเร่งให้ Supplier ผลิตเพื่อให้ทันจำหน่ายเดือน ต.ค.นี้ ทำให้แนวโน้มกำไรยังแข็งแกร่ง คาดกำไรปี 2563-2564 เติบโต 29% และ 17% เมื่อเทียบปีก่อน ตามลำดับ คงราคาเป้าหมายที่ 48 บาท และคำแนะนำ “ซื้อ”

เพราะการฟื้นตัวในครึ่งปีหลังปี 2563 จากทั้งการฟื้นตัวของโรงงานจีนที่เร็วกว่าคาด และผลงานจากไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 3 จะทรงตัวต่อเนื่อง จากคำสั่งซื้อของลูกค้าในเยอรมนีฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรป ทำให้ภาพรวมคำสั่งซื้อจะฟื้นตัวชัดเจนช่วงปลายปี และเป็นการฟื้นทั้งสินค้ากลุ่ม Smartphone, Consumer Electronics และ Automotive แม้ผู้บริหารยังกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายจนกว่าจะมีวัคซีน และปัญหา Trade Deal ระหว่างสหรัฐฯ และจีน แต่ บล.ฟินันเซียฯ มองบวกต่อความ Conservative ของผู้บริหารทำให้บริษัทวางแผนกลยุทธ์อย่างรัดกุม ไม่ประมาท ทั้งการเน้นควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแผนการลงทุนที่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยมีแผนใช้เงินลงทุนปีนี้ต่ำกว่าในอดีตอยู่มาก เพื่อเป็นการรักษาสภาพคล่อง ทั้งนี้ ด้วยการฟื้นตัวของโรงงานจีนที่เร็วกว่าคาด จึงปรับเพิ่มกำไรปกติปีนี้ขึ้น 40% เป็นการเติบโต 28.5% เทียบปีก่อน และปรับเพิ่มกำไรปีถัดไป 9% เป็นการโตต่อเนื่อง ปรับใช้ราคาเป้าหมายสิ้นปี 2564 ที่ 48 บาท

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส แนะนำ "ซื้อ" หุ้น HANA ตามราคาพื้นฐาน 44.75 บาท เชื่อว่าธุรกิจได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในไตรมาส 2 และยอดขายครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวดีขึ้น (แต่น่าจะยังหดตัวเทียบปีก่อน) ส่วนที่อาจจะดีกว่าที่คาดในครึ่งปีหลัง คือ อัตรากำไรขั้นต้น เพราะเงินบาทกลับไปอ่อนค่าสำหรับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน มองว่าเป็นบวกกับบริษัทในระยะยาว ขณะที่คำสั่งซื้อฟื้นตัวต่อในครึ่งหลังปี 2563 ซึ่งในไตรมาส 2 บริษัทได้รับคำสั่งซื้อบางส่วนจากลูกค้าที่ย้ายมาจากประเทศอื่นชั่วคราว เช่น มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนในจีนเริ่มเห็นอุปสงค์จากผู้ประกอบการภายในประเทศดีขึ้น โดยความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเป็นปัจจัยกระตุ้นด้วย ซึ่งสอดคล้องกับแผนธุรกิจของโรงงาน HANA ในจีนที่หันไปเน้นลูกค้าในประเทศจีนนับตั้งแต่กลางปี 62 สำหรับคำสั่งซื้อในกัมพูชาคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 เพราะบริษัทเพิ่งได้ลูกค้าใหม่เข้ามา แต่ก็ยังไม่มากพอ ทำให้โรงงานที่กัมพูชาจะยังขาดทุนต่อ ขณะที่ลูกค้ากลุ่มสมาร์ทโฟนหนุนรายได้ไตรมาส 4 เพราะมีการเปิดตัวโมเดลสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ กันมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเลื่อนมาจากครึ่งปีแรก ซึ่งมีการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รุนแรง และมีการ Lockdown กัน ขณะที่ผู้บริหาร HANA มองว่าธุรกิจยังคงท้าทาย เพราะอัตราการว่างงานที่สูงอาจกระทบกำลังซื้อ ซึ่งขณะนี้อาจจะยังเห็นไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวเร็ว และจีนเป็นตลาดใหญ่สำหรับสินค้าปลายน้ำของบริษัท

SVI ขยายกำลังผลิตรับตลาดฟื้น 

บล.ทิสโก้ แนะนำ "ถือ" หุ้น SVI ให้ราคาเป้าหมาย 2.90 บาทต่อหุ้นอิง PER ที่ 15.8 เท่า โดยมีความเสี่ยงคือ ค่าเงินบาท และการดำเนินงานในต่างประเทศ เพราะผลกำไรที่ไตรมาส 2 อยู่ที่ 109 ล้านบาท ลดลง 28% จากปีก่อนและ 52% จากไตรมาสก่อน หากไม่รวมรายการพิเศษค่าเงิน 54 ล้านบาท กำไรปกติจะอยู่ที่ 162 ล้านบาท ดีกว่าคาด 211% จากรายได้ที่เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายลดลง ขณะรายได้อยู่ที่ 133 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3% และ 29% เทียบไตรมาสก่อนหรือ 4.17 พันล้านบาท จากธุรกิจสินค้าอุตสาหกรรม สื่อสาร และอื่นๆ ที่แข็งแกร่ง และผลประกอบการเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน จากโรงงานในไทยที่มีรายได้ 100 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 37% เทียบปีก่อน ขณะโรงงานใน EU คงที่ ส่วนอัตรากำไรขั้นต้น 8.2% ลดลงจากเดิมที่ 9% ในช่วงไตรมาสแรก เนื่องจากผลของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง และ SG&A ต่อยอดขายลดลงเป็น 3.7% จากเดิมที่ 4.4% เนื่องจากไม่มีรายการพิเศษ ซึ่งผลประกอบการครึ่งแรกปี 2563 คิดเป็น 60% จากประมาณการทั้งปี

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส หรือ DBS มอง SVI เพราะบริษัทให้เป้าหมายยอดขายปี 2563 ไว้ที่ 520-550 ล้านดอลลาร์ โดย 60 ล้านดอลลาร์เป็นคำสั่งซื้อที่เข้ามาเพียงครั้งเดียว ซึ่งเป็น Digital price tags (จากลูกค้าเดิม) โดยเริ่มรับรู้รายได้แล้วตั้งแต่ไตมาส 2 ปีนี้ และ SVI จะพยายามเพิ่มคำสั่งซื้อจากลูกค้าใหม่ในส่วนเคเบิลไฟเบอร์ออฟติก และระบบที่เกี่ยวกับ Digital currency ส่วนยอดขายไตรมาสนี้เติบโตแกร่งอยู่ที่ 133 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตรากำไรขั้นต้นอ่อนลงเป็น 8.2% เพราะเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่ก็ดีขึ้นจากไตรมาส 2 ปีก่อน

ส่งผลให้กำไรสุทธิงวดนี้ 162 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34%จากปีก่อน และ 143% จากไตรมาสก่อน ซึ่งทาง DBS คาดการณ์ว่ากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ปี 63F จะเติบโตก้าวกระโดด 107% จากปีก่อน เพราะได้อานิสงส์จากคำสั่งซื้อที่เข้ามาเพียงครั้งเดียว โดยให้ราคาพื้นฐาน 3.80 บาท อิงกับ P/E ปี 64F ที่ 16 เท่า (-1SD ของค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี) ในเชิงกลยุทธ์แนะนำซื้อ "ซื้อเก็งกำไร"

นายสมชาย สิริปัญญานนท์ รองประธานฝ่ายปฏิบัติการ SVI เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ขยายฐานกำลังการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรองรับเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มจะทยอยฟื้นตัว หลังจากการแพร่ระบาดโควิด-19 จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจของ SVI เดินหน้าลงทุนเชิงยุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากฐานการผลิตที่กระจายอยู่ในทวีปยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ลงทุนซื้อที่ดินและอาคารผลิต เนื้อที่รวม 7,300 ตารางเมตร ในออสเตรีย มูลค่า 205 ล้านบาท และจะใช้เงินลงทุนอีก 465 ล้านบาท เพื่อลงทุนขยายพื้นที่โรงงานที่ประเทศสโลวะเกียอีก 4,500 ตารางเมตร จากเดิมมีพื้นที่ 7,640 ตารางเมตร เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนในกระบวนการผลิตสูงอย่างชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่นำไปใช้ในอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในยานพาหนะ เป็นต้น เพราะตลาดยังเติบโตได้อีก คาดแล้วเสร็จกลางปี 2564

นอกจากนี้ ยังได้ลงทุนขยายพื้นที่ผลิตสินค้าอีก 10,000 ตารางเมตร ในโรงงานประเทศกัมพูชา จากเดิมมีพื้นที่ 9,200 ตารางเมตร เพื่อผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมและระบบเครือข่ายไร้สายสำหรับการสื่อสาร คาดแล้วเสร็จในไตรมาส 3 ปี 2564 ซึ่งจะช่วยให้บริษัทฯ ขยายฐานลูกค้าในประเทศจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ฐานการผลิตในกัมพูชายังได้สิทธิทางภาษีและการค้าจากสหรัฐอเมริกาที่ได้เปรียบ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค จึงเป็นฐานการผลิตที่สามารถดึงดูดลูกค้ารายใหญ่ได้เป็นอย่างดี

การลงทุนในครั้งนี้ได้ช่วยยกระดับคุณภาพและความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความซับซ้อนในกระบวนการผลิต ทำให้ SVI สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์และรองรับการรุกขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้ารายใหม่ๆ เพิ่มเติมในแต่ละภูมิภาค รวมถึงการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากที่ตั้งของฐานการผลิตได้อย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์ของลูกค้า

“ปัจจุบันเราใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยสูงถึง 80% จากกำลังการผลิตโดยรวมทั้งหมด จึงต้องวางแผนเตรียมความพร้อมด้านฐานการผลิตให้มีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต ตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายในหลายประเทศ ซึ่งจะสนับสนุนการเติบโตของ SVI ในระยะยาว” นายสมชาย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น